รายงาน: หายนะครั้งประวัติศาสตร์ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง?
ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาการเมืองอย่าง ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แทบจะไม่สามารถหาคำใดมาบรรยายถึงวิกฤตของแม่น้ำโขงเวลานี้
หลังจากได้เห็นภาพถ่ายของน้ำโขงที่แห้งจนเกือบถึงกลางแม่น้ำ รวมถึงสัตว์น้ำนานาชนิดที่นอนตายเกลื่อนท้องน้ำแห้งผากที่เขาส่งลูกศิษย์ออกไปตระเวนถ่ายช่วงพรมแดนไทย-ลาว ในจังหวัดเลยและหนองคายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
เขาเรียกมันว่า “หายนะครั้งประวัติศาสตร์ของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”
ภาพถ่ายจำนวนมากนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติของแม่น้ำนานาชาติที่ทั้งประเทศไทย สปป.ลาว รวมไปถึงกัมพูชาและเวียดนามได้พึ่งพาอาศัยร่วมกันมาช้านาน หากแต่ยังก่อความกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอนาคตที่อาจไม่หวนคืนของแม่น้ำโขง อันเนื่องจากแรงขับดันทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ ดร.ไชยณรงค์รู้จักดีและพยายามต่อสู้เรียกร้องให้ผู้คนเห็นถึงผลกระทบทางลบจากการพัฒนาที่เกิดจากแรงขับดันดังกล่าว
“จากสงครามกับคอมมิวนิสต์ จนถึงทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ แม่น้ำโขงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการพัฒนาไม่รู้จบสิ้นและกำลังมาถึงจุดวิกฤติจริงๆ ที่เรายังมองไม่เห็นทางว่าจะกำกับดูแลอย่างไรไม่ให้เกิดหายนะ
“มันมองไม่เห็นทางเลยนะ ในเมื่อแต่ละประเทศ แต่ละรัฐบาล ก็ยังอยากพัฒนา อยากสร้างเขื่อน เลยไม่อยากพูดอะไรมากใช่ไหม มันมีแผลกันทุกคนไง” ดร.ไชยณรงค์ ซึ่งผันตัวเองจากนักกิจกรรมเคลื่อนไหวติดตามการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงมานานกว่ายี่สิบปีกล่าว
การเมืองแม่น้ำโขง
การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะบนลำน้ำสายหลักที่ไหลยาวราวห้าพันกิโลเมตร จากภูเขาหิมะในเทือกเขาหิมาลัยจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ผ่านถึง 6 ประเทศรวมทั้งจีนและพม่าทางตอนบน อาจไม่เป็นที่เข้าใจกว้างขวางมากนักหากไม่ได้รับการอธิบายผ่านกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง อันเป็นทฤษฎีว่าด้วยการมองผลกระทบทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมของสังคมผ่านกรอบการพัฒนาด้วยแรงผลักดันทางการเมืองและเศรษฐกิจชุดหนึ่งๆ จากการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องและงานวิจัยว่าด้วยนิเวศวิทยาการเมืองของเขื่อนขนาดใหญ่ของ ดร.ไชยณรงค์
ในงานวิจัยดังกล่าว พบว่า การพัฒนาลุ่มน้ำโขงอาจย้อนไปได้ถึงยุคหลังอาณานิคมที่มีสหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลแทนประเทศฝรั่งเศส และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในหลายประเทศในลุ่มน้ำนี้ จากความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองระหว่างลัทธิเสรีนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์
หลังสหรัฐเข้ามาในภูมิภาค เครื่องมือหนึ่งที่สหรัฐนำเข้ามาด้วยเพื่อใช้ต่อสู้ลัทธิคอมมิวนิสต์คือการพัฒนาแบบเสรีนิยม การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้รับการผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในงานพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทยและบนแม่น้ำโขง รวมทั้งเขื่อนผามองที่สหรัฐตั้งใจให้มีขนาดที่ใหญ่กว่าเขื่อนฮูเวอร์ หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคใหม่ของโลก ดร.ไชยณรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงได้ถูกระงับไปหลังจากที่สหรัฐแพ้สงคราม และการพัฒนาของภูมิภาคได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ที่ ดร.ไชยณรงค์เรียกว่า ยุคเสรีนิยมใหม่ พร้อมๆ กับการมาถึงของนโยบายเปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้าที่นำโดยประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2530
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ การทำให้ประเทศที่เคยรบกันเป็นอนุภูมิภาคเดียวกันและมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบใหม่ที่เรียกว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub-region (GMS) ที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ และจีนและพม่าเข้าร่วม และได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนใหญ่ของทวีปเอเชียคือ ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asia Development Bank (ADB)
พร้อมๆ กันนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ Mekong River Commission (MRC) ได้รับการก่อตั้งขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลง Mekong Agreement เพื่อแสวงหากระบวนทัศน์การพัฒนาการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนในปี พ.ศ. 2538
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ตอนบนของแม่น้ำโขงที่อยู่ในเขตประเทศจีนที่ถูกเรียกว่า ลานซาง (Lancang) ก็ได้รับการผลักดันให้มีการพัฒนาภายใต้กรอบเศรษฐกิจใหม่ของจีนสำหรับทางตอนใต้และตะวันตกที่เรียกว่า Lancang-Mekong Economic Belt ซึ่งส่งผลให้เกิดการวางแผนก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนนับสิบเขื่อน
ในระหว่างปี พ.ศ 2536-2537 ที่จีนได้สร้างเขื่อนแรกบนแม่น้ำโขงสำเร็จ ประชาชนลุ่มน้ำโขงทางตอนล่างแทบไม่มีใครรับทราบ จนกระทั่งเกือบสิบปีผ่านไปที่เริ่มรู้สึกได้ถึงผลกระทบในลำน้ำและเริ่มลงมือค้นหาสาเหตุ ดร.ไชยณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Southeast Asia Rivers Network (SEARIN) เพื่อติดตามตรวจสอบผลกระทบจากการพัฒนาทรัพยากรน้ำในภูมิภาค กล่าว
และนับตั้งแต่นั้นมา ภูมิภาคได้ถูกขับเคลื่อนเข้าสู่การพัฒนาที่มีการลงทุนข้ามพรมแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศไทย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขภายในประเทศที่มีการประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนอย่างหนัก จนทำให้ต้องหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ประเทศอย่างลาวเองก็ได้วางนโยบายเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเขื่อนเพื่อเป็น Battery of Asia
ทั้งสองปรากฏการณ์ได้สร้างแรงผลักและแรงดึงดูดให้เกิดทุนข้ามพรมแดนที่มีความซับซ้อนในการลงทุนของแหล่งทุนต่างๆ และสร้างความซับซ้อนให้กับปัญหาเดิมด้วยแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างอีกไม่ต่ำกว่าสิบเขื่อน รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรีในจังหวัดไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งนับเป็นเขื่อนแรกที่มีการก่อสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง
“เราด่าจีนอยู่พัก ก็เป็นสิบกว่าปีได้จนถึงวันนี้ แล้วก็มาช่วงสิบปีหลังนี้ที่เรามีชุดเขื่อนทางตอนล่างนี้อีก ซึ่งไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ถือว่าสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่างได้สำเร็จ
“หลังไซยะฯ ก็คงจะมีเขื่อนอื่นตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นปากแบง หลวงพระบาง ถามว่าแล้วจะกำกับดูแลกันยังไง มันไม่เห็นทางเลย” ดร.ไชยณรงค์กล่าว
ผลกระทบข้ามพรมแดน
จากการติดตามรวบรวมข้อมูลขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers (IR) จนถึงปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนไปแล้ว 11 เขื่อน โดยเขื่อนที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดคือเขื่อนเสี่ยวหวานและเขื่อนนั่วจาตู้ที่มีความสูงราว 250-300 เมตรหรือราวตึกร้อยชั้น และสามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ถึงเกือบ 40,000 ล้านลบ.ม
ในขณะเดียวกัน ทางตอนล่างของแม่น้ำโขง ได้มีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนจำนวน 11 เขื่อน โดยอย่างน้อย 3 เขื่อนอยู่ในขั้นตอนเตรียมหรือก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรีซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ เขื่อนดอนสะโฮงที่กำลังก่อสร้าง และเขื่อนปากแบงที่กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง
ในช่วงต้นเดือนกรกฏาคม ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ชาวบ้านริมแถบแม่น้ำโขงแทบไม่มีใครรู้เลยว่า เขื่อนจิ่งหงของจีนเหนือขึ้นไปจากอำเภอเชียงของราวสามร้อยกว่ากิโลเมตรกำลังลดการระบายน้ำเพื่อซ่อมแซมระบบ
ข้อเท็จจริงที่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางคือ ระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากและส่งผลกับการดำรงชีวิตในพื้นที่
ใต้ลงไปถึงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จุดพรมแดนไทย-ลาวที่แม่น้ำโขงวกกลับเข้ามาผ่านประเทศไทยอีกครั้ง ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่นั่นรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาตินี้เช่นกัน
ในวันที่ 3 ก.ค. ทาง MRC ได้ออกเอกสารข่าวถึงการลดการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงที่จะส่งผลให้เกิดการผันผวนของน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ทางการจีนได้แจ้งไว้ในช่วงระหว่างวันที่ 5-19 ก.ค. แต่ข่าวดังกล่าวไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะในวงกว้าง
ในวันที่ 18 ก.ค. ทาง MRC ได้ออกเอกสารข่าวอีกครั้งเพื่อแจ้งถึงผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อาจลดต่ำลงทางตอนล่าง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับค่าที่ต่ำที่สุดที่เคยมีการบันทึกมา โดย MRC ได้ระบุว่า “มีความเป็นไปได้” ที่จะมาจากการลดการระบายน้ำของเขื่อนทางตอนบน และฝนที่น้อยกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม MRC ไม่ได้มีการพูดถึงการทดลองระบบของเขื่อนไซยะบุรีที่คาบเกี่ยวกับระยะเวลาการระบายน้ำของเขื่อนจีนแต่อย่างใด ซึ่งทางการลาวได้มีการแจ้งเตือนก่อนหน้านั้นราว 2-3 วันให้ประชาชนลาวริมแม่น้ำโขงใต้เขื่อนไซยะบุรีระมัดระวังระดับน้ำที่อาจเปลี่ยนแปลงและอพยพข้าวของขึ้นที่สูง
ในวันเดียวกัน สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แจงการประสานงานกับทางการลาวผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ขอให้ชะลอการทดลองระบบของเขื่อนไซยะบุรีออกไป 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำจากเขื่อนจีนไหลลงมาในระดับปกติเพียงพอสำหรับการทดสอบ
จากการวิเคราะห์ของ สทนช. เป็นครั้งแรกที่สาธารณะได้รับทราบปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างผิดปกติและผันผวน โดย สทนช.ระบุว่า ปัจจัยแรกคือปริมาณฝนตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่ประเทศจีน ลาว และฝั่งไทย
ปัจจัยที่สองคือ เขื่อนจิ่งหงของจีนมีการปรับลดการระบายน้ำ ซึ่ง สทนช.กล่าวว่ากระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการลงวันที่ 3 ก.ค. แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงในช่วงวันที่ 9-18 ก.ค. เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ และ สทนช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดริมโขงล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.
ในวันที่ 18 ก.ค. ระดับน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิ่นหง ณ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ที่ 2.10 เมตร จากระดับน้ำก่อนจีนปรับลดการระบายที่ 2.69 เมตร หรือลดต่ำลงประมาณ 60 เซนติเมตร
ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ เขื่อนไซยะบุรี ซึ่ง สทนช.ระบุว่าได้มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ โดยมีกำหนดการทำการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค. ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำโขง “สูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว”
โดยระหว่างวันที่ 9-17 ก.ค. ทางเขื่อนได้ทำการ “กักเก็บน้ำบางส่วน” เพื่อดำเนินการทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. จึงจะทำการทดสอบเครื่องปั่นไฟ ซึ่งจะส่งให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา มีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม.
สทนช.ระบุว่า สถานการณ์ของระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา พบว่า สถานการณ์ทุกสถานี ระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและค่าต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน จ.เลย ณ วันที่ 18 ก.ค. อยู่ที่ 3.83 เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าระดับน้ำเฉลี่ย -5.28 เมตร และต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุด -1.43 เมตร
สำหรับผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่าขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ เพียรพร ดีเทศน์ เธอกล่าวว่า ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกำลังพูดต่อสาธารณะด้วยตัวของมันเอง และยากที่นักสร้างเขื่อนจะปฏิเสธว่าการสร้างเขื่อนไม่มีต้นทุนอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว
เพียรพรและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้รวบรวมประเด็นข้อกังวลของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงตอนล่างไว้ในรายงาน “สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขงสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง” ที่เผยแพร่ต้นเดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่าชาวบ้านมีความกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและการขึ้นลงของระดับน้ำ โดยเฉพาะจากเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ห่างจากอ.เชียงคาน เพียงราว 200 กิโลเมตร รวมทั้งผลกระทบในระยะยาวที่จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีการขึ้นลงและเปลี่ยนแปลงรายวัน ทั้งนี้ พวกเขารับรู้ถึงความผิดปกติเมื่อมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งถึง 1-3 เมตรมาแล้ว
การขึ้นลงของน้ำจากกรณีเขื่อนไซยะบุรี ทำให้พวกเขาเกรงว่าจะทำให้ระบบนิเวศท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อาทิเช่น แก่งหินอาจจะจมน้ำในช่วงแล้ง หาดทรายซึ่งสำคัญต่อการวางไข่ของนกอพยพและปลาบางชนิดอาจจะหายไปและส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวริมหาดทรายช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะในเขตจังหวัด เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และขณะนี้ เจ้าของโครงการและรัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางและนโยบายต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ พวกเขากล่าว
นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อการหาปลา ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค เนื่องจากปลาแม่น้ำโขงมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นปลาอพยพ ที่ว่ายขึ้นมายังแม่น้ำโขงตอนบนและลำน้ำสาขาเพื่อหากินและวางไข่
การสร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยเฉพาะที่เขื่อนดอนสะโฮงที่สร้างกั้นบริเวณร่องน้ำ “ฮูสะโฮง” จะคุกคามการอพยพของปลา แหล่งอาหาร และการแพร่พันธุ์ของปลาแม่น้ำโขงอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากฮูสะโฮงเป็นร่องน้ำใหญ่ที่สุดและมีการเข้าถึงมากสุดในบริเวณสี่พันดอนในบริเวณรอยต่อพรมแดนระหว่างลาวและกัมพูชา และเป็นพื้นที่แห่งเดียวซึ่งปลาอพยพว่ายผ่านตลอดทั้งปี
มีการศึกษาที่ระบุถึงการพบพันธุ์ปลามากกว่า 100 สายพันธุ์ที่อพยพผ่านร่องน้ำฮูสะโฮง ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการจำแนกว่าเป็นพันธุ์ปลาที่ “โดดเด่นด้านการอพยพ” โดยบางสายพันธุ์อพยพไปไกลจนถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม รายงานระบุ
ในความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งผลกระทบต่อการอพยพของปลา ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงตอนล่างคาดการณ์ว่า จะส่งผลร้ายแรงต่อความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค เพราะปลาแม่น้ำโขงแหล่งอาหารสำคัญและเป็นแหล่งรายได้ของชุมชน โดยประมาณ 40-70% ของโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในภูมิภาคมาจากการทำประมงน้ำจืด
พวกเขาอ้างอิงงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า บางชุมชนซึ่งตั้งอยู่ตอนบนและล่างของบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ต้องพึ่งพาแหล่งโปรตีนจากเนื้อปลาสูงถึง 80% อาทิเช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ซึ่งได้ระบุว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะแสวงหาแหล่งโปรตีนและพลังงานอื่นมาทดแทนปลาจากแม่น้ำโขง และจำเป็นต้องมีการเพิ่มทรัพยากรจากน้ำและที่ดินจำนวนมากโดยเฉพาะในกัมพูชา เพื่อผลิตอาหารทดแทนปลาน้ำโขงที่จะสูญเสียไป
“การลดลงของปลาที่จับได้ยังส่งผลให้ราคาปลาในท้องตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนที่ยากจนต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อการบริโภคปลา รวมถึงการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาบึก และโลมาหัวบาตร (โลมาอิรวดี) สัตว์ใกล้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง” งานศึกษาระบุ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลดลงของตะกอนแม่น้ำโขงที่ทางชาวบ้านกังวล ทั้งนี้ เนื่องจากการกักเก็บตะกอนไว้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน จะส่งผลกระทบต่อการสะสมของพื้นที่หาดทรายและการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ปากแม่น้ำโขงเวียดนาม
พวกเขากล่าวว่า เขื่อนยังจะเพิ่มความเสี่ยงให้พื้นที่ “อู่ข้าวอู่น้ำ”ของเวียดนามที่เลี้ยงคนทั้งประเทศและส่งออกไปทั่วโลกโดยลดความอุดมสมบูรณ์ลง ในขณะที่พื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการรุกล้ำของน้ำทะเลอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาด้านการเพาะปลูก รายได้ การขาดแคลนอาหาร และการเข้าถึงน้ำจืด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตพื้นฐาน
ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำโขงกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับลูกหลานแม่น้ำโขงก็คือ ผลกระทบเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงไม่มีมาตรการศึกษา ติดตาม และบรรเทาผลกระทบจากโครงการเขื่อนแต่อย่างใด
“ประเด็นก็คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเวลานี้เหมือนเป็นการผลักไปให้สาธารณะรับโดยที่คนสร้างเขื่อนก็ยังยืนยันว่าเขื่อนไม่มีต้นทุน จริงๆ ต้นทุนกำลังถูกจ่ายโดยสังคมอยู่ ผลกระทบทุกอย่างมันเป็นราคาที่ต้องจ่ายแฝง (hidden cost) ทั้งนั้น จะแก้ปัญหานี้ก็ควรต้องยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วมาคิดหาแนวทางศึกษาหาทางบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนกันเพราะมันมีอยู่จริง” เพียรพรกล่าว
นอกจากผลกระทบที่ชาวบ้านได้สัมผัสโดยตรงในช่วงระยะเวลาที่มีการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเป็นต้นมา รัฐบาลและองค์กรที่ทำงานให้กับรัฐอย่าง MRC เองก็รับรู้ถึงปัญหาผ่านงานศึกษาที่สำคัญอย่างน้อยสองครั้ง คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) ในช่วงปี พ.ศ. 2554 และการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง” (Council Study)
โดยการศึกษาของคณะมนตรีฯ เป็นความต่อเนื่องจากความเห็นชอบของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในปี 2554 ภายหลัง “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” ของโครงการเขื่อนไซยะบุรีตามกระบวนการของ MRC ซึ่งในครั้งนั้น
โดยอ้างอิงผลการศึกษา SEA เวียดนามได้เรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง 10 ปีเพื่อให้มีการศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจผลกระทบระดับลุ่มน้ำให้ดีขึ้น ซึ่งทางกัมพูชาก็สนับสนุนต่อข้อเสนอนี้
อย่างไรก็ตาม ประเทศลุ่มน้ำโขงไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีในระหว่างการปรึกษาหารือล่วงหน้า จึงได้มีการเสนอให้ทำการศึกษาของคณะมนตรีฯ เพื่ออุดช่องว่างด้านองค์ความรู้และทำความเข้าใจผลกระทบในภาพรวม ซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 7 ปีก่อนจะเป็นรายงานที่สมบูรณ์เผยแพร่ต่อสาธารณะในปีที่ผ่านมา
Council Study ได้ชี้ให้เห็นว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 “คุกคามอย่างรุนแรง” ต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งสองชิ้นเป็นเพียงข้อเสนอที่ไม่ได้มีการผูกมัดประเทศสมาชิกของ MRC ให้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด สะท้อนถึงจุดอ่อนขององค์กรและกลไกกำกับดูแลการพัฒนาบนแม่น้ำโขงที่หลายๆ ฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับปรุงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ทางออก
หลายเดือนหลังการเผยแพร่ผลการศึกษา Council Study ชิ้นนี้ IR ได้รายงานว่า สปป.ลาวได้แจ้งต่อ MRC ถึงความประสงค์ที่จะก่อสร้างเขื่อนปากลาย ซึ่งจะเป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 4 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเป็นการเริ่มต้น “กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” (PNPCA) ของโครงการเป็นระยะเวลา 6 เดือนตามข้อตกลงแม่น้ำโขง
การปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนปากลายที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วทั้งภูมิภาคต่างคว่ำบาตรกระบวนการครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขามองว่าขั้นตอนการปฏิบัติยังมีข้อบกพร่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ด้อยคุณภาพ
ในการกำกับดูแลแม่น้ำโขงในเวลานี้ MRC เป็นองค์กรระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่เชื่อมโยงประเทศสมาชิก 4 ประเทศแห่งลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกันคือ ประเทศไทย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา โดยที่จีนและพม่าวางตัวเป็นเพียง “ผู้สังเกตการณ์” ตั้งแต่ระยะแรกๆ จนมาถึงทุกวันนี้
กลไกที่กำกับดูแลการพัฒนาบนแม่น้ำโขงเพียงกลไกเดียวที่มีเวลานี้คือ “กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” (PNPCA) ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกที่จะพัฒนาโครงการบนแม่น้ำโขงต้องแจ้ง MRC เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ปรึกษาหารือล่วงหน้า” กับประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ MRC เองก็ยอมรับว่ากลไกดังกล่าวยังมีความคลุมเครือในการบังคับใช้ และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนากระบวนการ
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ก่อตั้ง Lao Dams Investment Monitor และนักวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้ติดตามประเด็นการลงทุนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำโขงมานานกว่ายี่สิบปีกล่าวถึงทางออกท่ามกลางวิกฤตินี้ว่า ที่ผ่านมา MRC ได้ทำงานด้านข้อมูลและสร้างชุดข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ เช่น การประเมินทางยุทธศาสตร์ในเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง (SEA) ซึ่งเป็นการทำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ของลุ่มน้ำที่ถือได้ว่ามีมากที่สุดในเวลานี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมไม่ได้คาดหวัง MRC ในการเป็นองค์กรกำกับดูแลบังคับใช้กฎระเบียบเหนือประเทศสมาชิกอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า MRC ไม่สามารถผลักดันให้ประเทศสมาชิกยอมรับการตัดสินใจใดๆได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางอำนาจหน้าที่
เปรมฤดีมองว่า การทำงานเรื่องแม่น้ำโขง จำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบการทำงานใหม่ๆ โดยเฉพาะการพูดคุยเจรจาต่อรองกัน ซึ่งเธอมองว่า ยังมีกลไกอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการนำการพูดคุยเจรจาต่อรองดังกล่าว อาทิ CLMVT หรือ ASEAN เองก็ตาม
เปรมฤดีกล่าวว่า การทำงานด้านข้อมูลเชิงประจักษ์ของ MRC จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่ดีในอนาคตได้ แต่ประเทศสมาชิกต้องสร้างความเป็นเอกภาพ และแสดงพลังทางการเมืองผ่านกลไกดังกล่าวเพื่อปกป้องประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการและกลุ่มทุน
เธอกล่าวว่า เวียดนาม ดูจะเป็นประเทศที่สามารถเป็นผู้นำในด้านนี้ได้ หลังจากลุกขึ้นมาประกาศว่าไม่ต้องการเขื่อนและขอระงับการก่อสร้างไป 10 ปี
ส่วน MRC ในช่วงเวลานี้ จำเป็นที่จะต้องทบทวนกรอบการทำงานของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเรียกร้องให้ MRC เองช่วยเจรจากับจีนโดยเจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนจีนเช่นกัน
เปรมฤดีกล่าวว่า ที่ผ่านมา MRC ซึ่งทำงานให้รัฐสมาชิกมี “ช่องว่าง” กับภาคประชาชนมากพออยู่แล้ว และไม่ควรเป็นกลไกการทำงานให้กับ “กลุ่มทุน” อีก
“สิ่งที่อันตรายคือการที่รัฐบาลไปเปิดประเทศให้ทุนเข้ามาลงทุน ถ้าจะมีกลไกรัฐระหว่างประเทศเข้ามาตรงนี้อีก ต้องไม่เข้ามาช่วยทุน แต่ต้องมาช่วยประชาชน” เปรมฤดีกล่าว
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของที่ก่อตั้งเพื่อติดตามการพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่และผลกระทบต่อภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า เขายังมีความเชื่อมั่นในพลังของภาคประชาชน เพราะที่ผ่านๆมา การดำเนินการของรัฐได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวแต่อย่างใด
“มันยังเป็นวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหา เพราะมันก็จะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้ละ” นิวัฒน์กล่าว
เขากล่าวว่า ประชาชนลุ่มน้ำโขงต้องรวมตัวกันและยกระดับด้านข้อมูลโดยร่วมมือกับภาควิชาการเพื่อสร้างพลังเจรจาต่อรองอีกทาง
การใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและปรับความเข้าใจให้ตรงกัน อาทิ การระบายน้ำของเขื่อนจีนที่ผิดฤดูกาลและวงจรธรรมชาติ ซึ่งควรปรับให้เข้ากับวงจรของธรรมชาติให้มากที่สุด นิวัฒน์เชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
“มันยากแล้วที่จะไปบอกว่าหยุดสร้างเขื่อน เราจะหาทางพูดคุยว่าจะทำยังไงที่จะอยู่ร่วมกันได้ จะทำยังไงให้มุมมองเชิงวิศวกรรมได้มองเห็นความเป็นมนุษย์มากขึ้น” นิวัฒน์กล่าวถึงความหวังของการอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงที่ดีที่สุดเวลานี้
ภาพ สัตว์น้ำนอนแห้งตายบนพื้นแม่นำ้โขงที่ลดระดับลง ถ่ายเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ระหว่างเขื่อนจีนและเขื่อนไซยะบุรีปรับปรุงและทดลองระบบ/ เครดิต: สุพัตรา อินทะมาตร