'ประยุทธ์' คุมทัพจัดโผทหาร-ตำรวจเอง เร่งปฏิรูปกองทัพ
นายกฯคุมทัพจัดโผทหาร-ตำรวจเอง พร้อมกำกับ "ดีเอสไอ" เดินหน้านโยบายเร่งด่วนปฏิรูปกองทัพ พร้อมดูความจำเป็นซื้อเรือดำน้ำประจำการทร.เพิ่ม เผยเหตุดึงงาน "ประวิตร" หวังช่วยแบ่งเบา หลังมีปัญหาสุขภาพ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ก.ค. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกภายหลังกลับมาที่กระทรวงกลาโหมว่า รู้สึกปกติ เพราะเข้ามาบ่อยอยู่แล้ว โดยเข้ามาตั้งแต่เป็นข้าราชการทหารก็มีความคุ้นเคย วันนี้ได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงกลาโหม โดยได้ขอบคุณทุกคนในการทำงานที่ผ่านมาโดยเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และขอให้ร่วมมือกันทำงานต่อไปภายใต้สายงานที่เรามีอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ ส่วนที่มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจรมว.กลาโหมนั้น เรื่องดังกล่าวมีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว ทั้งนี้ตนได้มอบนโยบายให้ทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจ และเสียสละ พร้อมทั้งทำหน้าที่ให้ทันต่อยุคสมัย เพราะทุกวันนี้มีเรื่องโซเชียล เทคโนโลยีและดิจิตอลที่เราต้องก้าวตามให้ทัน อย่างไรก็ตามในส่วนของนโยบายเร่งด่วนกระทรวงกลาโหมคือเรื่องการปฏิรูปกองทัพซึ่งเดิมก็มีอยู่แล้วแต่ต้องมาทบทวนว่าขณะนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งต้องมาดูให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
เมื่อถามถึง หลักการพิจารณาโผโยกย้ายประจำปี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ทางหน่วยทำขึ้นมา เพราะตนให้สิทธิ์ ทั้งทหารและตำรวจจะทำรายชื่อขึ้นมา ผู้นำหน่วยต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของตนก็จะเป็นผู้ตรวจทานความเหมาะสม และขีดความสามารถว่าได้หรือไม่ได้อย่างไร คิดว่าทุกคนมีความสามารถอย่างไร แต่จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร
“ผู้นำหน่วยที่รองลงไปต้องรับผิดชอบในเรื่องการแต่งตั้งทางตำรวจและทหาร แม่ทัพต้องรับผิดชอบเพราะดูกองทัพ สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทางผู้บัญชาการภาคก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบมาให้ผม เพราะผมจะดูแลความเหมาะสมให้ทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯมาดูเรื่องความมั่นคง เพราะจะควบรวมเรื่อวความมั่นคงทั้งหมด โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้ควบรวม แต่เป็นการมอบหมายหน้าที่ในระดับรัฐบาลว่าจะเข้าไปดูอะไรบ้าง เวลาเข้าไปดูแล้วก็ใช่ว่าจะไปทำอะไรได้ทั้งหมด เพราะเราต้องเข้าไปดูเรื่องการปฎิบัติงานเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น รวมถึงการดำเนินการในส่วนต่างๆที่ยังคั่งค้างอยู่ว่าจะทำอย่างไร เพราะประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งดีเอสไอควรทำหน้าที่เฉพาะ แต่มีหลายคนมองว่ามีตำรวจมากไปหรือไม่ ก็ต้องเข้าไปดูว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร
เมื่อถามย้ำว่านายกฯจะดึงดีเอสไอมาขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของการกำกับดูแลโดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีดูแลในส่วนงานต่างๆ และบางหน่วยงานนายกฯก็สามารถกำกับดูแลได้
เมื่อถามว่านายกฯจะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยตนเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่าตนสมควรที่จะดูหรือไม่ เมื่อถามต่อว่า การที่นายกฯไปดูสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองเพราะต้องการแบ่งเบาภาระของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ใช่เพื่อแบ่งเบาภาระของพล.อ.ประวิตร และเรื่องสุขภาพ เพิ่งการทำงานที่ผ่านมาพล.อ.ประวิตรก็มีความตั้งใจในการทำงานอย่างมาก และท่านยังคงทำหน้าที่ต่อไปในเรื่องของการดูแลความมั่นคง เช่นสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขก.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
เมื่อถามถึงงบประมาณกองทัพปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบประมาณมีของเขาอยู่แล้ว ซึ่งก็มีการแบ่งสัดส่วนในแต่ละปีอยู่แล้ว ทุกหน่วยงานเสนอมาเกินทั้งหมดแต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด เพราะงบประมาณมีจำกัด ซึ่งก็ต้องดูความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยงบประมาณที่ได้ก็จากครอบคลุมไปถึงการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์
เมื่อถามว่าอาจจะถูกจับตาเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องซื้อให้ถูกต้องเพราะมีกรรมการตรวจสอบการจัดซื้ออยู่แล้ว ต้องทำให้โปร่งใสไม่เช่นนั้นก็จะกล่าวอ้างกันไปมา และจะไม่เกิดความเชื่อมั่น เมื่อถามย้ำว่ารวมถึงนโยบายเรือดำน้ำด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ทำไมล่ะจะให้ซื้อลำเดียวแล้วพอหรืออย่างไร แล้วถ้าเกิดเสีย หรือมีการจอดพักเพื่อหมุนเวียนการทำงานแล้วจะทำอย่างไร เราต้องดูความเหมาะสมและความจำเป็น”
ด้านพล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นายกฯยังไม่ได้กำหนดว่าจะเข้ามาทำงานภายในกระทรวงกลาโหมวันไหน แต่หากมีแขกบ้านแขกเมืองมาทางนายกฯก็จะมาต้อนรับเองเป็นวาระไป แต่ขณะนี้ฝ่ายเสนาธิการของนายกก็ได้เข้ามาทำงานที่สำนักงานกันหมดแล้ว ขณะที่ในส่วนของโผทหารทางนายกฯให้ส่งรายชื่อตามช่วงเวลาปกติ