"เรืองไกร" หอบเอกสาร ร้องกกต. สอบคุณสมบัติส.ว. ปมเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เชื่อขั้นตอนไม่ถูกต้อง ลาออกก่อนได้รับแต่งตั้งแค่ 1-2 วัน
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) -30 ก.ค.62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของส.ว.และส.ว.อาจสิ้นสุดลงเนื่องจากขณะได้รับแต่งตั้งเป็นส.ว.ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 111(7) มาตรา 101(7) ประกอบมาตรา 184(1) และมาตรา 108 ข.( 2) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเว็บไซด์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าส.ว.ที่ได้รับการคัดเลือกจากคสช.ในจำนวน 194 คน ไม่พบว่ามีหนังสือหรือเอกสารลาออกจากการเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแห่งชาติ และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 111(7) ประกอบมาตรา 184(1) บัญญัติเป็นลักษณะต้องห้ามว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งก็เหมือนกับกรณีส.ส.ห้ามไปเป็นฝ่ายบริหารหรือช่วยงานฝ่ายบริหารที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดไว้และเป็นการยึดตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10 /2551 นอกจากนี้ยังพบว่า ส.ว.บางคนอาจขาดคุณสมบัติเนื่องจากขณะแสดงหนังสือยินยอมได้รับการสรรหาเป็นส.ว.ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีจึงเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข.(2) ประกอบมาตรา 184 (1) หรือไม่
“กรณีนี้การลาออกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจจะเลยขั้นตอนของการแสดงหนังสือยินยอม เช่นพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรมว.ยุติธรรม ลาออกในวันที่ 9 พ.ค. และได้รับแต่งตั้งเป็นส.ว. ลำดับที่ 98 ในวันที่ 11 พ.ค. หรือนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรขณะนั้น ลาออกวันที่ 10 พ.ค. และได้รับแต่งตั้งเป็นส.ว.ลำดับที่ 248 ในวันที่ 11 พ.ค. ระยะเวลาเพียง 1-2 วันการยื่นลาออกและการแสดงหนังสือยินยอมได้รับการสรรหาไม่น่าจะทำได้ทัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้สังคมตั้งคำถามกับนายวิษณุเครืองาม รองนายกฯ ถึงขั้นตอนระเบียบการสรรหาส.ว.ว่าอยู่ที่ไหน แต่เมื่อเรียงลำดับวันเวลาแล้วน่าจะมีปัญหาขาดคุณสมบัติ จึงต้องมายื่นให้กกต.ตรวจสอบและขอให้รีบดำเนินการ หวังว่าคงไม่ใช้เวลาเป็นปี เพราะเมื่อกระบวนการเข้าสู่อำนาจไม่ชอบก็ทำให้การบริหารราชแผ่นดินมีปัญหาไปด้วย”นายเรืองไกรกลาาง
สำหรับคำร้องของนายเรืองไกร ระบุถึงส.ว.ที่เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ประกอบด้วยรายชื่อ ส.ว.ที่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการปฎิรูประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา นายเสรี สุวรรณภานนท์ และพล.อ.ทวีป เนตรนิยม
ส.ว.ที่เคยเป็นคณะกรรมการปฎิรูประเทศด้านต่างๆ ประกอบด้วย พล.ต.ต.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย นายถวิล เปลี่ยนศรี นายคำนูณ สิทธิสมาน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายสมชาย หาญหิรัญ นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายพลเดช ปิ่นประทีป นายจิรชัย มูลทองโร่ย นายสมเดช นิลพันธุ์ นายอำพล จินดาวัฒนะ พล.อ.เลิศรัตน์รัตนวานิช นายปานเทพ กล้ารณรงค์ราญ นายกล้าณรงค์ จันทิก พล.ร.อ.พระจุณณ์ ตามประทีป ขณะที่บางคนได้เป็น ส.ส. คือ นายวิเชียร ชวลิต
ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต่อมาได้รับเลือกเป็น ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายพลเดช ปิ่นประทีป และบางคนเป็นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ แล้วได้เป็น ส.ว. ประกอบด้วย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร พล.อ.ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม นายสถิตลิ่มพงษ์พันธุ์ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ และนางวรารัตน์ อติแพทย์
คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. ประกอบด้วย นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายวิสุทธิ์ศรีสุพรรณ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ และนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ส่วน สนช.ที่เป็น ส.ว. ประกอบด้วย นายตวง อันทะไชย พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายมณเฑียร บุญตัน
ขณะเดียวกันยังพบ ส.ว.ที่มาจาก ข้าราชการการเมืองหรือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีหลายราย คือนางจินตนา ชัยยวรรณาการ พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร พล.อ.ประสาท สุขเกษตร พล.อ.สกล ชื่นตระกูล นายสมชาย ชาญณรงค์กุล มล.ปนัดดา ดิศกุล พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ พล.อ.อักษรา เกิดผล นายสมชาย เสียงหลาย พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ และนางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามี ส.ว.ที่มาจากอดีตรัฐมนตรี ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเพียง 1-2 วัน ก่อนได้รับการสรรหา ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัยสาริกัลป์ยะ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ นายลักษณ์ วจนานวัช นายสุธี มากบุญ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ นายอุดม คชินทร และนายสมชายหาญหิรัญ