'ผบ.ตร.' งัดมาตรการเร่งปราบเด็กแว้นสูญพันธุ์ภายใน 4-5 เดือน
“จักรทิพย์” ลั่นเด็กแว้นต้องสูญพันธุ์ งัดมาตรการเร่งปราบ จี้ต้องเห็นผลภายใน 4-5 เดือน นำร่องสถานศึกษาทำ “ทางม้าลาย” 3มิติ เริ่มโรงเรียนบดินทรเดชา 6 ส.ค.นี้
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. นางจันทนี อัครเมฆินทร์ ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 1 ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนางสาวกุลจิรา สาสุขวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผู้แทนกรุงเทพมหานคร แถลงผลการปฏิบัติงาน ป้องกันและปราบปรามการแข่งขันรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการแข่งรถในทาง การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น จึงได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทาง การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น หรือปัญหาเด็กแว้น และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางท้องถนนโดยเฉพาะต้องทำทางม้าลายทั่วประเทศให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาเด็กแว้นอย่างจริงจังและเข้มงวดมาโดยตลอด โดยมีพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.เป็นผู้ควบคุม กำกับ ดูแล พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง โดยมอบหมาย พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย
ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และดำเนินการเป็น 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการป้องกันเชิงรุกก่อนเกิดเหตุ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาข่าว เพื่อให้ทราบกลุ่มบุคคลผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง จากทุกเบาะแส เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้แข่งรถ กองเชียร์ ร้านดัดแปลงสภาพรถ และผู้สนับสนุนต่างๆ ออกกวดขันจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในความผิดที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงใช้มาตรการยึดรถต้องสงสัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกตรวจสอบร้านจำหน่ายอะไหล่ ร้านซ่อมรถ และร้านดัดแปลงสภาพรถ จัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฎิบัติหน้าที่ โดยวิทยากรผู้มีประสบการณ์
“ มาตรการปราบปรามขณะเกิดเหตุ กวดขันจับกุมบุคคลขณะมั่วสุม หรือรวมตัวกันแข่งรถในทาง โดยวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อสืบสวนติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง มาตรการสอบสวนขยายผล เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิด ต้องสอบสวนขยายผลให้ทราบถึงสมาชิกในกลุ่ม และร้านแต่งรถ รวมถึงดำเนินคดีกับแอดมินเพจ ที่เชิญชวน หรือนัดหมายให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแข่งรถในทาง กรณีผู้กระทำความผิดเป็นเด็ก หรือเยาวชน ให้ใช้มาตรการทางกฎหมายกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ที่เคยถูกจับกุมและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแข่งรถในทาง ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานีตำรวจด้วยระบบ Crimes จัดอบรมความประพฤติเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิด และกลุ่มเสี่ยง”ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า การดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่น ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในข้อหา แข่งรถในทาง ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จำนวน 464 ราย ดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนการแข่งรถในทางและขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จำนวน 163 ราย ตรวจค้นและประชาสัมพันธ์ ร้านขายอะไหล่หรือดัดแปลงสภาพรถ จำนวน 8,505 ร้าน และดำเนินคดี จำนวน 42 ราย ตรวจพบท่อไอเสียไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 4,539 ชิ้น ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ร.บ.รถยนต์ ในความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 75,315 รายดำเนินคดีกับ ผู้ดูแลเพจ ที่เชิญชวนหรือนัดหมายให้รวมกลุ่มเพื่อแข่งรถในทาง จำนวน 14 ราย ตรวจยึดรถยนต์ จำนวน 689 คัน รถจักรยานยนต์ จำนวน 24,751 คัน ดำเนินคดีกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก จำนวน 28 ราย ตักเตือน และทำทัณฑ์บน กับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง จำนวน 4,062 ราย จัดทำประวัติผู้กระทำความผิดและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะแข่งรถในทาง จำนวน 14,827 ราย
ผบ.ตร.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีสถิติการร้องเรียนเหตุแข่งรถในทางจากศูนย์วิทยุ 191 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ห้วงวันที่ 1-26 มิ.ย.ซึ่งเป็นห้วงก่อนดำเนินการ จำนวน 406 ราย เปรียบเทียบกับวันที่ 1-26 ก.ค.ซึ่งเป็นห้วงระหว่างดำเนินการ จำนวน 55 ราย คิดเป็นลดลงจากเดิมร้อยละ 86.46 คงเหลือร้อยละ 13.54
“จากนี้จะยังดำเนินการอย่างนี้ไปตลอด เพื่อให้การแข่งขันรถบนทางสาธารณะสูญพันธุ์ เชื่อว่าจะเห็นผลภายใน 4-5 เดือนจากนี้ ถ้าพบว่ายังมีการแข่งขันจักรยานยนตร์บนทางสาธารณะอีกก็จะขยายเวลาในการดำเนินการออกไป ยืนยันว่าจะไม่มีการดำเนินการแบบไฟไหม้ฟาง จะดำเนินการจนกว่าเรื่องนี้ไม่มีอีก แม้ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีงานหลายหน้า แต่ไม่ว่าเรื่องอะไรที่เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราจะทำให้ดีที่สุด ที่ผ่านมากรณีการแข่งขันรถค่อยๆหายไปเหลือเพียงถนนบางเส้นทางเท่านั้น สำหรับพื้นที่ที่ยังปล่อยปละละเลยยังให้มีการแข่งขันรถ ผมพูดคำไหนคำนั้นจะดำเนินการอย่างเฉียบขาด ผมไม่เห็นกลัวเลยผู้กำกับโรงพัก เพราะมันเป็นหน้าที่ของพวกท่าน ไม่เห็นจะยาก หากยังปล่อยปละละเลยจะเอาตัวผบก.มาด้วย” พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการความปลอดภัยทางท้องถนน โดยเฉพาะทางม้าลาย เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือแนวทางการดำเนินการร่วมกันและได้กำหนดเป็นมาตรการต่างๆ ดังนี้ การปรับปรุงทางม้าลายให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากผลการสำรวจทางม้าลายทั่วประเทศ มี จำนวน 7,997 จุด มีการประสานให้ซ่อมแซมทาสี จำนวน 1,219 จุด ดำเนินการสำรวจข้อมูลกล้องซีซีทีวี บริเวณทางม้าลาย มีจำนวน 8,697 ตัว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้งเพิ่มเติม จำนวน 1,028 ตัว ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อกระตุ้นปลูกจิตสำนึก ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน หรือคนเดินเท้าให้ปฏิบัติตามกฎจราจร แบบอย่างที่ดีของผู้เคารพกฎจราจร มีน้ำใจบนท้องถนน การจัดทำทางม้าลาย 3 มิติ นำร่องสถานศึกษาทุกจังหวัด โดยในกรุงเทพมหานคร จะเริ่มต้นที่โรงเรียนบดินทรเดชา โดยจะเริ่มดำเนินการ ในวันที่ 6 ส.ค.นี้
“กำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพิ่มมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเฉพาะทางม้าลายทั่วประเทศ โดยขับเคลื่อนการทำงานผ่านคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นประธาน ร่วมกับประชาชนจิตอาสาและอาสาสมัครจราจร อำนวยความสะดวกจราจรบริเวณทางม้าลาย เสนอให้มีการตัดคะแนนผู้ขับขี่ที่ไม่หยุดให้คนข้ามบนทางม้าลาย ออกแบบทางม้าลายที่เขียนข้อความเตือนคนข้ามถนนโดยให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ติดตามผลการปฏิบัติโดยจะมีการประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกต้นเดือน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยอย่างยั่งยืน สำหรับบุคคลขับรถจยย.ทางเท้า จะมีมาตรการเข้มข้นมากขึ้นในการจับกุมผู้กระทำความผิด” พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ระบุ