ตั้งคณะทำงาน 3ชุด ขับเคลื่อนนโยบาย อว.
"สุวิทย์" ตั้งทีมพิเศษ ขับเคลื่อนนโยบายอว. วางปลดล็อคเรื่องแรก ยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์การมีส่วนร่วมในผลงานวิจัย ระบุแนวคิดที่ล้าสมัย ไม่ส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัยทำงานร่วมกัน พร้อมจัดการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย ระบุ ได้ให้เวลาคณะทำงาน 3 เดือน
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.62 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยว่าได้ตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่งเป็นคณะทำงานพิเศษเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย รมว.อว. โดยมี นายพีระพงศ์ ทีฆสกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน และคณะทำงานประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัย ผู้แทนมหาวิทยาลัย และผู้บริหารกระทรวง อว. ซึ่งส่วนตัวให้ความสำคัญในเรื่องที่จะให้การอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกทั้ง
ขณะนี้ระบบอุดมศึกษามีปัญหาหลายเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้สามารถเป็นหัวจักรขับเคลื่อนประเทศได้จริง และได้ให้สัญญาไว้ว่าจะทำการปฏิรูปอุดมศึกษา ดังนั้น จึงได้ตั้งคณะทำงานพิเศษฯชุดนี้ขึ้น เพื่อดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ และตั้งคณะทำงานย่อย 3 ชุดคือ 1. คณะทำงานด้านตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้า มีนางศันสนีย์ ไชยโรจน์ เป็นประธาน ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นการด่วน โดยเฉพาะเรื่องของตำแหน่งวิชาการที่ปัจจุบันระเบียบการขอตำแหน่งยังไม่ตอบโจทย์และไม่ทันสมัย โดยจะศึกษาแนวทางการปรับระเบียบการขอตำแหน่งวิชาการให้ ทันสมัย ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ และเป็นสากล รวมถึงศึกษาความก้าวหน้าของนักวิจัยในสถาบันวิจัยเพื่อกระตุ้นให้อาจารย์และ นักวิจัยทำงานวิจัยร่วมกัน ทำงานกับภาคเอกชนและชุมชน ท้องถิ่นมากขึ้น โดยจะต้องลดขั้นตอนความยุ่งยากที่ไม่จำเป็นในการขอตำแหน่งวิชาการด้วย
ทั้งนี้ สิ่งแรกที่จะปลดล็อค เช่น การยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์การมีส่วนร่วมในผลงานวิจัยซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้า สมัย ไม่ส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัยทำงานร่วมกัน หรือการกำหนดว่าผลงานที่ทำมาก่อนได้ตำแหน่งหนึ่งจะเอามาขอตำแหน่งต่อ ๆ ไปไม่ได้ หรือที่บางท่านเรียกว่าผลงานมีระยะเวลาเน่าเสีย เป็นต้น โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก.พ.อ.ในเร็วๆนี้ และหลังจากนั้นคณะทำงานจะวางระบบการขอตำแหน่งวิชาการที่สอดคล้องกับนโยบาย โดยจะให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
ส่วนคณะทำงานที่ 2 นั้น เป็นคณะทำงานด้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.) มี นายสุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน เป็นประธาน มีหน้าที่ศึกษาแนวทางการปรับ มคอ.เน้นผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุดมศึกษา ของประเทศจริง ๆ การประกันคุณภาพหลักสูตรที่เป็นสากลและกระชับ ลดขั้นตอนความยุ่งยากหรือการกรอกข้อมูลที่ไม่จำเป็นอันเป็นภาระของอาจารย์ หรือผู้บริหารหลักสูตร ซึ่งเรื่องนี้ มอบหมายให้ นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัด อว.หาแนวทางปลดล็อค มคอ. เบื้องต้นปลัดฯ ได้เสนอแนวทางไว้หลายข้อ นอกจากนี้เรื่องการรับทราบหลักสูตรที่แต่เดิม สกอ. ใช้เวลานานในการรับทราบ ก็จะให้กระทรวงดูเฉพาะความครบถ้วนของหัวข้อต่าง ๆ ส่วนเนื้อหาก็เป็นความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วน โดยกำหนดให้ใช้เวลาที่กระทรวงฯไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะทำงานประสานกับ ปลัด อว.เพื่อให้ได้ระบบที่ดีและตอบโจทย์ การพัฒนาคุณภาพหลักสูตรและการเรียนการสอนจริง ๆ
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ได้ตั้งคณะทำงานด้านคุณภาพอุดมศึกษา มี นายรัฐชาติ มงคลนาวิน เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งระบบ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนวทางการแบ่งกลุ่มประเภทของสถาบันอุดมศึกษาตามจุดเน้น และความเข้มแข็งของแต่ละสถาบัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศตาม แนวทางที่แต่ละมหาวิทยาลัยถนัด ตลอดจนผลักดันมหาวิทยาลัยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก ในส่วนของเรื่องคุณภาพการปฏิบัติงานผมได้มอบหมายในนำระบบ OKR หรือ Objective and Key Results มาใช้ในการตั้งเป้าใหญ่ ๆ และเน้นที่ผลลัพธ์ที่สำคัญ ๆ ในระดับกระทรวงและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยนำไปใช้แทนการใช้ KPI เดิมที่เน้นการกำหนดตัวชี้วัดแบบ top-down โดยมี ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เป็นหลักในการดำเนินการเรื่องนี้
"เรื่องที่สำคัญเร่งด่วน คือเรื่องของธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเป็นอย่างมาก เช่น เรื่องของการเกาหลังกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยและฝ่ายบริหาร เรื่องนี้ผมได้รับได้มอบหมายให้ รศ.ดร.พีระพงศ์ เป็นประธานร่วมกับ ปลัด อว. ทำการศึกษาแนวทางที่จะทำให้ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยมีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปสู่ศตวรรษใหม่และตอบโจทย์ของประเทศตามที่รัฐบาลได้ตั้งความหวังไว้ต่อไป ผมได้ให้เวลาคณะทำงาน 3 เดือนและจะทำผลไปใช้ทันที” นายสุวิทย์ กล่าว