สั่งตั้งคกก.สอบด่วน รพ.กมลาไสยอื้อฉาว พบข้อมูลทุจริตเชิงระบบ
ผู้ตรวจฯสธ.เขต7 เผยตั้งคกก.สอบ "รพ.กมลาไสย" อื้อฉาวพบข้อมูลทุจริตเชิงระบบ คาดขบวนการใหญ่
กรณีชาวบ้าน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาขาดแคลนยาในโรงพยาบาลกมลาไสย ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยต้องยืมยากันกินนั้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะยารักษาโรคเรื้อรัง อย่างยาเบาหวาน ความดันที่ต้องกินทุกวัน ให้มีเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย โดยทางสำนักงานเขตสุขภาพที่ 7 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อ.กมลาไสย พูดคุยสอบถามรายละเอียด ข้อเท็จจริงประเด็นการขาดยาจนผู้ป่วยต้องยืมยากัน นอกจากนี้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกมลาไสยวางแผนการจ่ายยา ให้ครบตามจำนวนนั้น
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 7 กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ลงไปสอบข้อเท็จจริง ทั้งประเด็นที่คนไข้ออกมาถือป้ายไม่ได้รับยารักษาโรคตามที่ต้องการ โดยเฉพาะยารักษาโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวานและโรคความดันที่ไม่ได้รับครบถ้วย มีข้อเท็จจริงหรือไม่ อย่างไร เบื้องต้นจากข้อมูลของรักษาการโรงพยาบาลกมลาไสย ระบุว่า ผู้ป่วยได้รับทุกตัวยา เพียงแต่ไม่ได้รับในระยะยาวเนื่องจากยาบางชนิดมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา จึงทำให้แพทย์จ่ายยาในจำนวนที่จำกัด เนื่องจากการรักษาโรคต้องตรวจเป็นรายๆ
ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็น 2 ชุด คือ การตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในส่วนคนไข้ ประเด็นการขาดยา การยืมยา และคณะกรรมการส่วนการตรวจสอบการทุจริตการซื้อยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลกมลาไสย ซึ่งการสอบสวนเบื้องต้นอยู่ในระดับเขตในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ โดยจะให้บุคลากรในพื้นที่ร้อยแก่นสารสินธุ์ เข้าไปตรวจสอบ เช่น สาธารณสุขนิเทศ เภสัชกร นิติกร ต้องมีการสอบสวนลงลึกในเชิงระบบ เช่นการตรวจสอบภายในอายตนะสารที่เป็นบินการสั่งยาที่อายัดไว้ในส่วนนี้ จะต้องใช้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ส่วนหนึ่งจะตั้งส่วนกลางมาจากกระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากส่วนกลางมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่มีอำนาจเพื่อให้คณะกรรมการครบถ้วนได้ครอบคลุมครบถ้วนทุกประเด็น มาตรวจสอบ
“คณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตต้องตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข มาตรวจสอบ ข้อเท็จจริง หลังจากมีการร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร บัตรสนเทศ เมื่อตรวจสอบพบมีความผิดปกติเกิดขึ้นในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของโรงพยาบาลกมลาไสย ข้อมูลพบว่าต้องมีการตรวจสอบในระบบใหญ่ทั้งหมด เพราะการจัดซื้อจัดจ้างมีอยู่ทุกฝ่าย เช่น วัสดุสำนักงานวัสดุยาครุภัณฑ์ เป็นต้น คณะกรรมการระดับจังหวัดเข้าไปตรวจแล้วมีความผิดปกติในหลายระบบ บางส่วนเกินอำนาจที่จะตรวจสอบได้ จึงทำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจากกระทรวงเข้ามาช่วยดู ชี้ประเด็นว่ามีความผิดพลาดอย่างไร เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนที่จะส่งรายงานข้อมูลข้อเท็จจริง” นพ.อิทธิพลกล่าว