กบข.เซ็นเอ็มโอยู 32 สถาบันแบนหุ้นไร้ 'อีเอสจี'
กบข.เซ็นเอ็มโอยู 32 นักลงทุนสถาบันที่มีพอร์ตลงทุนกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ประกาศเจตนารมน์ไม่ลงทุนหุ้นที่ไม่มี "อีเอสจี"
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นประธานและสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (ESG Collaborative Engagement) ของนักลงทุนสถาบันในการลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) โดยระบุว่า การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนสถาบันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรต้องพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG เพื่อผลักดันให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment)
ด้านนายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า การลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จะช่วยสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่สม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงให้แก่สมาชิกในระยะยาว และก่อให้เกิดพัฒนาการที่ยั่งยืนของตลาดทุนอีกด้วย
"การรวมตัวในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ของกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนการลงทุนตามหลัก ESG" นายวิทัยกล่าว
โดย กบข.ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มผลักดันจนเกิดความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ ได้เล็งเห็นตรงกันกับนักลงทุนสถาบัน รวม 32 ราย ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท ทั้งจากสำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันชีวิต ในการประกาศเจตนารมณ์ร่วมลงนาม แนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) เพื่อยกระดับการลงทุนของประเทศไทยสู่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ (Responsible Investment) ตามมาตรฐานสากล
สำหรับความร่วมมือกันครั้งนี้ มีสาระสำคัญ คือ กรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเด็นที่ร้ายแรง หรือดำเนินงานขัดแย้งต่อหลักการ ESG และก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ร่วมกันลงนามฯ จะเข้าประสานงานกับบริษัท เพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน (Positive Engagement) ซึ่งท้ายที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาที่รุนแรงนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดกับผู้ถือหุ้นและสังคมในภาพรวม นักลงทุนแต่ละรายได้ตกลงร่วมกันที่จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหานั้นเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการ ESG ต่อไป
เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า การร่วมลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุน (Negative List Guideline) ของนักลงทุนสถาบันครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำด้าน ESG ที่ กบข.จะดำเนินการอีกหลายโครงการในอนาคต โดย กบข. เชื่อมั่นว่าการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment) จะช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่การลงทุนในประเทศ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน