แนะทิ้งเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วควรทิ้งให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย เผยโครงการยุติปัญหาวัณโรคและโรคเอดส์ มีเป้าหมายสำคัญคือกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี
วันนี้ (21 สิงหาคม 2562) นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพบเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วตกหล่นอยู่ที่พื้นในบ้านร้างในจังหวัดสมุทรปราการ นั้น กรมควบคุมโรค มอบหมายให้กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว เบื้องต้นได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแนวทางการจัดการอุปกรณ์ที่ใช้แล้วตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก และได้กวาดเก็บเข็มฉีดยาและอุปกรณ์ที่ใช้แล้วเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ได้กำชับกลุ่มเป้าหมายหลักให้ทิ้งอุปกรณ์ที่ใช้แล้วให้ถูกต้อง ถูกที่ถูกทาง เพื่อความปลอดภัย โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนในชุมชนด้วย
นายแพทย์ปรีชา กล่าวต่อไปว่า ชุดอุปกรณ์เข็มและกระบอกฉีดยาที่สะอาด อยู่ในมาตรการการลดอันตรายจากสารเสพติด เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันเพื่อยุติปัญหาเอดส์ ซึ่งเป็นโครงการยุติปัญหาวัณโรคและโรคเอดส์ ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนโลกเพื่อต่อสู้วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ ผ่านรัฐบาลไทย โดยมีมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นผู้รับทุนหลัก กลุ่มเป้าหมายหลักคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี และการใช้ยาเกินขนาด ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์เข็ม และกระบอกฉีดยา รวมถึงถุงยางอนามัยให้กับผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดที่ยังไม่สามารถเลิกใช้ยาได้ทันที ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานลดอันตรายจากสารเสพติด จากการใช้เข็มและอุปกรณ์ร่วมกัน เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบบี/ซี และโรคที่ติดต่อทางเลือด ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามมาตรการลดอันตรายจากสารเสพติด ที่ยังไม่สามารถเลิกใช้ยาได้ทันที เพื่อให้มีพฤติกรรมการป้องกันที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคประชาสังคม พยายามแก้ไขและจัดการปัญหาผู้เสพ ผู้ติด โดยคำนึงถึงความจริงที่ว่าการติดยาไม่สามารถเลิกได้ทันทีทันใด ภายในครั้งหรือสองครั้ง การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมาตรการลดอันตรายจากสารเสพติด จะสามารถลดอันตรายปัญหาด้านสุขภาพของตัวผู้ใช้ยาและบุคคลอื่นได้ด้วย ซึ่งการผลักดันให้ผู้ใช้ยากลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้นั้น ควรต้องมีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง อาศัยความร่วมมือ รวมถึงการสนับสนุนจากทุกคนในชุมชนและสังคมด้วย
สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด เมื่อปี 2557 พบว่า ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 20.5 ลดลงจากปี 2555 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อร้อยละ 25.2 การใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ล่าสุด ในปี 2553, 2555 และ 2557 คือร้อยละ 46, 49 และ 51 ตามลำดับ และการใช้เข็ม/กระบอกฉีดสะอาดล่าสุด ในปี 2553, 2555 และ 2557 คือร้อยละ 78, 80 และ 95 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422