สังคมสูงวัยฉุดธุรกรรมไร้เงินสด
ญี่ปุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าในการทำธุรกรรมไร้เงินสด แต่วันนี้กลับล้าหลังเมื่อเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกรายอื่นๆ เริ่มชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นทุกที ขณะที่คนสูงวัยญี่ปุ่นยังนิยมใช้เงินสด
ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า แม้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศเจ้านวัตกรรมแห่งอนาคต แต่การจับจ่ายซื้อของ 4 ใน 5 ครั้งยังชำระด้วยเงินสด เทียบกับเกาหลีใต้ธุรกรรมราว 90% กระทำผ่านดิจิทัล ขณะที่สวีเดนตั้งเป้าเป็นสังคมไร้เงินสดเร็วสุดในปี 2566
เมื่อพิจารณาสังคมญี่ปุ่น ประเทศนี้อาชญากรรมและการหลอกลวงต้มตุ๋นมีน้อยมาก จนเหมือนกับไม่มีเลย ประชาชนจึงสบายใจกับการพกเงินสด
ตัวอย่างเช่น ที่ร้านซ่อมจักรยานของคัตสุยูกิ ฮาเซกาวะติดตั้งเครื่องอ่านคิวอาร์โค้ดด้วยสมาร์ทโฟน ให้ลูกค้าชำระผ่านบริการเพย์เพย์ บริการร่วมระหว่างซอฟท์แบงก์กับยาฮู แต่ก็มีคนใช้บริการเพียงสัปดาห์ละ 2-3 คนเท่านั้น
“ในที่แบบนี้ทุกอย่างดำเนินไปช้ามาก เรามีคนแก่มากมายที่ชอบคุยไปด้วยจ่ายเงินไปด้วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ธุรกรรมที่รวดเร็วทันใจ” ฮาเซกาวะ เจ้าของร้านวัย 40 ปี เล่าพร้อมเสริมว่า ส่วนตัวเขาเองชอบเงินสดมากกว่าจ่ายผ่านเพย์เพย์ ที่ไม่ได้เห็นเงินตลอดเวลา
ยูกิ ฟุกุโมะโตะ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ เผยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่กลายเป็นสังคมสูงอายุมาก ประชากรกว่า 28% อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี จึงยากที่จะชักชวนให้ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีใหม่
“ความท้าทายจากนี้คือทำอย่างไรจะกระตุ้นให้คนเปลี่ยนแปลงนิสัย” นักวิเคราะห์กล่าว
นี่เป็นความท้าทายสำคัญในประเทศที่มีตู้เอทีเอ็มมากกว่า 2 แสนตู้ และร้านค้าเล็กๆ ส่วนใหญ่รับเฉพาะเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงจ่ายต้นทุนธุรกรรมสูง
ยิ่งมาเกิดเหตุ “เซเวนแอนด์ไอ โฮลดิงส์” ยักษ์ค้าปลีกถูกแฮ็กทันที หลังเปิดใช้ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด จนสุดท้ายต้องยกเลิกระบบนี้ไป ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่อยากสังฆกรรมกับการจ่ายเงินดิจิทัล
การใช้คิวอาร์โค้ดในญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ แต่มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 90 บริษัทเดนโซเวฟพัฒนาคิวอาร์โค้ดขึ้นมาเป็นครั้งแรก ส่วนโซนีก็พัฒนาชิพที่ใช้ในระบบขนส่งสาธารณะและชำระเงินมาตั้งแต่ทศวรรษ 2000
บัตรชำระค่ารถไฟในกรุงโตเกียวและเมืองอื่นๆ ก็สามารถใช้กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อได้ แต่การชำระค่าบริการด้วยเงินสดยังเป็นที่นิยมมากกว่าวิธีอื่น
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่า จะฉวยกระแสที่นักท่องเที่ยวไหลทะลักเข้ามาชมโตเกียวโอลิมปิกในปี 2563 เพิ่มจำนวนเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็น 40% ภายในปี 2568
ทั้งยังมีแผนใช้คะแนนสะสมสำหรับลูกค้าที่ชำระเงินผ่านดิจิทัล เป็นเครื่องมือลบเสียงครหาการขึ้นภาษีบริโภคจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ด้วย
บางทีรัฐบาลโตเกียวทำเช่นนี้เพราะต้องการลดต้นทุนการใช้เงินสดก็เป็นได้ บริษัทที่ปรึกษา “บอสตันคอนซัลติงกรุ๊ป”ประเมินว่า ต้นทุนในการบำรุงรักษาตู้เอทีเอ็มและดูแลการขนส่งเงินให้ปลอดภัย อยู่ที่ 2 ล้านล้านเยน
งานนี้ไม่ได้มีแต่รัฐบาลโตเกียวฝ่ายเดียวที่ทำงานหนัก บริษัททั้งหลายก็พยายามส่งเสริมสังคมไร้เงินสดอย่างสุดความสามารถ ก่อนหน้านี้ราคูเท็นประกาศใช้ระบบไร้เงินสด 100% ในสนามเบสบอลและฟุตบอลของตน
อากิโกะ ยามานากะ เจ้าของร้านอาหารสุดชิค “โคกุมะ” เผยว่า เริ่มให้ส่วนลด 10% กับผู้ชำระเงินค่าอาหารเย็นผ่านเพย์เพย์ โปรโมชั่นนี้ได้ผลดึงลูกค้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
เจ้าของร้านวัย 54 ปีเชื่อว่า ยิ่งมีโปรโมชั่นแบบนี้ก็ยิ่งมีคนเลิกใช้เงินสดกันมากขึ้น
สำหรับฮิโรชิ มิกิตานิ บอสใหญ่ราคูเท็น เชื่อว่า อนาคตเป็นสังคมไร้เงินสดแน่นอนแม้แต่ในญี่ปุ่นเขาเคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบล็อก ระบุ
“สักวันหนึ่งเร็วๆ นี้ เงินที่เรารู้จัก ทั้งธนบัตรและเหรียญที่เราพกพากันจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย เอาไว้เก็บสะสมเหมือนกับเก็บแผ่นเสียงไวนิล”
กระนั้นเขาก็ยอมรับว่า จะเกิดสังคมไร้เงินสดได้ก็ต้องปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะหลังเกิดเรื่องแฮกผ่านคิวอาร์โค้ด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สังคมไร้เงินสด 'ฉุด'จำนวนตู้เอทีเอ็ม'ติดลบ'ครั้งแรกรอบ35ปี
-'อุตตม' ลั่นเดินหน้าสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
-สังคมไร้เงินสด รู้แล้วต้องรีบปรับตัว