'นิด้าโพล' เผยผู้ประกอบ 68.86% หวังรบ.เร่งคลอดมาตรการกระตุ้นศก.
นิด้าโพล ร่วมกับ ส.อ.ท. สำรวจความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่ ด้านเศรษฐกิจในประเทศ ผู้ประกอบ 68.86% หวังรัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้น แก้ปัญหาปากท้อง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เรื่อง “ความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่” โดยสอบถามความคิดเห็นจากตัวแทนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 273 ราย เกี่ยวกับความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลใหม่ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 15 สิงหาคม 2562 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ตามภูมิภาค เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การส่งแฟกซ์ และการส่งแบบสอบถามทางออนไลน์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคาดหวังของภาคอุตสาหกรรมต่อรัฐบาลชุดใหม่ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
“ด้านเศรษฐกิจในประเทศ” พบว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.86 ระบุว่า เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 58.61 ระบุว่า แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เพิ่มรายได้ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 43.22 ระบุว่า สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ร้อยละ 42.12 ระบุว่า มีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือ SMEs ร้อยละ 33.70 ระบุว่า เร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ EEC ร้อยละ 27.11 ระบุว่า ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ร้อยละ 23.44 ระบุว่า เร่งรัดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และร้อยละ 1.83 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เพิ่มการจัดซื้อของภาครัฐในกุล่ม การผลิตภายในประเทศเนื่องจากมีผลต่อการจ้างงาน และการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ วางแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในระยะยาว ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSP) สามารถเป็นอุตสหกรรมหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศเหมือนกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม หรีอ Spa ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร
“ด้านการส่งออก” พบว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.45 ระบุว่า ขยายการส่งออกสู่กลุ่มตลาดใหม่ รักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดหลักและตลาดรอง รองลงมา ร้อยละ 44.32 ระบุว่า ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 37.36 ระบุว่า เจรจาลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) ร้อยละ 37.00 ระบุว่า ใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ร้อยละ 34.07 ระบุว่า มีมาตรการลดผลกระทบจากสงครามการค้า ร้อยละ 32.97 ระบุว่า เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้า และร้อยละ 11.72 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า มีกลยุทธ์ทางการค้าที่ชัดเจน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร
“ด้านอุตสาหกรรม” พบว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.07 ระบุว่า สร้างโอกาส สร้างตลาดให้กับสินค้าอุตสาหกรรมไทยมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รองลงมา ร้อยละ 47.62 ระบุว่า ยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล ร้อยละ 46.15 ระบุว่า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ร้อยละ 45.42 ระบุว่า มีมาตรการด้านการเงินเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ ร้อยละ 45.05 ระบุว่า เสริมสร้างขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ ร้อยละ 34.43 ระบุว่า ส่งเสริมจัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วย SMEs ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 28.57 ระบุว่า ส่งเสริมการค้าชายแดน ผ่านแดน ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และร้อยละ 1.10 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Logistics Hub อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานให้รองรับกับการยกระดับอุตสาหกรรม และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในเมืองรอง ระหว่างเมือง ระหว่างชุมชนกับแหล่งอุตสาหกรรม
“ด้านเกษตรกรรม” พบว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.97 ระบุว่า แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 52.75 ระบุว่า มีแหล่งหรือตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ร้อยละ 51.65 ระบุว่า ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ร้อยละ 39.56 ระบุว่า เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 38.10 ระบุว่า เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และร้อยละ 1.83 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เลิกการใช้ยาฆ่าแมลง และแก้ปัญหาเรื่องคนกลางที่มีอำนาจเหนือเกษตรกร ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่คาดหวังอะไร
“ด้านกฎหมาย” พบว่า ผู้ประกอบการมีความคาดหวังต่อรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.63 ระบุว่า ปรับปรุงกฎหมายให้มีความ ทันยุคทันสมัยเพื่ออำนวยสะดวกและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ (Regulatory Guillotine) รองลงมา ร้อยละ 63.37 ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 52.01 ระบุว่า มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง ร้อยละ 38.10 ระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายมากขึ้น และร้อยละ 1.10 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ลดกฎหมายที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น แก้ไขกฎหมายแรงงาน แรงงาน ต่างด้าวให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ของ SMEs และส่งเสริมการลงทุน BOI
สำหรับสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันมากที่สุด พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.65 ระบุว่า อยากให้รัฐบาลทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้นผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) รองลงมา ร้อยละ 50.18 ระบุว่า ปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 42.49 ระบุว่า ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมในภาคการเกษตร (Smart Agro) ร้อยละ 39.56 ระบุว่า สนับสนุนโครงการ Made In Thailand เป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 38.83 ระบุว่า ผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) ร้อยละ 33.33 ระบุว่า เร่งดำเนินการความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ส่งเสริมการตลาดยุคออนไลน์ และร้อยละ 7.69 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนการตลาด การส่งออก ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมด้านเงินทุนให้ธุรกิจ SMEs กระตุ้นธุรกิจยานยนต์และมีการดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศมากขึ้น การเจรจาติดต่อกับต่างประเทศ เร่งปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ลดอัตราภาษีเกี่ยวกับการส่งออก และสนับสนุนเกษตรอุตสาหกรรม
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมอยากเห็นประเทศไทยเป็นมากที่สุด พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.61 ระบุว่า ประเทศสงบสุขและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 57.51 ระบุว่า การศึกษาที่มีคุณภาพ ร้อยละ 56.41 ระบุว่า ประเทศที่ปราศจากการคอร์รัปชัน/เส้นสาย/ระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 46.89 ระบุว่า ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ร้อยละ 42.12 ระบุว่า ประเทศกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของอาเซียน ร้อยละ 39.56 ระบุว่า การบริการด้านสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน (ค่ารักษาพยาบาล การบริการด้านสาธารณสุข) และร้อยละ 35.90 ระบุว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 60.44 เป็นผู้ประกอบการจากภาคกลาง ร้อยละ 7.32 เป็นผู้ประกอบการจากภาคเหนือ ร้อยละ 10.99 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 12.09 เป็นผู้ประกอบการจากภาคตะวันออก และร้อยละ 9.16 เป็นผู้ประกอบการจากภาคใต้
ตัวอย่าง ร้อยละ 7.33 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ร้อยละ 23.44 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ร้อยละ 20.14 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล ร้อยละ 7.69 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 17.95 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา ร้อยละ 2.20 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน และร้อยละ 21.25 เป็นผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน
ตัวอย่าง ร้อยละ 33.70 เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก S (จำนวนแรงงาน น้อยกว่า 49 คน) ร้อยละ 33.33 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง M (จำนวนแรงงาน 50 – 199 คน) และร้อยละ 32.97 เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ L (จำนวนแรงงานมากกว่า 200 คน)