บทเรียนชีวิตมาเรียม 'ดร.สาธิต' วอนตลาดชายทะเล ลดละเลิกถุงพลาสติก-โฟม
"ดร.สาธิต" หนุนภาคประชาชน ตระหนักถึงมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี พร้อมชูเคมเปญ “No Foam No Plastic ชิมช็อปใช้ปิ่นโต #Saveมาเรียม”
วานนี้ (23 สิงหาคม 2562) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ติดตามการดำเนินงานและเยี่ยมเสริมพลังการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ถนนตีเหล็ก (ตลาดศาลเจ้า) จังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้สัมภาษณ์ว่า การพัฒนาอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย เน้นการพัฒนาระบบการดำเนินงานให้สามารถจัดการได้อย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืนในระดับพื้นที่ ซึ่งจะต้องได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่าย รวมถึงส่งเสริมมาตรการทางสังคมและสร้างกระแสสังคมให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเอง
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 12 จังหวัดได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่พัฒนาต้นแบบการจัดบริการอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร โดยเฉพาะที่ถนนตีเหล็ก (ตลาดศาลเจ้า) ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองสุราษฎร์ธานีและเป็นที่รู้จักแพร่หลายทาง Social เกิดจากความร่วมมือของชมรมผู้ประกอบการตลาดศาลเจ้าที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดร่วมกับเทศบาลนครสุราษฏร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฏร์ธานีและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการจำหน่ายอาหารหลากหลาย มาตรฐาน สด สะอาด อร่อย ถูกสุขลักษณะ ราคาเป็นธรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจของคนในชุมชน มีการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี โดยแผงลอยจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste” ผู้ประกอบการอาหารผ่านการอบรมตามหลักสูตรผู้สัมผัสอาหารและติดบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร มีการปกปิดอาหาร ปลอดภาชนะโฟม ลดการใช้ถุงพลาสติก ผ่านกิจกรรม “ถือกุบ หิ้วชั้น” ผู้ประกอบการอาหารมีจุดรับฝากขยะ 3 ภาษา เพิ่มพื้นที่จำหน่ายผักและผลไม้ปลอดภัย มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า OTOP ราคาสินค้าเป็นธรรม มีชมรม/สมาคม/การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ และมีการส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น อาหารพื้นบ้าน การแต่งกายประจำถิ่น และการแสดงทางวัฒนธรรม
จุดเด่นสำคัญของตลาดคือ พลังความตั้งใจในการพัฒนาตลาดตั้งแต่การรณรงค์ปลอดโฟม ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือจนประสบความสำเร็จ การเสริมสร้างความรู้ให้ประชาชน โดยการใช้ภาชนะทดแทนโฟม เช่นรณรงค์ใช้ปิ่นโต ทั้งนี้ หากเทศบาลฯ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยประเภทถุงพลาสติกได้จะสามารถลดปริมาณขยะได้ถึงวันละ 26 ตันต่อวัน เนื่องจากขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีเป็นประเภทถุงพลาสติกมากกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณขยะทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ระบบเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยเป็นอย่างมาก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังแสดงความห่วงใยปัญหาขยะล้นเมืองก่อให้เกิดวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยในปี 2561 มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวน 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 1.64 ซึ่งถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 34 กำจัดอย่างถูกต้องร้อยละ 39 และกำจัดไม่ถูกต้องร้อยละ 27 รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยตรงส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ข้อมูลกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ปี 2561 พบว่า มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากถึง 1 ล้านตันต่อปี จากการสำรวจพบขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) ถุงก๊อปแก๊ป กล่องอาหาร (โฟม) ห่อ/ถุงอาหาร ฝาจุกขวดพลาสติก บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ หลอดดูดน้ำพลาสติก พบปริมาณขยะใน 10 อันดับแรกมากถึง 45,931 ชิ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ถอดบทเรียน 'มาเรียม' ส่งต่อดูแล 'ยามีล'
-“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”
-ย้อนดูประวัติ 'มาเรียม' ผู้หญิงแห่งท้องทะเล ผู้มีความสง่างาม
-แพทย์สุดยื้อ 'ยามีล' ทำ CPR ช่วยไม่สำเร็จ