ปมภัยแล้ง-ลดพื้นที่ปลูก 'ข้าวเหนียว' ราคาพุ่งเท่าตัว
สถานการณ์ราคาข้าวเหนียวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายเดือนที่ผ่าน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเฉียด 100% เทียบกับปีที่ผ่านมา กำลังสร้างผลกระทบในวงกว้าง
แม้ข้าวเหนียวจะไม่ใช้สินค้าหลักของการค้าข้าว แต่ข้าวเหนียวคืออาหารหลักของคนไทยในหลายพื้นที่ สาเหตุแห่งปัญหาดังกล่าวมาจากปัจจัยใดบ้างจะได้ไล่เรียงมาให้ทราบกัน
ประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปริมาณข้าวเหนียวในตลาดมีน้อยมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคนั้นมีมาก เพราะภาวะราคาข้าวเหนียวตกต่ำช่วงก่อนหน้า เหลือราคาเฉลี่ยไม่ถึง 1 หมื่นบาท ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน จึงทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวทั้งนารอบที่ 1 (นาปี) และนารอบที่ 2 (นาปรัง) ที่ผ่านมามีปริมาณน้อยกว่าทุกปี
นอกจากนี้ราคาข้าวเหนียวยังปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล โดยข้าวเก่ามีปริมาณเหลือน้อย ส่วนข้าวใหม่ยังไม่ถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว อีกทั้งภาครัฐได้ระบายข้าวในสต็อกหมด ส่วนชาวนาในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเก็บที่เหลือไว้บริโภค ส่งผลราคาข้าวเหนียวในตลาดสูงขึ้น
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องราคาข้าวเหนียวแพงในขณะนี้ จะใช้ประกาศตามพ.ร.บ.การค้าข้าว ฉบับที่ 150 ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งอธิบดีกรมการค้าภายในจะดำเนินการออกหนังสือสั่งการให้ผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวทั้งหมด ทั้งโรงสี ผู้ค้าส่ง และผู้ส่งออก รายงานสต็อกข้าวเหนียวมาที่กรมการค้าภายใน ภายในวันที่ 27 ส.ค.2562 สิ้นสุดเวลา 16.30 น. โดยแจ้งได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และสามารถรายงานออนไลน์ได้ด้วย
วันที่ 28 ส.ค.2562 กรมฯ จะเชิญโรงสี ผู้ค้าข้าวถุง และห้างสรรพสินค้า มาหารือ เพื่อพิจารณาในเรื่องการจัดทำข้าวเหนียวบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูกกว่าตลาด ซึ่งเบื้องต้นมีเป้าหมายจะจัดทำขนาด 1 ,3 และ 5 กิโลกรัม (กก.) แต่ต้องพิจารณาก่อนว่าขนาดไหนต้นทุนการผลิตถูกสุด แล้วถึงจะผลิตออกมาจำหน่าย
โดยหากได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะใช้ข้าวจากที่ไหนมาผลิต ใครเป็นผู้บรรจุ และช่องทางการจำหน่ายทางไหนบ้าง เบื้องต้นจะวางจำหน่ายที่ร้านธงฟ้าพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และห้างค้าปลีก โดยเน้นช่วยผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คาดว่าภายในต้นเดือนก.ย.2562 ราคาน่าจะต่ำกว่ากก.ละ 50 บาท
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขอยืนยันเท่าที่ได้สอบถามสมาชิกโรงสีส่วนใหญ่ไม่ได้มีการกักตุน เพื่อหวังกำไรแน่นอน แต่ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปี ทำให้ปริมาณข้าวสารมีไม่มาก บางพื้นที่มีน้อยแต่บางพื้นที่ยังมีอยู่มากพอควร ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บข้าวสารเหนียวเพื่อหวังกำไรในช่วงเวลานี้
ทั้งนี้ การที่กระทรวงพาณิชย์จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสต็อกข้าวเหนียว โรงสีและผู้ค้าข้าวจะไม่เก็บสต็อกข้าวสารเหนียวเพื่อหวังกำไร เนื่องจากอีก 2 เดือนผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวทำให้ปริมาณและราคาจะกลับสู่ภาวะปกติ
ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้รับการติดต่อแล้วจากกรมการค้าภายใน เพื่อให้ผู้ผลิตข้าวถุงคิดคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้าวสารเหนียวบรรจุถุงเบื้องต้น
สมาชิกสมาคมพร้อมให้ความร่วมมือ โดยไม่คิดกำไรจากการดำเนินการ และสามารถผลิตบรรจุได้ทันทีภายใน 2-3 วันหลังจากได้รับถุงและข้าวเหนียว อย่างไรก็ตามคงจัดหาข้าวเหนียวได้ยาก เนื่องจากข้าวเหนียวขาดตลาด
เนื่องจากปริมาณข้าวน้อยแต่อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปใช้ข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น และร้านสะดวกซื้อก็เพิ่มเมนูข้าวเหนียวทำให้ช่องทางกระจายสินค้ามากขึ้น
"แม้ปริมาณในไทยอาจตึงตัวบ้างในระยะนี้ก็อยากให้รัฐควบคุมลักลอบนำเข้าเพราะคุณภาพข้าวเหนียวต่างชาติด้อยกว่าไทยมาก และหากปล่อยเข้ามาจะทำลายตลาดข้าวเหนียวไทย “
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'พาณิชย์' ชี้สาเหตุราคาข้าวเหนียวพุ่ง 98%
-พาณิชย์สั่งรายงานสต๊อกข้าวเหนียว ขีดเส้น 27 ส.ค.นี้
-นายกฯ ห่วงใยปัญหาราคาข้าวเหนียวแพง สั่ง 'พาณิชย์' เร่งแก้ไข
-จับรถบรรทุก 'ข้าวเหนียว' กัมพูชาเข้าไทยกว่า 30 ตัน