‘แกร็บ’ ทุ่ม500 ล.ดอลล์รุกเวียดนาม
เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วของเวียดนามและประชากรวัยหนุ่มสาวนิยมใช้มือถือ ทำให้เหมาะสมอย่างมากสำหรับบริการดิจิทัล
“แกร็บ” ยักษ์ใหญ่แอพพลิเคชั่นแชร์รถแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศทุ่ม 500 ล้านดอลลาร์ในตลาดเวียดนามภายใน 5 ปี นับเป็นการขยายธุรกิจครั้งล่าสุดของบริษัทในตลาดสำคัญของภูมิภาค
แกร็บ อิงค์ บริษัทเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ประกาศอย่างเป็นทางการวานนี้ (28 ส.ค.) ว่า บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มในเวียดนามอีก 500 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 5 ปี หลังจากลงทุนไปแล้ว 200 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดเวียดนามเมื่อปี 2557
นายรัสเซลล์ โคเฮน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระดับภูมิภาคของแกร็บ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นเป็นทวีคูณของบริษัทที่มีต่อตลาดเวียดนาม และว่า เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วของเวียดนามและประชากรวัยหนุ่มสาวนิยมใช้มือถือ ทำให้ประเทศนี้เหมาะสมอย่างมากสำหรับการปรับใช้บริการดิจิทัล
ปัจจุบัน เวียดนามซึ่งมีประชากร 100 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลงทุนเพิ่มในเวียดนามจะนำไปใช้กับบริการใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) และโลจิสติกส์ รวมถึงการขยายธุรกิจการขนส่ง การส่งอาหาร และการชำระเงิน
ข้อเสนอลงทุนดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของแบรนด์ระดับภูมิภาคชั้นนำที่หมายมั่นปั้นมือกับตลาดเวียดนาม และยังทำให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของแกร็บในการทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นการเติบโตธุรกิจ หลังระดมทุนได้หลายพันล้านดอลลาร์จากนักลงทุน
การประกาศตัวเลขการลงทุนของแกร็บมีขึ้นไม่กี่วันหลังนายหมิง หม่า ประธานบริษัทให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แกร็บจะลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ในธุรกิจเวียดนามที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ไม่ได้เจาะจงตัวเลข
เมื่อเดือนที่แล้ว แกร็บประกาศว่าจะลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียในช่วง 5 ปีข้างหน้า หวังแข่งขันกับยักษ์ใหญ่แชร์รถเจ้าถิ่นอย่าง “โกเจ็ก” โดยเงินทุนบางส่วนมาจากบริษัทซอฟท์แบงก์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่การลงทุนของญี่ปุ่น
ในปีที่แล้ว แกร็บซึ่งดำเนินธุรกิจใน 8 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ทั้งจากโตโยต้า ฮุนได ไมโครซอฟท์ และบริษัทอื่น ๆ
แกร็บและโกเจ็ก กำลังแข่งกันวิวัฒนาการตัวเองจากการเป็นผู้ดำเนินการแอพพลิเคชั่นแชร์รถ มาเป็นแหล่งบริการ “ครบวงจร”ที่มีทั้งบริการด้านการเงิน ธุรกิจส่งอาหาร และพัสดุ รวมถึงบริการใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา เช่นวีดิโอตามสั่ง ธุรกิจประกัน และธุรกิจจองโรงแรม