‘ขึ้นภาษีจีนรอบใหม่’ บีบญี่ปุ่นย้ายฐานสู่อาเซียน
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) และการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอื่น ๆ อาจสร้างต้นทุนให้กับบริษัทหลายสิบล้านดอลลาร์
ในขณะที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่กับสินค้าจีนเมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.ย.) ที่ผ่านมา บรรดาบริษัทญี่ปุ่นที่มีการผลิตในจีนต่างกำลังดิ้นรนหาทางเลือกใหม่เพื่อลดความเสียหายจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีนให้ได้มากที่สุด
การเก็บภาษีเพิ่มอีก 15% จากสินค้า 3,243 รายการ ซึ่งรวมถึงสินค้าผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น เสื้อผ้าและนาฬิกา กระตุ้นให้บริษัททั่วทุกอุตสาหกรรมต้องพิจารณาเรื่องการย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปรับขึ้นราคาเพื่อรับมือสถานการณ์นี้
บริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง ผู้ดำเนินการร้านเสื้อผ้า “ยูนิโคล่” ของญี่ปุ่น มีฐานการผลิตหลายแห่งในจีน และส่งออกสินค้าจากแดนมังกรไปยังร้านค้า 52 แห่งที่บริษัทดำเนินการอยู่ในสหรัฐ นับถึงสิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ตลาดอเมริกาเหนือทั้งหมดทำยอดขายได้ประมาณ 9 หมื่นล้านเยน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของยอดขายทั้งปีของยูนิโคล่นับถึงเดือน ส.ค. 2561
ก่อนหน้านี้ สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ของผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าบางส่วน เช่น เข็มขัดหนัง แต่ในรอบล่าสุดมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญอย่างเสื้อยืดและกางเกงด้วย
“ผู้บริหารในสหรัฐของเราเดินทางมาญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงระดับผลกระทบและวิธีการตอบสนองสถานการณ์นี้” ผู้บริหารฟาสต์ รีเทลลิ่งรายหนึ่งเผยกับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว
บริษัทดังกล่าวกำลังหาทางย้ายการผลิตบางส่วนไปประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนามและกัมพูชา แต่การย้ายฐานการผลิตนี้ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย
“เรายังคงพึ่งพาจีนในด้านวัตถุดิบ เราจึงต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในจัดหาวัตถุดิบและส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังตลาดสหรัฐ” แหล่งข่าวใกล้ชิดเผย
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจตกเป็นภาระของผู้บริโภค หากบริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่งไม่สามารถหาวิธีชดเชยต้นทุนส่วนนี้ได้
นอกจากนั้น เครื่องถ่ายเอกสารและพรินเตอร์ต่างอยู่ในรายชื่อสินค้าที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ฮิเดโอะ ทานิโมโตะ ประธานบริษัทเคียวเซร่า กล่าวเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่า บริษัทจะตอบสนองสถานการณ์นี้ด้วยการสลับการผลิตที่โรงงานในจีนกับโรงงานในเวียดนาม
ปัจจุบัน โรงงานของเคียวเซร่าในจีนผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐ ขณะที่โรงงานในเวียดนามผลิตสินค้าป้อนตลาดยุโรป โดยเคียวเซร่าตั้งเป้าสลับการผลิตภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2563
“เราคาดว่ารายได้ของเราจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด” ทานิโมโตะระบุ
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) และการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นอื่น ๆ อาจสร้างต้นทุนให้กับบริษัทหลายสิบล้านดอลลาร์
บรรดาผู้ผลิตนาฬิกาก็กำลังมองหาทางเลือกใหม่เช่นกัน “ไซโก้ โฮลดิ้งส์” กำลังพิจารณาย้ายการผลิตสินค้าบางส่วน ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาที่มีราคาไม่ถึง 500 ดอลลาร์ จากจีนกลับไปยังญี่ปุ่น ขณะที่ “ซิติเซ็น วอทช์” กำลังศึกษาแนวทางการย้ายฐานผลิตจากแดนมังกรไปประเทศไทย
นอกจากการปรับขึ้นภาษีที่มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ย. แล้ว รัฐบาลวอชิงตันยังมีแผนจะขึ้นภาษีกับสินค้าที่ผลิตในจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์เป็น 30% จาก 25% ในเดือน ต.ค. นี้ บริษัทคาไซ โคเกียว ซึ่งปัจจุบันส่งออกแม่พิมพ์ชิ้นส่วนประตูรถจากจีนไปโรงงานของตนในสหรัฐ คาดการณ์ว่า บริษัทจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายล้านดอลลาร์
“เรากำลังเตรียมส่งแม่พิมพ์ที่ผลิตในจีนไปยังญี่ปุ่นก่อน ซึ่งแม่พิมพ์เหล่านี้จะถูกนำไปแปรรูปก่อนส่งต่อไปตลาดสหรัฐ” คูนิยูกิ วาตานาเบะ ประธานบริษัทคาไซ โคเกียวเผย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-“สหรัฐ-จีน”เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้รอบใหม่
-ภาคธุรกิจสหรัฐเรียกร้อง“ทรัมป์”เลื่อนเก็บภาษีจีน
-“ทรัมป์”ยืนยันเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามแผน
-'ทรัมป์'เผยจำเป็นต้องสู้กับจีนแม้กระทบศก.สหรัฐ