เปิด 5 อันดับถนน 'รถติดที่สุด' ในกรุงเทพมหานคร
เปิด 10 เมืองที่มีการจราจรแออัดที่สุดในโลก 5 อันดับถนน "รถติดที่สุด" ในกรุงเทพมหานคร
รายงานดังกล่าวเป็นของ ทอม ทอม (TomTom) ผู้ให้บริการข้อมูลจราจร และแผนที่จากเนเธอร์แลนด์ พบว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาความแออัดบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กว่าร้อยละ 75 ของเมืองที่มีการสำรวจ อีกทั้งการจราจรหนาแน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดียก็ยังคงครองแชมป์รถติดที่สุดในโลก และทำให้ชาวมุมไบต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่า 65 % ในการเดินทางบนท้องถนน ส่วน โบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 2 ด้วยการใช้เวลาเพิ่ม 63 % ขณะที่ กรุงลิมา ประเทศเปรู ต้องเผื่อเวลาไปอีก 58 % ในชั่วโมงเร่งด่วน
ส่วนฟากยุโรป เมืองที่รถติดมากที่สุดอยู่ที่ กรุงมอสโคว ของรัสเซีย ขณะที่ ลอส แองเจอลิส สหรัฐอเมริกาก็ติดโผในทำเนียบเมืองที่รถติดที่สุดในโลกด้วยเหมือนกันด้วยการเผื่อเวลาเดินทางกว่า 41 %
ผลสำรวจดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ไม่ว่าเราจะวิ่งบนทางด่วน หรือถนนปกติ ค่าเวลาที่เสียไปนั้นก็แทบไม่ต่างกันเลย
รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ข้อดีเพียงข้อเดียวของความแออัดบนท้องถนนก็คือ ดัชนีบ่งชี้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมืองที่แข็งแรง แต่ในทางกลับกันมันสวนทางกับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในเมืองนั้นอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้น Ralf-Peter Schäfer รองประธานฝ่ายข้อมูลการจราจรของทอมทอมก็ยังมองแง่ดีว่า ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าเพียงพอ การมีรถยนต์ไฟฟ้าบนถนนมากขึ้น ปัญหาผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมก็น่าจะดีขึ้นด้วย
สำหรับ เมืองหลวงของไทยอย่าง กรุงเทพมหานคร ซึ่งติดอันดับที่ 8 ในรายงานชิ้นนี้ โดยขยับลงมาจากอันดับที่ 7 จากปีที่แล้ว โดยช่วงเวลาที่รถติดมากที่สุด แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงเย็นวันศุกร์ เวลาประมาณ 18.00 น. เฉลี่ยความติดอยู่ที่ 113 % หรือ 29 นาที และเช้าวันจันทร์ เวลาประมาณ 7.00 น. เฉลี่ยความติดอยู่ที่ 88 % หรือ 24 นาที
วันรถติดน้อยที่สุดในปีที่ผ่านมาเป็นช่วงหยุดสงกรานต์วันเสาร์ที่ 14 เมษายน ขณะที่ วันรถติดหนักที่สุด คือ วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ก่อนถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึงกรุงเทพมหานครจะขึ้นชื่อเป็นน่าเที่ยวที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน จากการจัดอันดับของมาสเตอร์การ์ด เมืองฟ้าอมรแห่งนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีละ 22.78 ล้านคน แต่เรื่องรถติดนั้นถือเป็นปัญหาคลาสสิกที่อยู่คู่กับเมืองกรุงมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งทาง จส.100 ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากการรายงานเข้ามาของผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ และออนไลน์จัดอันดับเป็น ถนน 5 สายที่รถติดที่สุดในกรุงเทพมหานคร
อันดับ 1 ถนนลาดพร้าว
กิตติศัพท์ของ ลาดพร้าว เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่แล้ว ไม่ต้องจัดก็ยกให้ แบบไม่ต้องมีเสียงคัดค้าน ยิ่งเมื่อมีงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่เริ่มดำเนินการเปิดผิวการจราจรก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าในปีนี้ ยิ่งส่งผลให้สภาพการจราจรบนถนนลาดพร้าวติดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จากเดิมที่ปริมาณรถหนาแน่นเป็นปกติอยู่แล้วด้วยกายภาพของถนนที่มีตรอกซอกซอย และชุมชนพักอาศัยอยู่จำนวนมาก สำหรับจุดที่สร้างวิกฤตจราจรอยู่บ่อยครั้ง คือ บริเวณแยกภาวนา และลาดพร้าว 130 ที่หลายครั้งส่งผลกระทบไปถึงด้านถนนรัชดาภิเษก ถนนรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์
อันดับ 2 ถนนรามคำแหง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับของกระทบต่อเนื่องมาจากถนนลาดพร้าว ฝั่งขาเข้า ท้ายแถวสะสมเข้ามาที่แยกลำสาลี ต่อเนื่องถนนรามคำแหง ขาออก ขณะเดียวกันบนถนนรามคำแหงยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรทั้งพื้นราบและทางยกระดับ เนื่องจากต้องปิดเบี่ยงช่องทางหลายจุด อาทิ การสลับใช้ทางยกระดับรามคำแหงฝั่งขาเข้าและขาออกในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น การเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์ การเบี่ยงการจราจรบริเวณแยกบิ๊กซีรามคำแหง
อันดับ 3 ถนนศรีนครินทร์
เป็นอีกเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เนื่องจากเดิมถนนศรีนครินทร์มีช่องทางจราจรฝั่งละ 3 - 4 ช่องทาง แต่เมื่อมีแนวก่อสร้างหลายจุดคงเหลือ 1 - 2 ช่องทางจราจร ทำให้ปริมาณรถที่มีปริมาณมากเป็นปกติอยู่แล้วเหลือพื้นที่วิ่งน้อยลง โดยเฉพาะทางเลี้ยวตามแยกต่างๆ ทางตรงต้องติดพร้อมกับรถที่รอเลี้ยว เช่น แยกศรีนุช รวมถึงบริเวณที่ใกล้โซนห้างสรรพสินค้ายิ่งทำให้เกิดปัญหาคอขวดมากขึ้น
อันดับ 4 ถนนรามอินทรา-แจ้งวัฒนะ
ถนนสายนี้ก็ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเส้นทางก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย มีการปิดการจราจรแล้วหลายจุด ส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของถนนเป็นคอขวด จาก 3-4 ช่องทาง คงเหลือ 1-2 ช่องทาง อาทิ บริเวณ กม.1 สนามกีฬากองทัพบก, กม.3 ใกล้ศูนย์การค้าบิ๊กซี, กม.4 แยกมัยลาภ, กม.8 แยกคู้บอน
เท่านั้นยังไม่พอ ยังส่งผลกระทบจากสภาพการจราจรทำให้มีท้ายแถวเข้ามาบนถนนแจ้งวัฒนะ ขณะเดียวกันบนถนนแจ้งวัฒนะ ก็มีเปิดพื้นที่แนวก่อสร้าง บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, ศูนย์การค้าบิ๊กซี ใกล้ทางเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎวัฒนะ, อาคาร CP ALL Academy ส่งผลกระทบด้านสภาพการจราจรทำให้รถไม่สามารถลงจากทางพิเศษศรีรัชได้
อันดับ 5 ถนนติวานนท์
อันดับนี้ได้มาจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี - แคราย เพียงแค่วันแรกที่เริ่มเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงพยาบาลหูตาคอจมูก ก็ส่งผลกระทบไปถึงถนนงามวงศ์วาน และถนนรัตนาธิเบศร์ติดขัดอย่างหนัก เพราะไม่สามารถผ่านแยกแครายได้ ขณะเดียวกัน แนวก่อสร้างทางแยกสนามบินน้ำ และหน้ากรมชลประทาน ก็ถูกจำกัดช่องทางเหลือเป็นคอขวดเช่นกัน เป็นเส้นที่เรียกได้ว่า หากไม่มีธุระที่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยง
นอกจากนี้ยังมีถนนเส้นทางหลักบางเส้นที่ยังเจอกับรถติดอยู่สม่ำเสมออย่าง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนสาทร ถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก ที่ติดเสมอต้นเสมอปลาย แต่อาจจะโชคดีที่มีเส้นทางอื่นให้เลือกใช้มากกว่า เช่น การใช้ทางพิเศษ และการใช้บริการรถไฟฟ้า จึงอาจจะติดขัดไม่เท่ากับ 5 เส้นที่จัดอันดับมาให้
ความแออัดบนท้องถนนก็คือ ดัชนีบ่งชี้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมืองที่แข็งแรง แต่ในทางกลับกันมันสวนทางกับคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในเมืองนั้นอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น