ถกกันหนัก มาตรการลดการลงโทษทางอาญา รองปลัดยธ. ชี้คนล้นคุก เหตุกม.กำหนดให้ทุกความผิดมีโทษจำคุก “ปริญญา” พร้อมเปลี่ยนการเรียน-สอน หลังไทยสอนกม.จนคนเต็มคุก ไม่ใช่อาชญากรยังต้องเข้าคุก พร้อมยกโมเดลเนเธอร์แลนด์-โปรตุกส เคลียร์นักโทษออกจากเรือนจำ
สำนักงานคณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กระทรวงยุติธรรม และร่วมจัดสัมมนาวิชาการ เรื่องการลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่2 ซึ่งภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “มาตรการด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อการลดการลงโทษทางอาญา”
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มาตรการคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์เราต้องรู้ เมื่อก่อนกระทำความผิดเราประนีประนอมกันได้ แต่ในปัจจุบันคนมีมากขึ้นรัฐจึงต้องมีการออกกฎหมายที่เป็นกฎหมายลักษณะต้องห้าม โทษที่น้อยสุดคือจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท และเรื่องก็จะอยู่ที่ศาลแขวงทั้งหมด แต่วันนี้มันเป็นปัญหาที่เราไปออกกฎหมายแล้วใส่โทษทางอาญาไว้ทุกคดี ตนจึงไม่แน่ใจว่าการออกหมายเช่นนี้เป็นการป้องกันสังคมหรือเป็นการซ้ำเติมสังคมกันแน่ แล้วคนที่เคยติดคุกมาแล้ว แทบไม่มีที่ยืนในสังคมเลย คนที่เคยติดคุกประวัติก็ยังเป็นคนขี้คุก แม้ตายไปแล้วก็ยังมีกระดูกเป็นคนขี้คุกอยู่ดี
“กฎหมาย และประกาศต่างๆ กว่า 400 ฉบับ เราแก้ไขให้ปลดโทษทางอาญาออกได้หรือไม่ แล้วนำโทษปรับทางการปกครองมาใช้ ไม่ต้องถึงขั้นต้องให้ติดคุก เพราะทุกวันนี้คนที่ติดคุกส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีเงินประกันตัว ส่วนความผิดใดที่ยังจำเป็นต้องคงโทษอาญาก็ให้คงไว้”นายธวัชชัยกล่าว
ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิบดีฝ่ายความยั่นยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องข้อกฎหมายถ้ากสม. และกระทรวงยุติธรรมเอาจริงเอาจัง ทางม.ธรรมศาสตร์เราพร้อมให้ความร่วมมือ คือต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนขนานใหญ่ วันนี้แปลกใจอยู่ว่าเราสอนกฎหมายอย่างไรให้คนล้นคุก และคนในคุก 80 % มาจากปัญหายาเสพติด และที่คนแน่นคุก เพราะบางคนไม่มีเงินไปประกันตัวแม้ศาลจะอนุญาตให้ประกันก็ตาม ถ้าเราแก้ตรงจุดนี้ได้คุกน่าจะว่างลงบ้าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ คุกว่างจนต้องปิดตัวลงครึ่งหนึ่ง
เพราะเขามีมาตรการลงโทษ 3 แบบ คือ 1.ให้บริการสังคม แทนการขังคุก 2 คุมประพฤติ และ 3ใผ่อนความเข้มงวดของปัญหายาเสพติด สำหรับประเทศโปรตุเกสเน้นแก้ปัญหายาเสพติด โดยมองเป็นปัญหาสุขภาพไม่ใช่อาชญากรรม ในประเทศไทยเราเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเรายิ่งปราบยิ่งมีมาก คือ การที่ติดยาเสพติดแล้วก็ผันตัวมาเป็นผู้ขายเพื่อนำเงินมาซื้อยาเสพต่อ ผู้ผลิตและจำหน่ายก็ผลิตเพิ่มขึ้น
“ความที่ไทยเอะอะก็ติดคุก ไม่ใช่อาชญากรรมก็ยังติดคุก แล้วเอาไปขังรวมกับอาชญากรตัวจริง จนคุกเป็นที่บ่มเพราะอาชญากร เมื่อพูดถึงการติดคุกที่ไม่ใช่มาจากอาชญากรรม ขอยกกรณีนักศึกษา ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ทุกครั้งเขาจะออกมาต่อต้าน แล้วก็ถูกดำเนินคดีติดคุกกันไป เพียงเพราะขัดคำสั่งคสช. ซึ่งโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ตอนไปประกันตัวนักศึกษาเห็นเขาในชุดกางเกงขาสั้นสีน้ำตาล พร้อมกุญแจข้อเท้าแล้วมันสลดใจมาก วันนี้เรามาแก้ปัญหาให้คุกไทยว่างกันเถอะ ไม่เอาคนที่ไม่ได้เป็นอาชญากรมาติดคุก และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เราน่าจะมีโอกาสมากเพราะวันนี้เรามีกระบวนการทางรัฐสภาที่มีการแข่งขันทางด้านนโยบายมากขึ้น”นายปริญญากล่าว
ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กสม. กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงคือ การไม่ให้มีชีวิตอยู่ และการเอาคนไปกักขังไม่ให้มีสิทธิมนุษยชน กรณีคนล้นคุก เด็กล้นสถานพินิจ การเอาคนไปกักขังไม่ได้ประโยชน์อะไร ทุกวันนี้มีคนในคุกกว่า 3 แสนคน ถ้าเราจะมีมาตรการปล่อยคนเหล่านั้นก็ต้องได้รับการยอมรับของผู้คนอื่น ส่วนตัวมองว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเด็กล้นสถานพินิจฯได้ โดยอนุสัญญาเขียนไว้ชัดว่า เด็กต้องเติบโตนครอบครัวและสังคม เด็กที่ทำผิดต้องรับรู้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิดอย่างไร กระตุ้นให้เกิดความสำนึกและไม่ให้กลับไปทำพฤติการณ์เดิมอีก ซึ่งหัวใจสำคัญที่อยู่ที่ผู้ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ไกล่เกลี่ยโดยที่เด็กไม่ได้สำนึกผิดเหมือนเป็นการให้เด็กมาตีหน้าเศร้าเล่าเรื่องเท็จ