สทนช.ระบุระดับน้ำแม่น้ำมูล เริ่มลดลงต่อเนื่อง
สทนช.ระบุระดับน้ำแม่น้ำมูลเริ่มลดลงต่อเนื่องตามคาด หลังภาครัฐเร่งระดมกำลังช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม พร้อมเร่งผลักดันมวลน้ำไหลลงแม่น้ำโขง บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องเร่งบรรเทาผลกระทบ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงมาตรการเร่งระบายน้ำลดผลกระทบพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี ว่า ขณะนี้ สทนช.ได้บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้องเร่งบรรเทาผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดท้ายน้ำก่อนระบายลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งมาตรการที่ได้ดำเนินการได้แล้วขณะนี้ 4 มาตรการหลัก คือ 1. หน่วงน้ำตอนบนลำน้ำชี เพื่อชะลอน้ำเหนือไม่ให้ไหลลงแม่น้ำมูล โดยลดการระบายน้ำเขื่อนตอนบนของลำน้ำชี ตั้งแต่เขื่อนวังยางขึ้นไป และเขื่อนลำปาว เพื่อชะลอน้ำที่ไหลลงแม่น้ำมูลให้น้อยลง 2. ชะลอน้ำจากแม่น้ำมูลโดยลดการระบายน้ำเขื่อนราษีไศล ควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำ พร้อมใช้เครื่องผลักดันน้ำ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 160 เครื่อง ที่อ.โขงเจียม 100 เครื่อง และ อ.พิบูลมังสาร 60 เครื่อง 4.กองทัพบกได้ระดมกำลังเพิ่มความแข็งแรงจุดคันกั้นน้ำต่างๆ และการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่ง สทนช.ได้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุกภัยภาคอีสานอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้ทางจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ตั้งแต่ช่วงท้าย อ.เมืองอุบล พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำในพื้นที่ที่ลุ่มต่ำกลับเข้าสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และลดปริมาณน้ำให้ถึงระดับตลิ่ง ณ สถานี M.7 อ.วารินชำราบ ภายใน 20 25 วัน ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูลมีทิศทางที่ลดลงตามที่คาดการณ์ โดยเมื่อเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ระดับน้ำที่สถานี M.7 อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ ระดับน้ำ 10.95 ม. น้ำ 5,235 ลบ.ม.วินาที ลดลง 1 ซม.จากเมื่อเวลา 06.00 น. วันนี้ ระดับน้ำ 10.96 ม. สูงกว่าตลิ่ง 3.96 ม อัตราการไหล 5,250 ลบ.ม./วินาที ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจิตอาสายังได้เข้าไปเร่งดูแลด้านสาธารณสุข การจัดการคุณภาพน้ำ เส้นทางการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำ รวมถึงความต้องการพื้นฐานของประชาชน และบรรเทาผลกระทบให้แก่ประสบภัยให้ทั่วถึงและครอบคลุมโดยเร็วด้วยเช่นกันซึ่งจากการรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังปัจจุบันทั้งสิ้น 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.เขื่องใน อ.พิบูลมังสาหาร อ.สว่างวีระวงศ์ อ.ตระการพืชผล และอ.ดอนมดแดง" นายสมเกียรติ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เผย 7 จังหวัดประสบภัยจากพายุโพดุล เร่งช่วยเหลือปชช.
-คปภ. เร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยแก่ผู้ประสบอุทกภัย
-พิษพายุ! 9 จว.ยังมีพื้นที่น้ำท่วม สรุปดับ 25 ราย เดือดร้อน 359,888 ครัวเรือน
-ไจก้าแนะ 'จาการ์ตา-กรุงเทพฯ' เร่งแผนป้องกันน้ำท่วม