‘พอร์โต้โก’ปลุกสมรภูมิ‘จุดแวะพัก’ ขุมทองนักเดินทาง-บลูโอเชียน F&B
กลุ่ม “นักเดินทาง” เป็นโอกาสทางการตลาดใหม่!! ของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ “จุดแวะพัก” หรือ Rest Area บนเส้นทางหลวงเชื่อมจังหวัด อยู่ในสถานะ “บลูโอเชี่ยน”ของบรรดาแบรนด์ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และบริการต่างๆ
ภายใต้ยุทธศาสตร์ของดี-แลนด์ พร็อมเพอร์ตี้ วางก้าวรุกครั้งใหญ่มุ่งปักหมุดธุรกิจจุดแวะพัก พอร์โต้ โก (Porto Go) สร้างซัพพลายรองรับดีมานด์ทั้งกลุ่มลูกค้าผู้ใช้รถ นักเดินทาง และบรรดาคู่ค้าที่มองหาพื้นที่สร้างรายได้ใหม่ๆ
สุเทพ ปัญญาสาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้บริหารไลฟ์สไตล์มอลล์ “พอร์โต้ ชิโน่” และจุดแวะพัก “พอร์โต้ โก” กล่าวว่า เทรนด์การเดินทางและปริมาณรถบนถนนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสของการแจ้งเกิด “ธุรกิจจุดแวะพัก” รูปแบบใหม่สำหรับนักเดินทาง พอร์โต้ โก ขณะเดียวกัน “จุดแวะพัก” ยังถือเป็นตลาดใหม่ บลูโอเชี่ยนของบรรดาแบรนด์เครื่องดื่ม ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด และบริการต่างๆ มุ่งหน้าเข้าสู่สมรภูมินี้มากขึ้น
โดยล่าสุดดี-แลนด์ฯ ได้เปิดบริการ “พอร์โต้ โก ท่าจีน” บนถนนพระราม 2 จับกลุ่มคนเดินทางลงภาคใต้ ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่ นับเป็นโครงการที่ 2 ต่อจาก “พอร์โต้ โก บางปะอิน” เปิดบริการเมื่อปี 2560 ตั้งอยู่บนถนนสายเอเชีย กิโลเมตรที่ 4 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดพักรถ 24 ชั่วโมง ที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางที่ขับรถขึ้นภาคเหนือและภาคกลางตอนบน
การขยับขยายธุรกิจ พอร์โต้ โก มาจากการปลุกปั้น “พอร์โต้ ชิโน่” ไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ 7 ปีก่อนหน้า ซึ่งมองเห็นพฤติกรรมของนักเดินทางที่ใช้ถนนสายหลัก พบว่ามีรถยนต์วิ่งเฉลี่ย 14.8 ล้านคันต่อปี หรือ 40,000 คันต่อวัน และเกือบทั้งหมดแวะจอดจุดพักรถ!! เพื่อเข้าห้องน้ำ พักผ่อนเพื่อเติมความสดชื่นระหว่างเดินทาง รับประทานอาหาร ซื้อกาแฟ มีเพียง 30% เท่านั้น ที่แวะเติมน้ำมัน จึงเป็นที่มาของการต่อยอดธุรกิจแจ้งเกิด พอร์โต้ โก ที่มากกว่าสถานีบริการน้ำมันและห้องน้ำสะอาด
อย่างไรก็ดี แต่เดิม พอร์โต้ โก มองไกล!! เตรียมปูพรมถึง 20 สาขาภายในปี 2566 แต่ด้วยความที่เป็นโมเดลธุรกิจใหม่!! เชื่อว่ายังต้องสร้างปรับแต่งเติมเต็มในหลายๆ มิติ ทั้งขนาดการลงทุนที่เหมาะสม พันธมิตรร้านค้า ฯลฯ ทำให้ต้องทบทวนแผนการขยายโดยวางเป้าหมายเปิดบริการให้ได้ 5 แห่งภายในปี 2564 ก่อนรุกรอบใหญ่อีกครั้ง
โดยเบื้องต้นโปรเจค พอร์โต้ โก หลังจากนี้ จะปรับลดขนาดการลงทุนลงราว 20% จาก 400 ล้านบาท ให้อยู่ในระดับ 300 ล้านบาท เพื่อสร้างประสิทธิภาพของผลตอบแทนและการคืนทุน รวมทั้งการพัฒนาโมเดลที่จะเน้นการเพิ่มพื้นที่รองรับผู้คนในท้องถิ่นในการเข้ามาใช้บริการและเป็น “คู่ค้า” ด้วยจุดเด่นของสินค้าจากชุมชนนั้นๆ
สำหรับ “พอร์โต้ โก ท่าจีน” รองรับดีมานด์นักเดินทางที่ขับรถลงภาคใต้บนถนนพระราม 2 ซึ่งมีปริมาณการจราจร เฉลี่ยสูงถึงวันละ 1.2 แสนคัน นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การพักผ่อนระหว่างการเดินทางที่แปลกใหม่!! ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำติดแอร์พร้อมระบบสุขภัณฑ์แบบไร้การสัมผัส สถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ซึ่งนับเป็นโมเดลแรกของคาลเท็กซ์ในการเข้ามาเป็นหนึ่งในแม่เหล็กของ “คอมมูนิตี้มอลล์” ร่วมกับแบรนด์ร้านค้าอื่นๆ ต่างจากคู่แข่งสถานีบริการน้ำมันอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีร้านค้าปลีกกว่า 30 ร้าน ที่มีทั้งร้านอาหารชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ ร้านของฝาก ร้านกาแฟ ร้านค้าแบรนด์ดัง รวมไปถึงบริการชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ และที่จอดรถมากกว่า 200 คัน พร้อมที่จอดรถทัวร์
นอกจากแบรนด์แม่เหล็กอย่างสตาร์บัคส์ และเคเอฟซี ยังมีแบรนด์สัญชาติไทย “วราภรณ์ซาลาเปา” และ “ชาตรามือ” ได้เปิดไดร์ฟทรูสาขาแรกในประเทศไทย
++
------------------------
สนามทดสอบ‘ไดร์ฟทรู’
ดี-แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ นับเป็นผู้บุกเบิกการนำ “ไดร์ฟทรู” เข้ามาเป็นแม่เหล็กในโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์สร้างสีสันให้กับ “จุดนัดพบ” ที่มีนักเดินทางซึ่งต้องการความสะดวก รวดเร็ว แวะเวียนเข้ามาทดลองใช้บริการ เรียกได้ว่าสร้างความคุ้นชิน!! กับไดร์ฟทรู ที่แพร่หลายและกลายเป็นทั้ง “กลยุทธ์เชิงธุรกิจ” และ “จุดขาย” ของจุดแวะพัก
พอร์โต้ โก ที่เป็นสนามประเดิมโมเดลไดร์ฟทรูของแบรนด์ต่างๆ นับตั้งแต่ สตาร์บัคส์ แจ้งเกิดไดร์ฟทรู สาขาแรกที่ “พอร์โต้ ชิโน่” ผ่านมา 7 ปีวันนี้สตาร์บัคส์มีสาขาไดร์ฟทรู 30 แห่ง
ส่วนแบรนด์โดนัท “ดังกิ้น” เลือกพอร์โต้ โก บางปะอิน เปิดไดร์ฟทรู เป็นแห่งแรก ขณะที่ พอร์โต้ โก ท่าจีน เป็นสนามทดสอบให้กับ “วราภรณ์ ซาลาเปา” และ “ชาตรามือ” ได้ชิมลางบริการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า
เป็นแนวทางต่อยอดขยายบริการไดร์ฟทรูในอนาคตที่ไม่จำกัดเฉพาะฟาสต์ฟู้ดหรือเครื่องดื่มก็เป็นได้!!