เปิดตัวนิทรรศการ 'วังหน้านฤมิต' ในมิติแห่งกาลเวลาในรูปแบบดิจิทัล
"ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน" เปิดตัวนิทรรศการ "วังหน้านฤมิต" ในมิติแห่งกาลเวลาในรูปแบบดิจิทัล
วันนี้ (17 ก.ย.62) เวลา 14.05 น. Google Arts & Culture องค์กรไม่แสวงผลกำไร ร่วมมือกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เปิดตัวนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลาในรูปแบบดิจิทัล ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
นิทรรศการดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดชั้นข้อมูลต่างๆ ของประวัติศาสตร์ที่เคยค้นพบมาก่อน รวบรวมคอลเล็กชันพิเศษต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยผ่านอนุสรณ์สถานอันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ
ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า
โครงการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี เกิดขึ้นครั้งแรกเพื่อสร้างความรู้จักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เราเติบโตเมืองนอกก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับวังหน้า โชคดีได้ทำงานที่กรมศิลปากรเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักประวัติศาสตร์จำนวนมาก ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึงอดีตและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่วังหน้า ร่องรอยวังหน้าอยู่ตรงไหน ประวัติศาสตร์ไทยอ่านได้ แต่อยากนำข้อมูลในพื้นที่ให้คนเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น และเข้าใจได้ทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่ห่างไกลจากประวัติศาสตร์ของไทย เราเข้าไปค้นหาข้อมูลวังหน้าที่จดหมายเหตุ และหาหนังสือภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องในร้านหนังสือเอเชียบุ๊ค ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ มีข้อมูลยังไม่เพียงพอ เกิดความคิดจะขยายข้อมูลต่างๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างไร
นิทรรศการวังน่านิมิตจัดที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้ว เน้นเทคโนโลยีกระจายข้อมูลวังหน้า มีผลงานสร้างสรรค์จำนวน 11 ชิ้น เป็นหอจดหมายเหตุอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธมิตรเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ แม้นิทรรศการจบไปแล้ว แต่ก็ยังเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนของโลก ถัดมาเป็นนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เชิญคนเข้าไปในพื้นที่วังหน้าเพื่อสัมผัสกับข้อมูลผ่านการเห็น ได้ยิน ซึ่งนิทรรศการวังหน้าในรูปแบบดิจิทัลผ่าน Google Arts&Culture เป็นผลจากการติดตามผลงานของ Google Arts&Culture ซึ่งรวบรวมข้อมูลและผลงานศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลก ไว้บนโลกออนไลน์
เราสนใจประวัติศาสตร์ได้ดูพิพิธภัณฑ์เบอร์ลินและชมตัวอย่างผลงานสำคัญ แม้ไม่ได้ไปสถานที่จริง แต่ก็ยังได้เห็นสิ่งของจัดแสดง คิดในใจว่า อยากให้คนทั่วโลกเห็นศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบนี้ เพราะเมืองไทยมีของดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีโบราณวัตถุและสิ่งของล้ำค่าจัดแสดง อยากให้คนได้เห็นและเข้าถึงความเก่งกาจของคนในอดีต จึงชวน Google Arts&Culture มาทำงานร่วมกันเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและเสนอข้อมูลจากนิทรรศการวังหน้านฤมิตในรูปแบบดิจิตอลและอินเทอร์แอคทีฟ ถือเป็นจดหมายเหตุอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมิติ ทุกคนสามารถเข้าไปจับต้อง เล่นกับมัน โดยไม่ต้องเข้ามาที่วังหน้า ประเทศไทย เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนเข้าถึงได้ตลอดเวลา
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากร พยายามนำระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการเผยแพร่งานของกรมศิลป์ ก็ประสบผลสำเร็จหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น งานด้านเออาร์โค้ด คิวอาร์โค้ด งานเกี่ยวกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อีบุ๊กหรือหนังสืออิเล็กทรอนิก ดี-ไลเบอรี่หรือระบบสืบค้นเอกสารโบราณ สมาร์ทมิวเซียมหรือการนำชมพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงและสมาร์ทไลเบอร์รี่มาแล้ว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม เดือนล้านกว่าคน ส่วนการดำเนินโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล จากที่เคยจัดนิทรรศการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ในแต่ละแห่งไม่ว่าจะเป็นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอในรูปแบบ พิพิธภัณฑ์ดิจิทัล จะช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
สำหรับนิทรรศการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ในรูปแบบดิจิทัลนี้ เผยแพร่ภาพและข้อมูล ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผลงานสร้างสรรค์จำนวน 138 รายการ พร้อมด้วยภาพ Street View สำหรับการสำรวจวังหน้าในมุมมองต่างๆ สามารถรับชมในเว็บไซต์ Google Arts & Culture หรือแอปพลิเคชัน Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android
โดย นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว
หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง หัวข้อนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ว่า เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ตอน ได้แก่
ตอนที่ 1 รู้จักวังหน้า กล่าวถึงประวัติความเป็นมาและประวัติศาสตร์วังหน้า ความคิดดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย
ตอนที่ 2 กว่าจะเป็นนัยระนาบนอก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินรังสรรค์ไว้ในช่วงนิทรรศการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ตอนที่ 3 ชุบชีวิตมรดกทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ (อินซิ ทู) เป็นการกล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร่องรอยของวังหน้าไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พลับพลาสูง และสิ่งอื่นๆ ที่ได้จัดแสดงไปแล้วเช่นกัน
ตอนที่ 4 ผัสสะของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ กล่าวถึงส่วนที่จับต้องไม่ได้ เช่น เพลง พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงภาพวาด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนำเสนอผ่านภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง การซูม และวิดีโอมาเล่าเรื่องนิทรรศการ เช่น ส่วนประวัติของวังหน้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การจัดพื้นที่เชื่อมโยงแนวคิดการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม การนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้ผู้ชมได้สัมผัสและมีประสบการณ์ร่วมกันราวกับได้เดินชมด้วยตนเอง