‘ภูเก็ต’ เดินเกมบริหารชื่อเสียง สร้างแบรนด์ใหม่ชิงนักเดินทาง
แม้ชื่อเสียงของ “ภูเก็ต” จะได้รับการสั่งสมมานาน หลากองค์กรต่างยกตำแหน่งจุดหมายยอดนิยมติดอันดับโลก ภาคการเดินทางท่องเที่ยวกลายเป็นเสาหลักค้ำยัน ปั้นรายได้ของทั้ง จ.ภูเก็ต ให้มีมูลค่ารวมกว่า 4.77 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 ของไทย เป็นรองแค่กรุงเทพฯ
แต่โจทย์ใหญ่คือการทำอย่างไรให้ภูเก็ตยืนระยะได้อย่างยั่งยืน เพราะต้องยอมรับว่ายังมีเหตุการณ์หรือประเด็นต่างๆ กระทบความเชื่อมั่น “การบริหารชื่อเสียง” และ “เพิ่มขีดความสามารถ” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการแข่งขัน เพราะนอกจากคู่ปรับตลอดกาลอย่างเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังมีจุดหมายใหม่ๆ ในเอเชีย เช่น ญาจาง และดานัง ประเทศเวียดนามที่ส่งสารขอท้าชิง วัดขุมพลังว่าใครคือ “ตัวจริง” ของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล!
การดึง “จุดขายใหม่” มาขายพ่วงแหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิม จึงเป็นวิธีน่าสนใจในการบริหารชื่อเสียงระยะยาวของเมืองไข่มุกอันดามันแห่งนี้
“ภูเก็ตมีชื่อเสียงมายาวนาน สมัยก่อนนักท่องเที่ยวทุกคนต่างรู้จักหาดป่าตอง แหลมพรหมเทพ และเกาะต่างๆ เป็นอย่างดี แต่กลับไม่มีใครรู้จักย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket’s Old Town)” ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต ฉายภาพในอดีต
ชุมชนฯจึงเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ย่านเมืองเก่าจะหายไปจากแผนที่ภูเก็ต ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เหนื่อยมาก เพราะการสร้างกระแสให้ติดตลาดเป็นเรื่องยาก เพิ่งจะเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมานี่เอง โดยเฉพาะ 2 ปีล่าสุดที่บูมมากๆ กลายเป็นว่าถ้านักท่องเที่ยวมาภูเก็ต ต้องบรรจุโปรแกรมมาย่านเมืองเก่าด้วย หลังกระแสถูกจุดขึ้นจากการทำถนนคนเดิน และได้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนมาตามรอย เช็กอิน เหมือนสมาร์ทโฟนมันทำงานของมันเอง
เมื่อเกิดการท่องเที่ยวกระแสหลักในย่านเมืองเก่าภูเก็ต จนกลายเป็น “จุดขายใหม่” นอกเหนือจากหาดทรายชายทะเล ชุมชนฯจึงมองว่าควรใช้หลักการทำงานแบบ “การท่องเที่ยวชุมชน” (Community Based Tourism: CBT) มาบริหารจัดการให้เป็นระบบ เพิ่งเริ่มเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำกันแบบมวยวัด
“แต่กุญแจความสำเร็จที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ในการควักเงินทุนตัวเองเพื่อซ่อมบ้านเก่าซึ่งใช้งบประมาณสูงกว่าการรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ถึง 3 เท่า และเปิดบ้านเก่าให้นักท่องเที่ยวเข้าชม นี่คือไฮไลท์”
ล่าสุด สำนักข่าวระดับโลก “ซีเอ็นเอ็น” (CNN) ได้ยกให้ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็น 1 ใน 13 เมืองเก่าสวยที่สุดในเอเชีย (Asia's most picturesque towns) จากเสน่ห์ของตึกสไตล์ชิโน-โคโลเนียลที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 และ 19 ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นร้านค้า ร้านอาหาร บาร์ และโรงแรมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทางกรมศิลปากรยังได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตเตรียมเสนอย่านเมืองเก่าภูเก็ต เข้าสู่กระบวนการขอขึ้นทะเบียน "มรดกโลก” ภายในปี 2563 หลังจากก่อนหน้านี้มาเลเซียมีการเสนอเมือง “ปีนัง” และ “มะละกา” ได้สำเร็จ
“การจะทำให้ย่านเมืองเก่าภูเก็ตขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้เข้าเกณฑ์ตามที่ยูเนสโกกำหนด ชุมชนฯจึงต้องการหน่วยงานมาช่วยจัดการความรู้ จัดทำคู่มือให้เจ้าของบ้านรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบฯรายปีต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังจากที่ผ่านมาได้งบฯกระตุ้นเฉพาะกิจที่มีเป็นครั้งคราว” ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตกล่าว
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า เร็วๆ นี้ภูเก็ตจะทำแบรนดิ้งใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ภูเก็ต เอนด์เลส ดิสคัฟเวอรี่”(Phuket Endless Discovery) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าค้นหาแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงอีกกลุ่มที่มีศักยภาพอย่าง “นักเดินทางไมซ์” (การจัดประชุม สัมมนา ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และแสดงสินค้า) ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การเพิ่มจำนวนวันพำนักและค่าใช้จ่ายในภูเก็ต
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เล่าเสริมว่า ภูเก็ตมีจุดเด่นที่หลากหลายในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับเวิลด์คลาส การเดินทางเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ผ่านสนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งกำลังมีแผนขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจากปีละ 12.5 ล้านคนเป็น 18 ล้านคนต่อปี พร้อมกิจกรรมก่อนและหลังเดินทางให้กับกลุ่มประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลอย่างครบครัน
หากพิจารณาจากสถิตินักเดินทางไมซ์เข้าสู่ภูเก็ตในปี 2561 เทียบกับปี 2560 พบว่ามีการเติบโตสูงมาก โดยในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,216,230 คน เพิ่มขึ้น 167.94% จากปี 2560 ทำรายได้รวม 19,544.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.75%
ด้าน ธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้ภูเก็ตตามยุทธศาสตร์ระยะยาว “4M” ที่นอกเหนือจากการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางทะเล (Marina Tourism) แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมตลาดไมซ์ (MICE), การเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สุขภาพ และสปา (Medical Tourism) และการพัฒนาบุคลากร (Manpower) ควบคู่ไปกับหลัก “3S” คือ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism), เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)