ติวนักศึกษาจบใหม่ใช้เงิน 'ลดหนี้เสีย'
สถิติชี้ คนรุ่นใหม่มีการสร้างหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคมากกว่าหนี้เพื่อการสร้างสินทรัพย์ และมีมากกว่า 1 ใน 5 หรือราว 20% ที่กลายเป็น "หนี้เสีย"
สมาคมธนาคารไทยเผยสถิติพบคนรุ่นใหม่มีการสร้างหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการบริโภคมากกว่าหนี้เพื่อการสร้างสินทรัพย์ และมีมากกว่า 1 ใน 5 หรือราว 20% ที่กลายเป็นหนี้เสีย ระบุ 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 7% ขณะที่อัตราการออมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 3% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังขาดวินัยการออม ขาดความระมัดระวัง ในการบริหารเงินส่วนบุคคล โดยคนไทยมากกว่า 50% มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพราะขาดการวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
สมาคมธนาคารไทย ที่มีธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเกือบ 1 หมื่นสาขา พนักงานกว่า 1 แสนคน จึงได้จัดทำโครงการ “คนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน ซีซั่น2” โดยทุกธนาคารร่วมมือกันส่งอาสาสมัครลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินในรูปแบบใหม่ Learning by Gaming ให้กับนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นราย เพื่อต้องการสร้างสังคมที่มั่นคง สังคมที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานโครงการคนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวมี The Trainer จำนวน 550 คน มาร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลให้กับนิสิตนักศึกษาจำนวน 2,300 คน ในรั้วมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนในกรุงเทพฯ รวม 8 แห่ง และในปี 2562 นี้โครงการจะขยายออกไปกว้างมากขึ้นสู่ระดับภูมิภาค โดยมี The Trainer เพิ่มขึ้นเป็น 643 คน ซึ่งจะออกไปลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 20 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับน้องๆ นักศึกษามากกว่า 1 หมื่นคน ก่อนออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ชีวิตในวัยเริ่มต้นทำงาน เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต
เนื่องจากคนรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีนั้นมีสิ่งกระตุ้นซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่แตกต่างจากคนยุคก่อน ทำให้การตัดสินใจใช้เงินเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล และขาดการยับยั้งชั่งใจ รวมไปถึงการถูกสิ่งเร้าจากสื่อโซเชียลรอบตัว วัยเริ่มต้นทำงานสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด
“เป้าหมายของโครงการก็คือให้พวกเขาได้ตระหนักรู้ในเรื่องการเงิน โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและเข้าสู่ตลาดแรงงานไปจนถึงวัย 30 ปี หัวใจสำคัญคือในช่วง 10 ปีแรกของการทำงาน ต้องการให้ พวกเขาประสบความสำเร็จในการบริหารเงินของตนเองได้ รู้จักในเรื่องการบริหารรายรับรายจ่ายและเงินออม รวมถึงรู้จักรับผิดชอบในการชำระและบริหารหนี้สินของตนเองได้
จึงได้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกม (Learning by Gaming) ที่สร้างความสนุกสนานพร้อมสอดแทรกสาระความรู้ในการใช้ชีวิต การใช้จ่าย และได้เรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการเงินของตนเอง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ด้วยกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย ซึ่งนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละปีจำนวนกว่า 2 แสนคน หากสามารถทำโครงการนี้ได้อย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยยกระดับพื้นฐานความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลของคนไทยในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น และอัตราหนี้เสียของคนไทยในแต่ละปีจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง