เสี่ยงโรค "อหิวาต์หมู" ระบาด กระทบ “ซีพีเอฟ-ไทยฟู้ดส์”
ช่วงนี้เริ่มมีข่าวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เข้ามาในประเทศไทย หลังพบว่ามีสุกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายทยอยตายโดยไม่ทราบสาเหตุไปแล้วกว่า 300 ตัว ซึ่งขณะนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีการติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาหรือไม่ หลังท
กระแสข่าวที่เกิดขึ้นเริ่มสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน รวมทั้งกดดันราคาเนื้อหมูในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่นักลงทุนเทขายหุ้นที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่าหากโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในประเทศไทยจริง สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับที่ประเทศจีนและเวียดนาม เพราะการเลี้ยงสุกรในไทยส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของฟาร์มปิดถึง 70% ทำให้สามารถควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ในขณะที่จีนและเวียดนามมีสัดส่วนการเลี้ยงสุกรแบบฟาร์มปิดเพียงแค่ 30% เท่านั้น ทำให้การควบคุมโรคทำได้ค่อนข้างยาก
เบื้องต้นหากพบว่ามีการระบาดของโรคจะทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดหายไป ดูแล้วเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการเพราะราคาขายดีขึ้น แต่ในทางกลับกันต้องไม่ลืมว่า ถ้าประชาชนรู้สึกวิตกกังวลไม่กล้าที่จะบริโภค ก็จะหันไปรับประทานเนื้อสัตว์อย่างอื่นแทน แม้ทางการจะยืนยันแล้วว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาไม่ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คนก็ตาม
ดังนั้น จึงยังเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรในไทยทั้ง CPF และ TFG ที่ธุรกิจสุกรคิดเป็นสัดส่วนราว 8% และ 22% ของรายได้รวม ตามลำดับ กดดันผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปีนี้
อีกด้านหนึ่งกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม คือ ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ เชื่อว่าประชาชนจะหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมูมากขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกเองก็ดูสดใสไม่น้อย สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึง 5.4 แสนตัน เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยเฉพาะตลาดจีนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเนื้อสุกรจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในจีนตอนนี้แพงเป็นประวัติการณ์ คนจีนหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู ทำให้ราคาเนื้อไก่ในจีนพุ่งสูงขึ้นถึงเท่าตัว ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไก่ของไทย
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ จีนได้มีการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยรวม 33,500 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 712% ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไก่อันดับ 3 ของไทย รองจากตลาดยุโรปและญี่ปุ่น
สำหรับบริษัทที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงหนี้ไม่พ้น บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังยังสดใส จากตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนตลาดในประเทศมีโอกาสเติบโตขึ้น หลังคนหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมูมากขึ้น ขณะที่ CPF และ TFG ต้องรอดูว่ายอดขายธุรกิจไก่จะทดแทนธุรกิจหมูได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนกลุ่มเกษตร-อาหารลงเป็น “เท่าตลาด” จากเดิม “มากกว่าตลาด” จากความกังวลว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาจะระบาดเข้ามาในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ ประเมินว่าผู้ประกอบการทั้ง CPF และ TFG ซึ่งเลี้ยงสุกรในฟาร์มปิดจะสามารถป้องกันโรคในฟาร์มของตัวเองได้ ดังนั้นหากเกิดการระบาดจริง ผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงเท่าประเทศจีนและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น CPF และ TFG จะได้รับผลกระทบจากราคาขายสุกรที่ลดลง โดยราคาสุกรเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 69.10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากราคาสุกรในช่วงที่เหลือของปียังใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 58 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้แนวโน้มราคาสุกรเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ 66 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นดาวน์ไซด์ต่อกำไรสุทธิปี 2562 ของ CPF ราว 8% และราคาพื้นฐานลดลงมาที่ 32 บาท และเป็นดาวน์ไซด์ต่อกำไรสุทธิปี 2562 ของ TFG ราว 11% และราคาพื้นฐานลดลงมาที่ 3.80 บาท