ขัดแย้งการเมืองเอเชียหนุนท่องเที่ยวอาเซียน

ขัดแย้งการเมืองเอเชียหนุนท่องเที่ยวอาเซียน

ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นกว่า20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงฤดูร้อนนี้กำลังปรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ เนื่องจากบรรดานักเดินทาง หรือนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้และชาวจีนเลี่ยงเดินทางไปท่องเที่ยวยังจุดหมายปลายทางเดิมๆอย่างญี่ปุ่นและฮ่องกง แต่มาเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

กรณีพิพาททางการค้าระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลเกาหลีใต้ การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง ประกอบกับการรณรงค์กระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้และจีนเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบในธุรกิจการเดินทางและการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกก็มีส่วนเพิ่มความสลับซับซ้อนแก่ภูมิภาคมากยิ่ง

ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นกว่า20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และมีนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก วางแผนมาใช้วันหยุดในช่วงปลายปีในภูมิภาคนี้

อูไซดิ อูดานิส ประธานสมาคมท่องเที่ยวขาเข้าของมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เข้ามาเที่ยวในมาเลเซียเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นมาก เพราะได้แรงสนับสนุนจากบรรดาผู้ทรงอิทธิพลต่อกลุ่มนักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาว

ขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โหมรณรงค์กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงรุกด้วยการประกาศเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศผ่านเอเยนซีด้านการท่องเที่ยวและสื่อทุกประเภททั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล ทั้งยังให้เหล่าผู้ทรงอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์ช่วยโพสต์ภาพและข้อมูลเพื่อดึงดูดบรรดาวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

ในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามและฟิลิปปินส์ ต่างรองรับนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เพิ่มเป็นตัวเลขสองหลัก โดยมีชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าเวียดนามประมาณ 150,000 คนและด้วยความที่เวียดนามเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์สองแห่ง ชาวเกาหลีใต้จึงมีความรู้สึกคุ้นเคยกับเวียดนามเป็นอย่างมาก และผลิตภัณฑ์ของซัมซุงมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาณส่งออกโดยรวมของเวียดนาม

“เวียดนามเป็นประเทศที่ชาวเกาหลีใต้รู้สึกคุ้นเคย”แหล่งข่าวจากบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย ให้ความเห็น

อีกปัจจัยที่หนุนให้ชาวเกาหลีใต้เข้ามาเที่ยวในเวียดนามเพิ่มขึ้นเพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้มายังเมืองดานัง เมืองรีสอร์ทในภาคกลางของเวียดนาม ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่สะดวกสบายมากกว่าไปเที่ยวภูเก็ต ในประเทศไทย หรือบาหลีในอินโดนีเซีย ล่าสุด รัฐบาลเกาหลีใต้ มีแผนที่จะเปิดสถานกงสุลในเมืองดานังภายในปลายปีนี้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สร้างแรงจูงใจแก่บรรดานักท่องเที่ยวด้วยการลดราคาสินค้า30%แก่บรรดานักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกที่เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและตามร้านค้าปลอดภาษี โดยแคมเปญนี้มีไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม

เป็นที่รู้กันดีกว่านักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกชื่นชอบการช็อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่ง ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด มั่นใจว่าแคมเปญนี้จะช่วยกระตุ้นรายได้ด้านการท่องเที่ยวได้

วีเมคไพรซ์ บริษัทอี-คอมเมิร์ซชื่อดัง ระบุว่า จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ชาวเกาหลีใต้นิยมมากที่สุดนอกจากดานังในประเทศเวียดนามแล้ว ยังมีกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย และเกาะกวม ส่วนจุดหมายปลายทางในญี่ปุ่นอย่างเช่นกรุงโตเกียว และเมืองโอกินาวาปีนี้ความนิยมลดลงไป โดยในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปเที่ยวในญี่ปุ่นไม่ถึง 4% โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียวยอดนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ลดลงไปถึง8%ผลพวงจากกระแสการคว่ำบาตรสินค้าและบริการของญี่ปุ่นในหมู่ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งมีที่มาจากปัญหาขัดแย้งทางการค้าของสองประเทศ

ปัญหาขัดแย้งดังกล่าว ทำให้สายการบินเกาหลีใต้8แห่งลดเที่ยวบินที่บินเข้าและออกจากญี่ปุ่น และมีการยกเลิกเที่ยวบินหรือระงับเที่ยวบินมากกว่า 60 เที่ยวและสายการบินเกาหลีใต้หันไปเพิ่มเส้นทางบินไปประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน เช่น สายการบินแอร์ ไลน์ซิส เพิ่มเที่ยวบิน7เที่ยวต่อสัปดาห์ระหว่างกรุงโซลและสนามบินนานาชาติคลาร์ก อินเตอร์เนชั่นแนล ในเดือนตุลาคม พร้อมทั้งเพิ่มเที่ยวบินไปดานัง และบาหลีด้วย

ส่วนสายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ และแอร์ โซล มีแผนเพิ่มเที่ยวบินไปดานังในอีกสองสามเดือนข้างหน้านี้

ขณะที่จีน การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อขณะนี้ยังไม่เลิกชุมนุม สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 10% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่ชาวจีนไปฮ่องกงลดลง31%