บัญชีฯ จุฬาฯ ชู ChAMP ขึ้นเป็นโมเดลต้นแบบ เตรียมพร้อมบัณฑิตสู่โลกธุรกิจยุคดิสรัปชั่น

บัญชีฯ จุฬาฯ ชู ChAMP ขึ้นเป็นโมเดลต้นแบบ เตรียมพร้อมบัณฑิตสู่โลกธุรกิจยุคดิสรัปชั่น

โครงการ ChAMP (Chulalongkorn Alumni Mentorship Program) เป็นโครงการที่ให้รุ่นพี่ศิษย์เก่าที่ ประสบความสำเร็จและเป็นผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ให้กับน้องๆ นิสิต (Mentee) ได้ค้นหาศักยภาพตัวเอง

    โครงการChAMP เป็นหนึ่งโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรให้แข็งแกร่ง ของ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงใน 5 มิติ คือ 1-เปลี่ยนจาก Business School เป็น Chief Business School, 2-เพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนในเชิงปฏิบัติ, 3-สร้างระบบสนับสนุนให้นิสิต มีความรู้ในเชิงลึก, 4-ช่วยเหลือสังคมผ่านระบบดิจิทัล และ 5-เชื่อมโยงโลกธุรกิจ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปัจจุบัน ก้าวสู่ปีที่ 8 พร้อมเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าและนิสิตคณะอื่น เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมขยายผลการดำเนินงานสู่ภาพรวมทั้งมหาวิทยาลัยและต่อยอดสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ

      ธงชัย บุศราพันธ์ ซีอีโอใหญ่แห่ง โนเบิลดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ประธาน โครงการ รุ่นที่ 8 กล่าวว่าปัญหาของโลกธุรกิจในยุคปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความหลากหลายที่ทำให้หลายคนสับสนในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลก การข้ามสายอาชีพกันเป็น Multidisciplinary กลายเป็นเรื่องปกติที่จำเป็นสำหรับคนยุคนี้ 

       ซึ่งช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ ChAMP ได้เตรียมความพร้อมให้กับนิสิตก่อนออกสู่โลกแห่งการทำงาน จากเดิมที่ดำเนินงานแต่เฉพาะนิสิตในคณะบัญชี สู่คณะอื่นๆ เพิ่มขึ้น และทำให้เห็นถึงประสิทธิผลเป็นประจักษ์แก่คน ในโลกธุรกิจ จึงมีแนวคิดในการยกระดับโครงการนี้ เป็นโมเดลต้นแบบที่เปิดโอกาสให้คณะอื่นๆ หรือมหาวิทยาลัยอื่นที่สนใจเข้าร่วมศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้กับสถาบันของตนเอง โดยเชื่อว่านี่จะเป็นปรากฏการณ์สร้าง ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการศึกษา ที่สามารถพัฒนานิสิตนักศึกษาตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้มากที่สุด

     จุดเด่นของโครงการ ChAMP คือ การกระตุ้นให้นิสิตค้นพบตัวเอง เพื่อการเลือกเป้าหมายที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เขามีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากนี้แล้ว ChAMP ยังกระตุ้นให้น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการรู้จักคิดวิเคราะห์ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจได้รอบด้าน และมีการตัดสินใจที่รอบคอบมากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องการจากนิสิตนักศึกษาจบใหม่

 

   

      “ปัจจุบันภาคธุรกิจต้องการคนรุ่นใหม่เข้าไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กร แต่ปัญหาที่มักพบเจอ คือ นิสิตนักศึกษาจบใหม่ขาดความพร้อมในการทำงาน ขาดความเป็นผู้นำในการคิดวิเคราะห์ปัญหา และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรที่ต้องอยู่ให้รอดในยุคดิสรัปชั่น ต้องการจากนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้โครงการ ChAMP จึงตอบโจทย์ภาคธุรกิจเป็นอย่างดี เพราะนอกจากการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ การเลือกเส้นทางสายอาชีพของน้องๆ แล้ว เรายังใช้การโค้ชชิ้งพัฒนากระบวนการคิดให้น้องๆ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองในอนาคตด้วย”

      เนื่องจากโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่มีใครรู้ดีได้ทุกเรื่อง การเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่ารุ่นพี่ที่อายุห่างกันอย่างน้อย 10 ปีขึ้น เข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับรุ่นน้องที่กำลัง จะจบออกไป และก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน นอกจากจะช่วยให้น้องๆ ได้เรียนรู้ประสบการณ์ถูกผิดจากพี่ๆ ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนแล้ว ในทางกลับกันรุ่นพี่ก็จะได้เรียนรู้ตัวตนความเป็นคนรุ่นใหม่ของน้องๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่โลกธุรกิจกำลังต้องการอยู่ในขณะนี้

   

 

      ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Head of Consumer and Small and Medium Business Marketing Google Thailand  อีกหนึ่งศิษย์เก่าผู้ทำหน้าที่เป็นเมนทอร์มาถึง 4 ปี กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการต้องการเห็นความสำเร็จของน้องนิสิตเป็นสำคัญ นี่เป็นสิ่งที่คนในโครงการคุยกันตั้งแต่แรก คอนเนคชั่นที่เราสร้างขึ้น เราต้องการสร้างสิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่เพื่อการเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคพวก

       แต่เราต้องการเน้นให้นิสิตรู้จักเข้าสังคมเป็น เพราะจะทำให้เขาปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีทักษะในการเจรจา เพื่อต่อรองให้คนอื่นยอมรับ ในข้อคิดเห็นของตน สามารถลดความขัดแย้ง และสร้างข้อตกลงที่ดีร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นมากสำหรับ โลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน