'เครดิตบูโร' ห่วงกลุ่ม'เจนแซด' ถือบัตรเครดิตพุ่ง หวั่นหนี้ครัวเรือนกระฉูด
“เครดิตบูโร” ห่วงกลุ่มเจนแซด-เด็กจบใหม่ ถือบัตรเครดิตพุ่ง หวั่นทำหนี้ครัวเรือนกระฉูด หนี้เสียเพิ่มหากไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ย้ำต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ด้าน “ฐากร” ยอมรับผู้ขอเปิดบัตรเครดิต 70% เป็นกลุ่มเจนแซด-เจนวาย
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้พบกลุ่มเจนเนอร์ชั่นแซด อายุ 22-23 ปี ได้รับการอนุมัติบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจเนอเรชั่น X และ Y จึงมีความกังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ในอนาคตหากคนกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้ และค้างชำระหนี้จนกลายเป็นหนี้เสีย ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอีกอย่างน้อยหนึ่งไตรมาส เพราะคงไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะมีปัญหา โดยปัจจุบันมี 3 กลุ่มเปราะบางที่ ธปท. ดูแลเป็นพิเศษอยู่ ได้แก่ 1. กลุ่มคนเจนเนอเรชั่น Z อายุ 20-22ปี ที่เริ่มเห็นการอนุมัติบัตรเครดิตให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น 2.กลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ยังคงมีหนี้ไม่ได้ลดลง 3. กลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 30,000บาทต่อเดือน มองว่าแนวทางลดหนี้ในกลุ่มเปราะบางนั้น คงต้องหามาตรการสนับสนุนให้คนมีงานทำ เพื่อมีแหล่งหารายได้เพิ่มขึ้นมาชำระหนี้
“ทุกวันนี้ กลุ่มเจนฯ Z เด็กจบใหม่ เป็นเจ้าของธุรกิจก็มีโอกาสที่จะมีบัตรเครดิตจำนวนมากพอสมควร จากข้อมูลที่ร่วมศึกษากับสถาบันป๋วยฯพบว่า กลุ่มคนอายุน้อย หรือกลุ่มเด็กอายุ19-20ปี ไปจนถึง 23-24 ปี มีนอนแบงก์เป็นผู้ปล่อยกู้ให้ในสัดส่วนมากกว่า 80% ส่วนสถาบันการเฉพาะกิจไปไฟแนนซ์ในกลุ่มคนอายุเยอะ ขณะแบงก์พาณิชย์ก็ไปกลุ่มประมาณอายุ 20 ปีปลายๆ“
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิต กล่าวว่า ข้อมูลของธนาคารพบว่าเด็กจบใหม่มีการขอสินเชื่อที่มีความหลากหลาย เช่น บางคนขอสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นครั้งแรก แต่บางคนอาจได้สินเชื่อรถยนต์เป็นครั้งแรกก็ได้ ขณะที่ธนาคารเองต้องดูพฤติกรรมและความสามารถมากกว่าเพราะจะมีผลต่อการชำระเงินและเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ส่วนลูกค้าสมัครบัตรใหม่ 100 คนจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือเจนY ประมาณ 70 คน ซึ่งมาจากความต้องการที่เข้ามามาก แต่ไม่ได้เป็นเพราะธนาคารมุ่งเข้าไปหากลุ่มดังกล่าว
สำหรับการคัดกรองกำหนดวงเงินสินเชื่อจะเป็นไปตามรายได้ ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ รายได้อาจมีไม่มาก เช่น มีรายได้ 15,000-30,000 บาทต่อเดือนจะให้วงเงินบัตรเครดิตไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ เป็นต้น
ส่วนคนสูงอายุและยังเป็นหนี้อยู่ ยอมรับว่ายังมีจริง แต่คนใกล้เกษียณจะมีการใช้จ่ายผ่านบัตรน้อยลง แต่บางคนที่มีหนี้ อาจยังมีรายได้อยู่ จะเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีบำนาญใช้ในแต่ละเดือน
อย่างไรก็มตาม ชมรมบัตรเครดิตอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิตแบบโปรโมชั่นผ่อนดอกเบี้ย 0% ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่ม เพื่อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รับทราบในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธปท.ไม่เห็น เช่น อาชีพ พฤติกรรมผู้บริโภค ลูกค้ามีครอบครัวหรือไม่ การศึกษา อยู่กรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด เป็นต้น ทำให้ธปท.มีข้อมูลในการพิจารณาก่อนจะออกนโยบายกำกับต่อไป