ครรภ์เป็นพิษ...อันตรายที่คุณแม่ควรรู้ แม้ว่าจะพบได้เพียงร้อยละ 5-10 ก็ตาม

ครรภ์เป็นพิษ...อันตรายที่คุณแม่ควรรู้ แม้ว่าจะพบได้เพียงร้อยละ 5-10 ก็ตาม

หนึ่งในปัญหาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่อยากให้เกิดคือ ครรภ์เป็นพิษ แม้เป็นภาวะที่พบได้เพียงร้อยละ 5-10 แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจถ้าเราได้ทำความรู้จักกับโรคนี้

     นพ.ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล สูติแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ครรภ์เป็นพิษมักเกิดกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปพบว่า 4 ใน 100 คน ของคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการครรภ์เป็นพิษ ในจำนวนนี้ 80% มีอาการไม่รุนแรง แต่อีก 20% อาการค่อนข้างรุนแรงทั้งนี้ ครรภ์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก 

    ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษ รกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลง จะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

      เช่น เส้นเลือดสมองตีบ ตาพร่ามัว ตับวาย ฯลฯ ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากร้ายแรงถึงขั้นมีอาการชักร่วมด้วย อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูก ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงครรภ์เป็นพิษคือ 1)ผู้หญิงที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสตีบง่าย 2)หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี 3)มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีครรภ์เป็นพิษมาก่อน 4)คนที่มีบุตรยาก 5)คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คนหรือตั้งครรภ์แฝด 6)ตั้งครรภ์ครั้งแรก และ7)คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไต ไทรอยด์ แพ้ภูมิตนเอง (SLE) เป็นต้น

   

     สำหรับระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ มีความรุนแรงหลายระดับโดยเริ่มตั้งแต่ 1.ครรภ์เป็นพิษระดับที่ไม่รุนแรง(Non-Severe Pre–Eclampsia)แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน 2.ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe Pre-Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ

     3.ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) แม่ตั้งครรภ์จะมีอาการชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งหากอยู่ในระยะนี้ต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยอาการผิดปกติทางร่างกายที่แสดงออกหากครรภ์เป็นพิษ อาทิ 1)อาการบวม เช่น บริเวณมือ เท้า หน้า 2)น้ำหนักเพิ่มเร็วขึ้นผิดปกติ (โดยปกติน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มเดือนละ 1.5 - 2 กิโลกรัม) 3)ปวดศีรษะมาก รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น 4)ทารกดิ้นน้อย ตัวเล็ก โตช้า 5)ความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 มิลลิเมตรปรอท ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ตาพร่ามัว ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา

shutterstock_147978782

      สูติแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เพื่อนำมาประเมินวางแผนการรักษา โดยปกติภาวะครรภ์เป็นพิษจะวินิจฉัยจากความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) 140 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า หรือความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า โดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมง ร่วมกับตรวจพบว่ามีความผิดปกติของอวัยวะภายใน 

    นอกจากนี้ อาจตรวจพบโปรตีนรั่วออกมาปนในปัสสาวะ โดยความรุนแรงของโรคอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงกระทั่งทำให้เกิดการชักหมดสติ มีภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกสลาย เกล็ดเลือดลดต่ำทำให้มีเลือดออกผิดปกติ การทำงานของตับผิดปกติส่งผลให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งนอกจากอาการและความรุนแรงของโรคแล้ว ยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดขึ้น ตามความรุนแรง 

   

      โดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับแม่และลูก เช่น ภาวะแทรกซ้อนของแม่ มักพบอาการชัก เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ไตวายเฉียบพลัน ตับอักเสบ เลือดออกในสมอง หากรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต ส่วนภาวะแทรกซ้อนของลูก ได้แก่ ตัวเล็ก โตช้า รกลอกตัวก่อนกำหนด หากรุนแรงอาจเสียชีวิตในครรภ์แม่ได้การตรวจวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้โดยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แล้วนำมาประเมินวางแผนการรักษา สามารถตรวจคัดกรองด้วยการดูจากปัจจัยเสี่ยงจากการเจาะเลือดและการทำอัลตราซาวนด์ดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก แพทย์จะพิจารณาการให้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันครรภ์เป็นพิษ ซึ่งพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดครรภ์เป็นพิษได้ถึง60%

       การรักษาครรภ์เป็นพิษคือ การทำคลอดเพื่อให้ทารกคลอดออกมาโดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอดแล้วพิจารณาว่าสามารถประคับประคองให้อยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดกี่วัน แต่หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ แพทย์จะทำการผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค หนทางป้องกัน คือ เข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลยและใส่ใจสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากเกิดความผิดปกติแพทย์จะทำการรักษาได้ทันท่วงที