แนะค้าปลีกเร่งโก!ดิจิทัล รับมือ‘ศึก’เอ็มคอมเมิร์ซ’เดือด
ธุรกิจค้าปลีกในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าในยุค “รีเทล ดิสรัปชั่น” เผชิญภาวะ น้ำเดือด!! จาก “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” ที่สั่นคลอนการขับเคลื่อนธุรกิจ “ออฟไลน์”และ “ออนไลน์” จะสลับขั้วกันไปมามากขึ้น
แม้ว่ามิติของ “ออฟไลน์“ ซึ่งผู้คนเดินไปหาสินค้า ขณะที่ ”ออนไลน์” สินค้าดาหน้าเข้ามามาหาคน มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่การเติบโตของออนไลน์พุ่งพรวดแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกปี แม้เวลานี้ยังครองตัวเลขยอดขายในสัดส่วนที่น้อย และยังไม่สามารถแทนที่ “ออฟไลน์” ได้ทั้งหมดก็ตาม หากวันนี้ผู้ประกอบการยังไม่ลุกขึ้นปรับตัว พรุ่งนี้อาจไม่ทันการณ์!!
ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่บทบาทหน้าที่ใหม่แบบข้ามสายพันธุ์มากขึ้น หรือบทบาทหน้าที่เดิมๆ นั้นยังคงอยู่ เพียงแต่จะอยู่ที่ใคร? ยกตัวอย่าง ธนาคารเปิดมาร์เก็ตเพลสจำหน่ายสินค้าและบริการขึ้นเอง นอกจากนี้ ระบบคนกลาง หรือ Middle Man ทั้งหลายจะค่อยๆ หายไปจากวงจรธุรกิจ
ผลจากเทคโนโลยียังทำให้ “ระยะทาง” และ “เวลา” หดสั้นลง ส่งผลต่อพฤติกรรม การใช้ชีวิต กรอบความคิด ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิม ยิ่งในเด็กเจนเนอเรชั่น Y และ Z ไม่มีความอดทน ไม่รอคอย ต้องการการตอบสนองในทันที ทุกที่ทุกเวลา
“ใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงของน้ำเดือดในสมรภูมิค้าปลีกไทย บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการจะสลับขั้วไปมา การขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้ต้องตั้งมายเซ็ต โก ดิจิทัล!!”
ผู้ค้าปลีกจำเป็นต้องเร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมแกร่งองค์กรและเครื่องมือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ภายใต้แนวทางที่เรียกว่า "Digitalization of Retail" ประกอบด้วย Review Structure ปรับโครงสร้างในการทำงาน Revise Process ทบทวนกระบวนการทำงาน Re-skill/Up-skill People นับเป็นแก่นแท้ของยุค 4.0 ที่จะต้องยกระดับบุคลากรให้เท่าทันเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของลูกค้ายุคใหม่ และวิธีคิดใหม่ของลูกค้า สุดท้าย สร้างพันธมิตร ในอนาคตธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนเองจำนวนมากในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยง การเฟ้นหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เข้ามาเสริมแกร่งธุรกิจยังลดเวลาลองผิดลองถูก เรียกว่าเป็นสูตรลัดที่ใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย
ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกกันว่า E-Business หรือที่รู้จักกันดีในรูปแบบ ออฟไลน์ทูออนไลน์ (O2O) หรือ ออมนิแชนแนล (Omni Channel) ซึ่งเป็นการเชื่อมห้างร้านในโลกออฟไลน์เข้ากับเทคโนโลยีออนไลน์ นอกจากใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและชำระเงินออนไลน์ ยังสามารถเก็บข้อมูลผู้บริโภคมหาศาล อีกด้านหนึ่ง สามารถใช้จุดแข็งของห้างร้านที่มีสินค้าจริงให้คนได้สัมผัสและทดลอง รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับเดินเล่นหรือนัดพบสังสรรค์กับเพื่อนได้ด้วย
ทิศทางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกระลอก จากเดิมที่เน้นการทำแบบ แมส มาร์เก็ตติ้ง (Mass Marketing) หันมาโฟกัสเป็นเฉพาะกลุ่มลูกค้าตัวจริงของตัวเอง หรือเป็นการทำตลาดแบบ ตัวต่อตัว (one by one) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น “โมบายแอพพลิเคชั่น” ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอแคมเปญและโปรโมชั่นให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะคน ปัจจัยที่จะทำให้การตลาดรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญ คือ ระบบไอทีหลังบ้าน ที่จะต้องมีความแข็งแกร่ง รองรับการเก็บข้อมูลมหาศาล และต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย การลงทุนระบบ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) และระบบ “คลาวด์ คอมพิวติ้ง” (cloud Computing) ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน!!
อย่างไรก็ดี จาก “หน้าร้าน” สู่ “ออนไลน์” บิ๊กสเต็ปจากนี้ หากหน้าร้านต้องการจะเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วทุกที่ทุกเวลาจะต้องพาตัวเองเข้ามาอยู่ใน “โมบายแอพพลิเคชั่น” บนสมาร์ทโฟน ปัจจัยจำเป็นที่ 5 ของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” กล่าวว่า สมาร์ทโฟน” จะเป็นแพลตฟอร์มหลักในการซื้อขายสินค้าและบริการ!! นำพาธุรกิจเข้าสู่ยุค “สมาร์ทชอปปิง”
จะเห็นว่า ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาบนโมบายอินเตอร์เน็ต 5 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน สูงอันดับ 1 ของโลก ที่มีค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจผสานแนวทางดั้งเดิมหรือความเป็นจุดแข็งของ “ออฟไลน์-ออนไลน์” (O2O) สู่ “สมาร์ทรีเทล" ด้วยเทคโนโลยีครบทั้ง Big Data, AI, AR ,IoT
“ปีที่ผ่านมา การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือเติบโตสูง 44% ปี 2562-2566 คาดการณ์ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 22.4% ต่อปี ขณะที่ยอดขายออนไลน์ผ่านมือถือคิดเป็นสัดส่วน 48% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มเป็น 57% ภายในปี 2566”
การก้าวเข้าสู่โลกของสมาร์ทรีเทล ไม่เพียงนำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคดิจิทัล แต่ยังลดอุปสรรคในเชิงธุรกิจ! โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายสาขาจำนวนมาก ต้องใช้พนักงานจำนวนมากนั้น ซึ่ง “เทคโนโลยี” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานการทำงานทุกมิติด้วยระบบ “อัตโนมัติ” ให้บริการไม่แตกต่างจากแรงงานมนุษย์และเปี่ยมประสิทธิภาพในการรองรับและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าเหนือคู่แข่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'แบงก์ดิจิทัล' สิงคโปร์ 'ผู้บริโภค' มีแต่ได้
-นับถอยหลังสู่ยุคดิจิทัล
-ดิจิทัลทำคนรุ่นใหม่ไม่ตกงาน
-ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล