ลุ้น ‘เกรต้า ธุนเบิร์ก’คว้าโนเบลสันติภาพ
พูดถึงเรื่องความฮ็อตชั่วโมงนี้คงไม่มีใครมาแรงเกินกว่า “เกรต้า ธุนเบิร์ก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม วัย 16 ปี ชาวสวีเดน ว่ากันว่าเธอมีสิทธิคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในสัปดาห์หน้า แม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่ฟันธง แต่โต๊ะพนันกล้ารับแทง
โต๊ะพนันหลายราย เช่น แล็ดโบรคส์ในกรุงลอนดอน ชี้ว่า นักเคลื่อนไหววัยรุ่นรายนี้ เป็นหนึ่งตัวเก็งชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หลังรณรงค์ชวนนักเรียนโดดเรียนต้านโลกร้อน เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและผู้ใหญ่หลายล้านคนร่วมเคลื่อนไหว“วันศุกร์เพื่ออนาคต” กับเธอ
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ทั้งหลายยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เนื่องจากคณะกรรมการโนเบลไม่เปิดเผยบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงต่อสาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังเห็นต่างกันว่า โลกร้อนกับความขัดแย้งรุนแรงเกี่ยวข้องกันอย่างไร สาวน้อยธุนเบิร์กถึงมีสิทธิได้โนเบลสันติภาพ คงต้องลุ้นการประกาศผลกันในวันที่ 11 ต.ค.ที่กรุงออสโลของนอร์เวย์
เลย์มาห์ โบวี นักเคลื่อนไหวสันติภาพแอฟริกา ผู้มีส่วนจัดตั้งขบวนการสันติภาพซึ่งนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองไลบีเรียครั้งที่สองในปี 2546 กล่าวว่า นักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวที่ขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและควบคุมอาวุธปืน น่าจะได้โนเบลสันติภาพปีนี้ พวกเขามีพลังและแรงบันดาลใจ
“คนหนุ่มสาวเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งดีๆ” เธอเองจะยินดีมาก ถ้าเกรต้า ธุนเบิร์ก และขบวนการ March For Our Lives ที่ต่อสู้เรื่องการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐ ได้ครองโนเบลสันติภาพร่วมกัน
การเคลื่อนไหว “วันศุกร์เพื่ออนาคต” ของธุนเบิร์กเกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากตัวเธอไปนั่งประท้วงนอกสภาสวีเดนเพียงคนเดียว ถือป้าย “โรงเรียนประท้วงเพื่อสภาพอากาศ” ตอนนี้กลายเป็นข้อความสัญลักษณ์ไปแล้ว
โบวีชื่นชมมากที่ธุนเบิร์กถล่มโลกราวกับพายุ เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนหลายล้านคนออกมาเรียกร้องให้นักการเมืองต่อต้านหายนะภัยด้านภูมิอากาศ
“เธอจับประเด็นใหญ่ระดับโลก แถมยังทำคนเดียว” นักต่อสู้หญิงชื่นชมธุนเบิร์กอย่างจริงใจ ย้ำด้วยว่า นักเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ ควรดูเป็นตัวอย่าง แล้วสื่อสารให้ชัดเจนว่า เรื่องเฉพาะอย่างสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกอย่างไร
“ถ้าเราไม่ปรับเนื้อหาการพูดคุยเรื่องอาวุธและนิวเคลียร์ เราก็ได้แต่คุยกับผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ถ้าเราอธิบายถึงผลกระทบที่มีต่อตัวบุคคล ประชาชนจะลุกขึ้น และเมื่อนั้นย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง”
แดน สมิธ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (ซิปรี) กล่าวว่า สิ่งที่ธุนเบิร์กในปีที่ผ่านมานั้นสุดพิเศษ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับความมั่นคงและสันติภาพ” แต่ความเห็นของเขาแตกต่างกับ เฮนริก เออร์ดาล จากสถาบันวิจัยสันติภาพออสโล ที่ไม่คิดว่าธุนเบิร์กจะได้โนเบล
“ไม่ได้หรอก” เออร์ดาลกล่าว โดยให้เหตุผลเรื่องอายุและข้อเท็จจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโลกร้อนกับความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธยังพิสูจน์ไม่ได้
ผู้รู้รายนี้มองว่า คนที่มีสิทธิได้โนเบลสันติภาพปีนี้ เช่น นายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาเหม็ดแห่งเอธิโอเปีย ที่สร้างสันติภาพกับประเทศเอริเทรีย คู่อริ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนอย่าง ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (ซีพีเจ)
รางวัลโนเบลมีมาตั้งแต่ปี 2444 มอบให้ชาย หญิง และองค์กรที่ทำงานสร้างคุณูปการใหญ่หลวงแก่มวลมนุษยชาติรางวัลนี้ตั้งชื่อตามอัลเฟรด โนเบล ผู้สร้างระเบิดไดนาไมต์ แต่ตัวเขาก็ชื่นชอบบทกวีอังกฤษมาก และเป็นแฟนตัวยงของกวีดัง เชลลีและไบรอน
ปีนี้คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ได้รับรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับรางวัล 301 รายชื่อ ฤดูกาลโนเบลจะเปิดฉากขึ้นในวันจันทร์ (7 ต.ค.) เริ่มจากสาขาการแพทย์ ตามด้วยสาขาฟิสิกส์ และสาขาเคมี ส่วนในวันที่ 10 ต.ค.ประกาศสาขาวรรณกรรม 11 ต.ค.สาขาสันติภาพ และสุดท้ายที่สาขาเศรษฐศาสตร์ วันที่ 14 ต.ค.