ฝากขังแล้ว 'แกนนำ BRN' กบฎแบ่งแยกดินแดน
"ดีเอสไอ" คุมตัวฝากขังครั้งแรกตั้ง 5 ข้อหาหนัก ร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นแยกดินแดน-ปล้นปืนค่ายทหารตั้งแต่ปี 37 พร้อมค้านประกันกลัวหนี-ยุ่งหลักฐาน
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.62 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายพงศธร อินอำนวย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษกรมสอบสวนคดพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัว "นายมาหะมะรอมือลี สาแม" อายุ 56 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 87/2548 ลงวันที่ 7 ม.ค.48 ข้อหาร่วมกันกบฏฯ มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-15 ต.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นอยู่ระหว่างการรอผลตรวจประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ก็ได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวด้วย เนื่องจากผู้ต้องหารายนี้ มีหมายจับตั้งแต่ปี 2548 และมีการประกาศให้เงินรางวัลผู้นำจับ จากหน่วยงานรัฐตั้งแต่ปี 2551 เชื่อว่าผู้ต้องหาทราบถึงการถูกออกหมายจับมาโดยตลอดแต่ได้หลบหนี และในระหว่างหลบหนีได้กระทำการในลักษณะเดียวกันกับความผิดในคดีนี้อยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
โดยพบว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย.62 มีกลุ่มบุคคล ลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดคุ้มครอง ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยครูโรงเรียนควนปะ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บ 4 คน จากการสืบสวนสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาเป็นผู้รวมดำเนินการด้วยการเป็นคนจัดหาโทรศัพท์และซิมการ์ด ให้ผู้ก่อเหตุไปใช้ในการวางระเบิด ซึ่งคดีที่กล่าวหามีอัตราโทษสูง ดังนั้นจึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ โดยคำร้องฝากขัง ระบุพฤติการณ์สรุปว่า "นายมาหะรอมือลี" ผู้ต้องหา ได้ร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆ ในคดีนี้ ร่วมกันเป็นกลุ่มบุคคล ดำเนินการเป็นขบวนการและมีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้คือนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา มีการวางแผนดำเนินการในลักษณะใช้วิธีการกระทำความผิด ร่วมใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญฯ เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดฐานกบฏ
จากการสอบสวนข้อเท็จจริง ในการสืบสวนสอบสวนติดตามอาวุธปืนและคนร้ายคดีปล้นปืนของทางราชการจำนวน 4 คดีซึ่งเป็นคดีพิเศษ มีอาวุธปืนที่ถูกปล้นจำนวน 4 ครั้งรวม 478 กระบอกยังไม่สามารถติดตามคืนได้ โดยเหตุปล้นปืนทั้ง 4 คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ มีนายสะแปอิง บาซอ ครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน เกี่ยวข้องกับการปล้นอาวุธปืนของทางราชการรวมทั้งก่อคดีความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายคดี โดยมีพยานซึ่งเป็นสมาชิกในขบวนการ ให้การสนับสนุนจำนวนหลายปากและในทางสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึดอาวุธปืนเอ็ม 16 ได้จำนวน 1 กระบอก
ตรวจสอบพิสูจน์แล้วเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และการยึดอาวุธปืนเอสเค 33 จำนวน 1 กระบอกที่ตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นปืนที่ปล้นมาจากอุทยานบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ประกอบกับการวิเคราะห์ผล การซักถามบุคคลจำนวนหลายร้อยคนยืนยันว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริง ใช้ชื่อว่า "บีอาร์เอ็นโคออดิเนท (BRN co-ordinate)" และในการสอบสวน ยังพบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือปี 2545 เกิดเหตุ 51 ครั้ง , ปี 2546 เกิดเหตุ 54 ครั้ง , ปี 2547 เกิดเหตุ 496 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2547 พบว่ามีการลอบยิงประมาณ 600 ครั้ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตและบาดเจ็บ 136 คน กำนันผู้ใหญ่บ้าน 30 คน เจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ 120 คน กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่เสียชีวิตไม่พบว่าเคยมีเหตุส่วนตัวหรือขัดแย้งด้านผลประโยชน์กับผู้ใด
ขณะที่การตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนในที่เกิดเหตุพบว่ามีการนำอาวุธปืนกระบอกเดียวกันมาใช้ก่อเหตุตามสถานที่ต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีกลุ่มบุคคลได้ร่วมกันวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนในการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการ เริ่มตั้งแต่มีการจัดตั้งมวลชน , ปลุกระดม , ปลูกฝังแนวความคิดโดยนำประวัติศาสตร์บางตอนและคำสอนของศาสนามาบิดเบือนในการใช้ปลุกระดม , นำความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมาอ้างเป็นเงื่อนไข และจากการสอบสวนยังพบว่ากระบวนการดังกล่าวได้มีการวางแผนมาเป็นเวลานาน เป็นแผนบันได 7 ขั้นเพื่อไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยใช้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา , โรงเรียนปอเนาะและตาดีกาในพื้นที่จ.ปัตตานี , ยะลา , นราธิวาส ใช้บังหน้าและแฝงตัวใช้เป็นฐานในการปฏิบัติการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
ซึ่งแกนนำของขบวนการ คือ นายสะแปอิง บาซอ , นายอดุลย์ มูณี , นายการียา ยะลาแป , นายแวยูโซ๊ะ แวดือราแม และนายหีพนี มะเร๊ะ เป็นผู้ร่วมกันกำหนดนโยบาย เช่น การปล้นอาวุธปืนของทางราชการ ตามนโยบายของกลุ่มที่ว่า "ปืนของรัฐคือปืนของเรา" การทำลายพืชผลทางการเกษตร และการวางนโยบายว่าหากสมาชิกคนใดจะถอนตัวออกจากขบวนการ หรือให้ข้อมูลกับทางราชการ หรือไปเป็นพยานให้กับทางราชการ แกนนำของขบวนการจะมีคำสั่งให้ฆ่าบุคคลดังกล่าว ซึ่งระหว่างการสอบสวน มีพยานในคดีนี้ที่เคยเป็นผู้ร่วมขบวนการถูกยิงเสียชีวิตและถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทุกชนิด จากพยานหลักฐานเดิมที่ได้มีแนวทางในการสืบสวนไว้จากหน่วยงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ และคดีสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นที่สามารถแสดงได้ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มบุคคลที่กระทำเป็นขบวนการ และมีวัตถุประสงค์พิเศษซึ่งเป็นเรื่องของกบฏ , ก่อการร้าย , อังยี่ , ซ่องโจร รวมถึงการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานใหม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดีในความผิดที่กล่าวหา
โดยคดีนี้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเห็นว่า " นายมะหะมะรอมือลี" ผู้ต้องหา เป็นผู้จัดตั้งมวลชนแนวร่วมเป็นกองกำลัง จัดการประชุมเพื่อหาผู้ที่จะเข้าเป็นแนวร่วมของกระบวนการโดยการปลุกระดม เผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยม โดยบิดเบือนคำสอนในศาสนาเป็นผู้ที่มีความคิดรุนแรงในอุดมการณ์ชาติปัตตานี เหตุเกิดที่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา เมื่อระหว่างวันที่ 1 ส.ค.36 - ธ.ค.47
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 ต.ค.62 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ติดตามจับกุมตัว "นายมะหะมะรอมือลี" ผู้ต้องหาได้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งพนักงานได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญฯ เพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดฐานกบฏ , สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อเป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏแล้วกระทำการใดเป็นการช่วยปกปิดไว้ , ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ยทรัพย์สินของรัฐหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
โดยการกระทำนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดหวั่นในหมู่ประชาชน อันเป็นลักษณะการกระทำผิดฐานก่อการร้าย , สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน หรือรับการฝึกการก่อการร้าย สมคบกันเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 , 114 , 135/1 , 209 , 210 ประกอบมาตรา 83 โดยในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาไม่ขอให้การใดๆ ขณะที่ "ศาล" พิจารณาคำร้องแล้วจึงอนุญาตให้ฝากขังได้