'ปู-ไปรยา' ทูตยูเอ็นช่วยวิกฤตเวเนซุเอลา
"ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก" ทูตสันทวไมตรี ของ UNHCR ลงพื้นที่ประเทศโคลอมเบียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพและลี้ภัยจากวิกฤติในประเทศเวเนซุเอลา
วิกฤตการณ์ในประเทศเวเนซุเอลาบังคับให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคนต้องหนีเอาชีวิตรอดจากความรุนแรง ปัญหาทางเศรษฐกิจ และการเมืองทำให้ระบบการให้ความคุ้มครองในประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ประชาชนเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ความยากจน และความขาดแคลนสาธารณูปโภคที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ เช่น อาหารและยารักษาโรค ชาวเวเนซุเอลาเดินทางออกจากประเทศในสถานะผู้ลี้ภัยและผู้อพยพตั้งแต่ พ.ศ. 2557 และมีการหลั่งไหลของชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากในปี พ.ศ.2560 - 2561 มากกว่า 5,000 คนต่อวัน เพื่อแสวงหาความปลอดภัย ซึ่งเป็นการอพยพและลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา ร้ายแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากวิกฤตซีเรีย และต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วนที่สุด
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เชิญ "ไปรยา ลุนด์เบิร์ก" ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ประเทศไทย ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน 2562 ณ ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งรองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาไว้มากที่สุดในโลก เพื่อดูการทำงานของ UNHCR ในพื้นที่ในการมอบความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชาวเวเนซุเอลาที่กำลังสิ้นหวัง และเพื่อเก็บภาพและข้อมูลในการทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในประเทศเวเนซุเอลา
การเดินทางเยี่ยมผู้ลี้ภัยครั้งนี้เป็นภารกิจในต่างประเทศครั้งที่ 3 ของปู ไปรยา หลังจากการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ลี้ภัยซีเรียในประเทศจอร์แดน และชาวโรฮิงญาในประเทศบังคลาเทศในปีที่ผ่านมา
"ทุกๆ ครั้งที่ปูไปรู้สึกว่าสถานการณ์แต่ละที่มันยากและซับซ้อนมากในการให้ความช่วยเหลือ และในครั้งนี้ก็ไม่ง่ายขึ้นเลย ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตปูที่ได้เห็นวิกฤตการณ์ที่ยากสุด ซับซ้อนที่สุด มีทั้งความไม่มั่นคงในประเทศเอง มีทั้งการลี้ภัยและการอพยพที่ต้องการความช่วยเหลือที่ต่างกันไป ในพื้นที่ที่ปูไปเยี่ยมครั้งนี้ไม่ใช่ในค่ายผู้ลี้ภัยนะคะ แต่เป็นศูนย์อพยพในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ ซึ่งวิกฤตครั้งนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ต่างจากสถานการณ์แห่งความเป็นความตาย พวกเขาต้องหนีออกมาแสวงหาความปลอดภัยและมาถึงชายแดนด้วยความหวาดกลัว เหนื่อยล้า และต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน ปูชื่นชมการทำงานของ UNHCR ที่ทำงานอย่างรอบด้านเพื่อให้ความช่วยเหลือทุกคนอย่างเร่งด่วน และชื่นชมความเข้มแข็งและแข็งแกร่งของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทุกคน"
ปู ไปรยา เล่าว่า เห็นกับตาตัวเองที่สะพานข้ามแม่น้ำตาชีรา Saimon Bolivar International ชายแดนโคลอมเบีย-เวเนซุเอลา ที่เป็นเส้นทางหลักในการลี้ภัยของชาวเวเนซุเอลาเพื่อข้ามมาที่โคลอมเบีย ได้เห็นคนเป็นพันๆ คนข้ามสะพานหนีตายจากความโหดร้าย เห็นคนท้อง คนพิการ เด็กเล็ก ผู้ป่วยที่ต้องออกจากบ้านตัวเอง นั่นแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยู่ไม่ได้แล้วจริงๆ ไม่มีแม้แต่น้ำ ไฟฟ้า ยารักษาโรค หรืออาหารในการดำรงชีวิต เด็กหลายคนต้องป่วยและเสียชีวิตเพราะไม่มีนมและต้องรองน้ำที่มีสารปนเปื้อนเพื่อดื่มประทังชีวิต การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ทำให้อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น 65% และการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น 53% สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ปูและ UNHCR เศร้าใจเป็นอย่างมากและต้องเร่งช่วยเหลือพวกเขาอย่างเร่งด่วน
ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของ UNHCR บริเวณชายแดน เจ้าหน้าที่ทำงานตลอดเวลาเพราะทุกคนที่เข้ามาต่างมีภาวะฉุกเฉิน ปูเจอมีทั้งเด็กที่มีความพิการ ร่างกายผิดปกติ เด็กและผู้ใหญ่มากมายป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร ปูได้คุยกับคุณแม่ที่ลูกพิการ ตอนที่ปูกอดให้กำลังใจพวกเขา ร่างกายเขาเหลือแต่กระดูก
"ปูได้เจอกับแอนกี้ คุณแม่ลูก 2 วัย 24 ปีที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 เธอต้องลี้ภัยกับคุณแม่วัย 50 ปีและลูกเล็กอีก 2 คน เพราะที่เวเนซุเอลาไม่มียารักษาโรคให้เธออีกแล้ว เธอหนีมาที่โคลอมเบียเพียงแค่เพื่อมีชีวิตอยู่ต่ออีกสักหน่อยกับแม่และลูกของเธอ ตลอดเวลาที่ปูคุยกับเธอ เธอถือผ้าเช็ดหน้าตลอดเวลาเพื่อปกปิดความป่วยของเธอไม่ให้ใครเห็น"
ปู ไปรยา เล่าต่อว่า ได้พบกับแอนเดรียนา สามี และลูกของพวกเขา 3 คน จากเวเนซุเอลาที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด UNHCR พบพวกเขานอนข้างถนน จึงช่วยเหลือให้การรักษาและความคุ้มครอง แอนเดรียนาเจอกับความโหดร้ายในเวเนซุเอลาจนต้องอพยพมาที่โคลอมเบีย เธอไม่มีอะไรติดตัวมาเลย ต้องยอมให้ลูกและตนเองนอนข้างถนนเพื่อเอาชีวิตรอด เธออยู่อย่างหวาดกลัวทุกคืนเพราะมีกลุ่มติดอาวุธขี่มอเตอร์ไซค์วนเวียนมาถามเธอว่าจะขายอวัยวะของลูกเธอไหม เมื่อได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR เธอบอกว่าคืนนี้จะเป็นคืนแรกที่เธอจะปลอดภัยที่สุด
เมื่อเดินทางไปที่ Brisas del Norte (บริซาส เดล นอร์เต้) เป็นพื้นที่ชั่วคราวที่เป็นที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลา ผู้พลัดถิ่นในประเทศ และผู้ลี้ภัยชาวโคลอมเบียที่กลับสู่ถิ่นฐานกว่า 250 ครอบครัว ซึ่งพวกเขาต้องผ่านการเป็นผู้พลัดถิ่นมาตลอดชีวิต ไฮโร อิบารา ต้องลี้ภัยจากโคลอมเบียไปเวเนซุเอลาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพราะความรุนแรง พ่อเขาถูกฆ่า และลุงถูกลักพาตัวจนทุกวันนี้ยังหาตัวไม่พบ เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศที่เขาหนีไปอยู่ เขาตัดสินใจพาลูกที่ป่วยกลับมาที่โคลอมเบียอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557 โดยภรรยาและลูกอีกคนยังรออยู่ที่เวเนซุเอลาและจนวันนี้พวกเขาก็ยังไม่ได้อยู่ด้วยกัน
ไฮโรทำงานเป็นนักบัญชี มีชีวิตที่ดีอยู่ในเวเนซุเอลา แต่เมื่อต้องกลับมาที่โคลอมเบียอีกครั้งเขาต้องเริ่มจากติดลบ ต้องอาศัยอยู่ในเพิงที่รกร้าง ดูแลลูกที่ป่วยขยับไม่ได้ เขายังจำได้ว่าลูกทรมานแค่ไหนที่ต้องอยู่สภาพนั้น เราอาจจะมองว่าไฮโดรอยู่ในที่พักแบบนี้ได้อย่างไร แต่สำหรับเขาที่นี่คือวัง เพราะตอนที่เขากลับมา เขามีที่อยู่เป็นเพียงผ้าพลาสติกเท่านั้น
แต่ไฮโรเข้มแข็งมาก เขาสู้แม้ไม่มีความหวังว่าชีวิตจะดีกว่านี้ได้อย่างไร เขาเข้าเรียนการทำงานฝีมือเพื่อเลี้ยงชีพถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เขาไม่ถนัด แต่เขาสามารถใช้มันเลี้ยงดูครอบครัวได้
UNHCR ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ในพื้นที่นี้ให้ได้รับการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน ได้มีน้ำ มีไฟฟ้า สร้างโรงเรียนสอนฟุตบอลให้เด็ก 300 คน เยียวยาและป้องกันการรุนแรงทางเพศ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพได้รับการเยียวยาจิตใจ การได้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและเข้าใจ
และตอนนี้เขาได้เจอภรรยาและลูกปีละ 2 ครั้งเท่านั้น ผ่านการโบกมือหากันที่ตรงชายแดน.....
"ปูได้เห็นผู้คนตั้งแต่เขาเดินข้ามชายแดนมาที่โคลอมเบีย ต้องมานอนอยู่ข้างถนนเพราะไม่มีที่อยู่ ไม่มีเอกสารติดตัว ระหว่างทางพวกเขาต้องเจอความโหดร้ายมากมายทั้งโดนข่มขู่ ปล้น ลักพาตัว หลอกไปขายอวัยวะ หรือ บางคนตื่นมาไม่เห็นลูกตัวเองอีกแล้ว"
ต่อมา ปูได้พบมารีและอิสเมล ลูกวัย 3 ขวบที่พิการ มารีสูญเสียสามีและต้องลี้ภัยเพราะอิสเมลป่วยหนัก เพื่อให้ลูกคนเล็กมีชีวิตรอด มารีต้องทิ้งลูกสาวและพ่อแม่ของเธอไว้ที่เวเนซุเอลา โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับไปอีกเมื่อไหร่
มาเรียมีค่าใช้จ่ายสูงมากในการหาซื้อยาให้อิสเมลในเวเนซุเอลา เธอลี้ภัยมาโคลอมเบียและหาเลี้ยงชีพด้วยการขายขนมเพื่อแลกกับค่าเช่าบ้านให้เธอและลูก แต่ก็ทำต่อไม่ได้เพราะอิสเมลที่ป่วยหนักต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เธอหวังว่าอิสเมลจะได้รับการรักษาที่ดีขึ้นในโคลอมเบีย UNHCR ตามหากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดเพื่อให้ได้ความช่วยเหลือที่เร่งด่วน ทั้งการออกเอกสารระบุตัวตน มอบความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ที่พักพิงชั่วคราว ปัจจัย 4 การเยียวยาจิตใจ และการอยู่ร่วมกันกับคนโคลอมเบียอย่างเกื้อกูลเพื่อเขาจะได้อยู่ปลอดภัย
ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัย และผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทรัพยากรเริ่มลดน้อยลงและจำนวนครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นมีมากขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง รวมถึงที่พักอาศัย อาหาร และยารักษาโรคในทันที ทำให้ UNHCR ไม่อาจทำงานที่สำคัญนี้ได้เพียงลำพัง เราต้องการงบประมาณกว่า 158.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 4,900 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพวกเขา และตอนนี้ยังขาดงบประมาณอีกถึง 1,300 ล้านบาทในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน