อิทธิพลชาวดัตช์หรือฮอลแลนด์ในระบบกม.-ยุติธรรมอินโดฯ
ประเทศที่มีประวัติของการยุติธรรมและระบบกฎหมายที่น่าสนใจอีกประเทศหนึ่งคือ อินโดนีเซีย ประเทศที่มีเกาะใหญ่น้อยอยู่รวมกันถึง 13,667 เกาะ เป็นประเทศที่มีคนพื้นเมืองอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชนเผ่า และชนเผ่าใหญ่น้อยเหล่านี้มีภาษาที่ใช้กันอยู่ถึง 668 ภาษา
หลายร้อยปีก่อนที่ชาวตะวันตกจะเข้าครอบครองหมู่เกาะอินโดนีเซียนี้ บรรดาผู้คนพื้นเมืองในหมู่เกาะทั้งหลาย ต่างพัฒนาระบบกฎหมายที่ถือว่าเป็นอารยธรรมดั้งเดิมของชาวอินโดนีเซีย และเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของตัวเองขึ้น เรียกกันอย่างเป็นทางการในปัจจุบันว่า “กฎหมายอาดัด”
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว “กฎหมายอาดัด” นี้ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู พุทธ และแม้แต่อิสลาม นอกจากนี้ ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ก็นับเป็นกฎหมายที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ให้ถือว่าใช้บังคับได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย
ประเทศที่นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาสู่อินโดนีเซียก่อน คือประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นชนชาติแรกที่นำเอาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เข้ามาสู่ดินแดนนี้นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ประมาณปี ค.ศ. 1512 ในดินแดนที่เป็นเกาะ เรียกว่าเกาะติมอร์ ซึ่งชาวโปรตุเกสนั้นเข้าครอบครอบครองเกาะติมอร์ทางตะวันออก ปัจจุบันคือ ประเทศติมอร์-เลสเต
ต่อมาอีกไม่นานชาวดัตช์ ที่เรารู้จักกันในนามของประเทศเนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน หรือวิลันดาในอดีต เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้นำเอาระบบกฎหมายและการยุติธรรมแบบของตนเข้ามาใช้เป็นระบบกฎหมายของท้องถิ่น เพื่อที่จะดูแลและให้ความสะดวกแก่การค้าขายของบริษัท ของตัวเองที่มีชื่อเรียกว่า “บริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก (Dutch East India Company)” บริษัทนี้เริ่มประกอบกิจการในดินแดนของอินโดนีเซียในปี ค.ศ. 1596 นับเป็นเวลาเกือบ 100 ปีหลังจากที่ชาวยุโรป เริ่มรู้จักดินแดนแห่งเครื่องเทศ จึงถือว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชาวดัตช์หรือฮอลันดา เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของหมู่เกาะอินโดนีเซีย
ด้วยความที่หมู่เกาะอินโดนีเซียนั้นมีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมาย ชาวดัตช์จึงไม่สามารถใช้อิทธิพลของตนเข้าครอบครองได้ในทุกเกาะ ดังนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องของกฎหมายของชาวดัตช์ คงพูดถึงในแถบเกาะใหญ่ เช่น เกาะชวา และเกาะสุมาตรา เป็นต้น
อังกฤษ เองก็เคยเข้ามาครอบครองอินโดนีเซียในระยะสั้น ๆ ประมาณ 5-6 ปี แล้วจากนั้นก็ถอยออกไป แต่อิทธิพลของอังกฤษมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบันจึงเป็นผลผลิตของการนำเอาระบบกฎหมายหลายแหล่งที่มา เข้ามาใช้ในเขตอำนาจที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่แล้ว ถือว่าตนเองได้รับอิทธิพลของประมวลกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์มากกว่ากฎหมายแบบอื่น ๆ กฎหมายที่นำมาใช้ในครั้งแรก คือ กฎหมายแพ่ง ซึ่งนำมาใช้เมื่อปี 1847 และกฎหมายพาณิชย์ก็นำมาใช้ในเวลาไล่เลี่ยกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการยุติธรรมยังได้ลอกแบบของประเทศเนเธอร์แลนด์เข้ามาใช้ รวมทั้งกระบวนพิจารณาก็เลียนแบบมาจากศาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายแบบของภาคพื้นยุโรป และกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรม เป็นกระบวนการแบบใต่สวน มากกว่ากระบวนการกล่าวหาแบบของอังกฤษ
นับแต่การต่อสู้เพื่อเอกราช จนสำเร็จในปี ค.ศ. 1945 และสถาปนารัฐในรูปแบบสหรัฐในครั้งแรกเริ่ม อินโดนีเซียได้พัฒนาต่อยอดกฎหมายดัตช์เรื่อยมา นับได้ว่าเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีระบบกฎหมายหลายรูปแบบ และมีความสลับซับซ้อนอยู่มาก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ความเข้าใจผิดของอดีตที่เกิดจากอิทธิพลยุคล่าอาณานิคม
-รู้จักประวัติ 'กือราเซา' เต็งแชมป์ศึกคิงส์คัพ
-ศึกเนเธอร์แลนด์ - สเปน : ศึก Total Football - Tiki
-บาดเจ็บ14คนเหตุ'ทอร์นาโดแฝด'ถล่มยุโรป