10 ทักษะมีไว้อยู่รอดในโลกดิจิทัล
หมดยุคแล้วสำหรับการวิ่งตามความฝันของผู้อื่น หรือการเลียนแบบผู้อื่น เพราะผู้ที่จะอยู่รอดได้ในโลกอนาคตได้นั้น ต้องคิดต่าง ทำต่าง และที่สำคัญต้องสร้างคุณภาพด้วยตนเอง
โลกที่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบทในชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent :AI) สร้างผลกระทบเกิดขึ้นกับคน แรงงานมนุษย์ เมื่อ AI สามารถเข้ามาทำงานทดแทนทักษะบางอย่างของมนุษย์ได้ สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต หรือDPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงได้มีศึกษาวิจัย เพื่อค้นหาทักษะสำหรับแรงงานในอนาคตของไทย
จากการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร และวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกทั้งปัจจัยด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านกฎหมาย สรุปผลการศึกษาวิจัย พบว่า 10 ทักษะสำหรับแรงงานไทยในอนาคตที่ต้องมี เพราะหากไม่มี นอกจากประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้แล้ว แรงงานไทยอาจจะถูกแทนที่ด้วย AI อีกด้วย
ได้แก่ 1. Creativity ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจเทคโนโลยี มีทักษะด้านอารมณ์ (soft skills) ทักษะที่ AI ไม่มีทางสู้มนุษย์ได้ 2.การใช้เครื่องมือทางด้านดิจิทัล รู้จักใช้ AI โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรม 3.Quantitative analytical and statistical skill จะใช้AI ต้องมีความรู้พื้นฐานและมีข้อมูล 4.Mind set การเตรียมพร้อมในการปรับตัว 5.People Management Skill รู้จักการทำงานเป็นทีมและการบริหารจัดการคน
6.Coding ฝึกLogic ในการคิดระบบ กระบวนการคิด7.Biotech Literacy วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการเคลื่อนไหว 8.Data Skill ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ 9.Internationalization ทักษะในการมองโลก เห็นโลกและทำความเข้าใจกับโลก และ10.Digital Footprint เข้าใจและตระหนักในการบันทึกอะไรไว้ในDigital
นายพณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวในงานเสวนางานวิจัยภายใต้หัวข้อ“SKILL SET FOR FUTURE WORKFORCE IN THAILAND” ว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเข้าสู่อนาคต เพราะต้องสอนนักศึกษา คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะไปสู่โลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา งานวิจัยที่ทางทีมวิจัยทำการศึกษาค้นคว้านั้น เพื่อต้องการรู้ว่าทักษะที่คนในอนาคตต้องมีคืออะไรบ้าง และทักษะเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้มหาวิทยาลัย อาจารย์ไปออกแบบหลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์ในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะพร้อมในอีก4 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยมีการพูดถึงวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ชีวิตของคนเราไม่ได้มีเฉพาะวิทยาศาสตร์ นักวิจัยนักวิทยาศาสตร์เวลาทำวิจัยก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับนักเขียนที่ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ทุกอาชีพต้องมีความพื้นฐานของอาชีพตนเอง และต้องมีทักษะด้านอื่นๆ เสริมด้วยเช่นกัน ข้อมูลวิจัย เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะสะท้อนให้นักศึกษาและอาจารย์ได้รับรู้และชวนกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น
เช่น อาจารย์คณะต่างๆจะได้เอานำข้อมูลไปออกแบบในหลักสูตร วิชาต่างๆ เพื่อทำให้เด็กมีทักษะในอนาคต ขณะเดียวกันเด็กจะได้รู้ว่าอาชีพที่เขาสนใจอยู่ในขณะนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร เขาต้องปรับตัว และตระหนักว่าต้องใฝ่รู้หรือเพิ่มเติมความรู้อะไร เพื่อสร้างตนเองให้มีคุณภาพในอนาคต การถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในขณะนี้ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งผลงานวิจัยนอกจากเป็นแนวทางในการปรับหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญ คือการทำให้นักศึกษาตระหนักและเปลี่ยนแปลงตัวเอง
“การจะทำให้คนรุ่นใหม่มี 10 ทักษะแรงงานในอนาคต ต้องเกิดจากการปรับหลักสูตรและนักศึกษาต้องปรับตัว เพราะการเรียนการสอนทุกวันนี้ต้องเป็นเรื่องของเด็ก ไม่ใช่เป็นเพียงภารกิจของหลักสูตรที่ป้อนให้อย่างเดียว เด็กต้องสร้างสรรค์ตัวเองให้เป็นคนคุณภาพ โลกปัจจุบันทุกประเทศแข่งขันกันด้วยจำนวนคนที่มีคุณภาพพร้อมรับมือกับโลกที่ AI กำลังเข้ามา จะอยู่ในโลกอนาคตโดยคาดหวังว่าให้คนมาบอกว่าคุณต้องทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่คนรุ่นใหม่ต้องลุกขึ้นมาบอกว่าตนเองจะอยู่และจะทำอะไรเพื่อพัฒนาคุณภาพของตัวเอง เด็กยุคนี้ต้องตั้งคำถาม และต้องเริ่มสร้างสรรค์คุณภาพตนเอง”ผู้อำนวยการDPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) กล่าว
น.ส.วิลาวัณย์ จันทร์ใบเล็ก นักศึกษาปี 4 สาขาการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มธบ. กล่าวว่า AI สามารถเข้ามาแทนที่อาชีพนักแสดงได้ เพราะหากป่วยสามารถตัดต่อหน้าของคนไปใส่ในระบบAI ได้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากต่ออาชีพนักแสดง ดังนั้น ทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องมี เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้และต้องเตรียมพร้อมตนเองให้มีทักษะเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างความตระหนักในการรับมือกับ AI ที่ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องราว AI มากขึ้น อะไรที่AI ทำแทนคนไม่ได้ คนต้องมีทักษะเหล่านั้น และต้องเข้าใจ รู้จักใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ต่ออาชีพของเรา
นายชลธิติ ศรีกัลยานุกูล นักศึกษาปี 1 วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มธบ. กล่าวว่าทุกอาชีพล้วนมีโอกาสที่ AI จะมาแทนที่ ซึ่งในส่วนวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ เมื่อจบออกมาสามารถทำงานได้หลากหลาย อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลด้านสุขภาพให้แก่ผู้คน หรือเป็นเชฟทำอาหารที่มีความรู้ด้านการแพทย์ แต่ตอนนี้มี AI ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้น จึงไม่แน่ใจว่าเมื่อจบไปจะสามารถทำงานด้านนี้ได้หรือไม่
ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้มุมมองความคิดเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเป็นนักผลิตอาหารแบบAI แต่เป็นผู้สร้างสรรค์อาหารสุขภาพเน้นเรื่องคุณภาพให้เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละคน และรสมือในการทำอาหารและรสชาติที่ทุกคนต้องการแตกต่างกัน ดังนั้น คนสามารถปรับรสชาติ ปรับอาหารให้เหมาะสมกับผู้บริโภคได้ แต่ AI ทำไม่ได้ การทำงานของผู้คนในอนาคตจะต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ คิดแตกต่าง และรู้จัก AI เป็นผู้ควบคุมใช้ประโยชน์จาก AI
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'แบงก์ดิจิทัล' สิงคโปร์ 'ผู้บริโภค' มีแต่ได้
-นับถอยหลังสู่ยุคดิจิทัล
-ดิจิทัลทำคนรุ่นใหม่ไม่ตกงาน
-ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล