ผลพวงสงครามการค้าฉุดเศรษฐกิจเอเชียซึมยาว
ผลพวงสงครามการค้าฉุดเศรษฐกิจเอเชียซึมยาว ขณะเศรษฐกิจหลายประเทศในอาเซียนขยายตัวต่ำกว่าคาด
ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 42 คนในอินเดีย และใน5ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จัดทำโดยศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและนิกเคอิ ในช่วงวันที่ 6 ก.ย.-26 ก.ย. บ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในเอเชียเริ่มหม่นหมองลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่สหรัฐเปิดศึกการค้ากับจีน เมื่อเดือนมีนาคมปี 2561
ผลพวงจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ปริมาณการค้าของแต่ละประเทศทั่วภูมิภาคปรับตัวลดลงและมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2562 ของ 5 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง 0.2% เหลือขยายตัวที่ 4.1% ถือเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่5นับตั้งแต่จัดทำผลสำรวจเมื่อเดือนกันยายน ปี 2561 พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปีงบประมาณ 2562-2563 จะลดลง 0.8% เป็น 6.1% ถือเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 4 ไตรมาส
ขณะที่ กรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังคงดำเนินต่อไปและถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุด ก็ปรากฏว่าเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่จะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน นั่นคือ กระแสเงินทุนไหลออก และความท้าทายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ต่างให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองและราคาน้ำมัน เมื่อมีสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากเกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ตึงเครียดล่าสุด เมื่อตุรกี เริ่มปฏิบัติการทางทหารโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียเมื่อวันพุธ(9ต.ค.) โดยมีการโจมตีทางอากาศต่อเมืองราส อัล บิน ซึ่งอยู่บริเวณชายแดนของตุรกี
นายเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศเริ่มปฏิบัติการโจมตีโดยมีวัตถุประสงค์ต้องการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายตามชายแดนทางใต้ของตุรกี แต่กองกำลังประชาธิปไตยแห่งซีเรีย (เอสดีเอฟ) ซึ่งนำโดยกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด แถลงว่า เครื่องบินรบของตุรกีได้โจมตีบริเวณที่อยู่อาศัยของพลเรือน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชน
ส่วนสงครามการค้า สหรัฐและจีน จะเจรจาการค้าในระดับรัฐมนตรีในวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน โดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นผู้นำคณะเจรจาการค้าของจีน ขณะที่ฝ่ายสหรัฐนำโดยนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์)
เจ้าหน้าที่จีนไม่ต้องการทำข้อตกลงการค้าในวงกว้างตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องการ โดยนายหลิว เหอ กล่าวว่า ข้อเสนอของเขาต่อทางสหรัฐจะไม่รวมถึงคำมั่นสัญญาของรัฐบาลจีนในการปฏิรูปนโยบายอุตสาหกรรม หรือการให้เงินอุดหนุนของภาครัฐ
ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า จีนพร้อมที่จะหารือเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าบางส่วนกับสหรัฐ โดยเจ้าหน้าที่จีนรายหนึ่ง กล่าวว่า จีนพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้า ตราบใดที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้เพิ่มการจัดเก็บภาษีต่อจีน ซึ่งรวมถึงแผนการเพิ่มอัตราภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนที่มีกำหนดในเดือนนี้ และเดือนธ.ค.
บลูมเบิร์กยังรายงานด้วยว่า จีนจะเสนอซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐเป็นการตอบแทน
ผลสำรวจชิ้นนี้ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในปี2562 จะเติบโตที่อัตรา 4.1% ต่ำกว่าการสำรวจความเห็นครั้งที่แล้วคือเมื่อเดือนมิถุนายน ปี2561 ประมาณ 0.9% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มองแง่ลบนั้นหลักๆคือ เศรษฐกิจของประเทศไทย และสิงคโปร์ ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะลดลง 0.4% เป็นขยายตัวที่อัตรา 2.9% โตต่ำกว่า3% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คือสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยลดลง ขณะที่บรรดานักลงทุนมีแนวโน้มที่จะชะลอการลงทุนออกไปก่อนท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอน
ส่วนสิงคโปร์ คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้จะต่ำกว่า 1% เพราะการส่งออกลดลงอย่างฮวบฮาบ และคาดว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ต่อไป ทำให้หมดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจของสิงคโปร์สดใสกว่านี้
ขณะที่มาเลเซีย คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 0.1% เป็น 4.5% แต่คาดการณ์ว่า ในปี2563 และ2564 เศรษฐกิจของมาเลเซียจะชะลอตัวลง จากปัจจัยภายนอก ซึ่งรวมถึง สงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่จะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย
หันมามองฟิลิปปินส์ รายงานชิ้นนี้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจแดนตากาล็อกในปี2562 จะชะลอตัวลง 0.4% อยู่ที่ 5.8%เพราะผลพวงจากการชะลอการลงทุนด้านสาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปี แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ความต้องการภายในประเทศของฟิลิปปินส์ยังคงทรงตัวก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ลดดอกเบี้ยและภาครัฐเริ่มกลับมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ
ส่วนอินโดนีเซียนั้น รายงานวิจัยชิ้นนี้ คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยนแปลงคืออยู่ที่ 5.1% จากการสำรวจครั้งก่อน ความต้องการในประเทศของอินโดนีเซีย ยังคงแข็งแกร่ง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกกดดันเนื่องจากการส่งออกลดลงและราคาโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่อินเดีย คาดว่าปี 2562-2563 จะเติบโตลดลงเหลือ 6.1% เพราะการบริโภคภายในประเทศลดลง ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก คือการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุน และบรรยากาศการดำเนินธุรกิจ