รัฐทุ่มงบดูแลความมั่นคง จัดซื้ออาวุธเพิ่ม‘4พันล้าน’
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง วงเงิน 428,219.2 ล้านบาท หรือ 13.4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 เมื่อสำรวจภารกิจความมั่นคงในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พบ ก.กลาโหม ได้งบเพิ่ม 6.2 พันล้าน มีสัดส่วนซื้ออาวุธเพิ่มของเหล่าทัพรวม4 พันล้าน
ทำให้ประเด็นในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระแรก ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค.2562นี้ พรรคฝ่ายค้านได้ประกาศจุดยืนว่า จะเน้นอภิปรายงบประมาณด้านความมั่นคงของรัฐบาล เนื่องจากพบว่ามีการของบเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2562โดยเฉพาะงบของกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับการจัดสรร 233,353,433,300 บาท เพิ่มจากปี 2562 กว่า 6,226,867,700 บาท เช่นเดียวกระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรร 353,007,432,600 บาท เพิ่มจากปี 2562 กว่า 25,264,762,300 บาท ทำให้ฝ่ายค้านเตรียมคลี่รายละเอียดให้เห็น
สำหรับงบกระทรวงกลาโหม 233,353,433,300บาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดฯ10,063,236,100 บาท เพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท แผนงานบุคลากรภาครัฐ 3,986,593,000 บาท เพิ่มขึ้น 114ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 3,064,474,600 บาท เพิ่มขึ้น 213ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 23,505,000 บาท ลดลง1.7 ล้านบาท
แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 1,376,083,200 บาท ลดลง 56 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 120,250,500 บาท ลดลง 18ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคง 1,469,541,100 บาท เพิ่มขึ้น 36ล้านบาท แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 16,363,500 บาท ลดลงเล็กน้อย
ขณะที่กองทัพบกได้รับการจัดสรร 113,677,434,900 เพิ่มขึ้นจากปี 2562จำนวน 2.3 พันล้านบาท แบ่งเป็น แผนงานบุคลากร59,728,604,500 บาท ลดลง 934ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 15,930,508,600 บาท เพิ่มขึ้น 2.6 พันล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 336ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30ล้านบาทส่วนแผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศเท่าเดิม
แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 32,960,281,200 บาท เพิ่มขึ้น 536 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง 3,659,293,500 บาท เพิ่มขึ้น 10ล้านบาทแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 789,887,100 บาท เพิ่มขึ้น 65 ล้านบาท
ส่วนกองทัพเรือได้รับการจัดสรร 47,277,902,000 บาท เพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านบาท แบ่งเป็น แผนงานบุคลากรภาครัฐ 20,484,747,700 บาท ลดลง 252ล้านบาทแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 4,887,476,500 บาท เพิ่มขึ้น 833 ล้านบาท แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 50,552,500 บาท เพิ่มขึ้น 23ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 7.8 ล้านบาท เท่าเดิม
แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการปัองกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 20,002,687,700 เพิ่มขึ้น 938ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 290,943,900 บาท ลดลง 16ล้านบาท และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 799,080,800 บาท เพิ่มขึ้น 281ล้านบาท
สำหรับกองทัพอากาศได้รับการจัดสรร 42,882,834,500 บาท เพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านบาท โดยแผนงานที่ได้รับงบเพิ่มขึ้น อาทิแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 5,180,635,700 บาท เพิ่มขึ้น 403 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 41,310,000 บาท เพิ่มขึ้น 17ล้านบาทแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 24,411,134,700 บาท เพิ่มขึ้น 947 ล้านบาท
ขณะที่งบกองบัญชาการกองทัพไทย 17,912,107,200 บาท มีเพียงแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 9,176,976,500 บาท ที่ได้เพิ่มขึ้น 818 ล้านบาท และอีก 1 หน่วยงานคือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ1,252,940,500 บาท เพิ่มขึ้น 13ล้านบาท
ในส่วนงบประมาณแผนงานบุคลากรภาครัฐของกระทรวงกลาโหม ถูกปรับลดทุกหน่วยงาน สวนทางกับงบฯ แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง หรืองบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น 213 ล้านบาท
กองทัพบก ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 2,650,320,600 บาท กองทัพเรือเพิ่มขึ้น 833ล้านบาท กองทัพอากาศเพิ่มขึ้น 403ล้านบาท ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยลดลง 88ล้านบาททำให้ในการจัดสรรงบฯปี 2563 กองทัพมีงบฯ จัดซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น4,014,209,000 บาท
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยที่ได้รับจัดสรร 353,007,432,000 บาท เพิ่มขึ้น 2.5 หมื่นล้านบาท ยังถูกนำมาผูกโยงกับงบด้านความมั่นคงด้วย อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 42,736,600 บาท ลดลง 17ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 32,536,000 บาท ลดลง 2.4 ล้านบาท
กรมการปกครอง แบ่งเป็น แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ 2,629,065,300 บาท เพิ่มขึ้น 118ล้านบาทแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคง 46,062,400 บาท เพิ่มขึ้น 1.06 ล้านบาทแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,009,227,400 บาท เพิ่มขึ้น 167ล้านบาท
ขณะเดียวกันงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี ยังมีงบที่ผูกโยงกับความมั่นคงเช่นกัน แบ่งเป็น สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 674,341,800 บาท ลดลง 43ล้านบาท สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 292,876,900 บาท ลดลง 2.4 ล้านบาทโดยมี 2 หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 888,717,600 บาทและสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง 68,552,100 บาท
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) 122,801,083,300 บาท เพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาท โดยมีแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและแผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศที่ได้รับงบเพิ่มขึ้น โดยที่ตร.เป็นเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ได้รับงบด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มเติม และไม่ถูกปรับลด แต่มีการเพิ่มงบทุกแผนงาน
นายวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับภาระกิจความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม ที่แต่ละปีกระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องประเมินการรักษาดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีงบประมาณมากในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะมาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ได้รับงบประมาณที่ค่อยข้างสูง ซึ่งจุดนี้เองที่กองทัพมองเป็นประเด็นในการรักษาอำนาจอธิปไตย หากปล่อยให้ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านมียุทโธปกรณ์ที่มีศักยภาพ เทคโนโลยีที่เหนือกว่า เช่น เครื่องบินสเตลท์ที่สามารถขับผ่านน่านฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นเรื่องอันตรายเพราะอาจถูกล่วงรู้พิกัดทางยุทธศาสตร์จนเสี่ยงต่อการคุกคามอำนาจอธิปไตยได้
ประการต่อมา รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ระบุให้รัฐต้องส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ด้านข่าวกรอง และด้านการต่างประเทศ ทำให้กองทัพจึงใช้เป็นช่องทางในการประพฤติต่อการจัดสรรงบประมาณตามกรอบงบประมาณในแต่ละปี
แต่การรักษาดุลอำนาจในภูมิภาค เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตย เป็นประเด็นที่สังคมยังไม่เปิดมุมมองถึงความจำเป็นของกองทัพในประเด็นนี้ เกิดเป็นความไม่สบายใจกับการมีงบประมาณจำนวนมากหมดไปกับการจัดซื้ออาวุธเพื่อพัฒนาภาระกิจความมั่นคงของกระทรวงโหม ซึ่งผมเชื่อว่า รัฐบาลเองก็ทราบแรงกดดันจากประชาชนเช่นกัน
นายวันวิชิต กล่าวถึงความเห็นจากสังคมว่า การงบประมาณของกองทัพไปพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นความจำเป็น ก็ใช่ แต่งบจะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งของงบประมาณกองทัพทีไ่ด้รับจัดสรร มีการนำไปใช้พัฒนากำลังพล เช่น ทหารเกณฑ์ ที่่ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นตลาดแรงงาน หรือภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับแรงงานที่มีขีดความสามารถ หลังจากทหารเกณฑ์เหล่านี้ปลดประจำการ
ที่ผ่านมา กองทัพไม่มีการชี้แจงให้สังคมได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณ อาจเนื่องจากการชี้แจงอาจเป็นการเปิดโจทย์ให้เกิดฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้น จากการสร้างอารมณ์ สร้างวาทะกรรม จึงเลือกที่จะน้อมรับเสียงวิจารณ์จากสังคม
ผมเชื่อว่า กองทัพพยายามตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น โดยยุคนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่หลายหน่วยงานของกองทัพปรับขนาดโครงสร้างองค์กร จึงต้องใช้งบประมาณเพื่อเตรียมการดังกล่าว แต่ผมไม่อาจรับประกันว่า งบประมาณจะลดลงเมื่อใด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน มีสายสัมพันธ์ที่โน้มเอียงไปในทางเข้าใจกับการจัดสรรงบให้แก่กองทัพ ขณะเดียวกันก็เห็นชัดว่า งบประมาณในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในแง่การเพิ่มขึ้นของงบการศึกษาและสาธารณสุขนั้น สามารถสร้างอำนาจให้กับฝ่ายการเมืองได้มากกว่างบกองทัพ และในทางกลับกัน การเพิ่มงบกองทัพก็ไม่สร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง นั่นจึงเป็นความแตกต่างและเป็นอีกเหตุผลของที่มาของเสียงวิจารณ์งบกองทัพ
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะระบุชัดว่า การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ จะต้องใช้เวลานานเท่าใด แม้รัฐบาลจะมียุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้ต้องประเมินทุก 5 ปี เนื่องจากการจัดซื้อของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกัน มักไม่จัดซื้อจากเอกชน หรือตัวแทนในรายเดียวกัน เพื่อป้องกันการรับรู้ข้อมูลทางเทคนิคของแต่ละฝ่าย เช่น มาเลเซีย จัดซื้อเครื่องบินมิกซ์ จากฝ่ายรัสเซีย ส่วนไทย จัดซื้อเครื่องบินกริพเพน จากสวีเดน
แต่สิ่งสำคัญตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการพัฒนาขีดความสามารถ ที่จะต้องส่งเสริมให้ประเทศมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาทำได้มากน้อยเพียงใด