“แพทยศาสตร์” ทรานสฟอร์ม พลิกโฉม....เข้าสู่ยุค “ตัวพาย”

“แพทยศาสตร์” ทรานสฟอร์ม พลิกโฉม....เข้าสู่ยุค “ตัวพาย”

เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น ท้าทายให้โรงเรียนผลิตแพทย์ต้อง ทรานสฟอร์ม จากแพทย์เฉพาะทางแบบเดิม สู่ "ยุคตัวพาย" รู้ลึกมากกว่า 1 ศาสตร์

เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคย โรคก็เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นเดียวกันทั้งลักษณะการเจ็บไข้ เชื้อโรค เทคโนโลยีทางการแพทย์ และศาสตร์การดูแลโรคภัยไข้เจ็บ ล้วนสร้างความท้าทายให้กับสถาบันการผลิตแพทย์ของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนแพทย์จะต้องปรับตัวให้ทันในยุค Digital Transformation เพื่อรองรับโจทย์ระบบการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงและภาวะความต้องการด้านสุขภาพในอนาคต

157123135993

ส่งผลให้หลายสถาบันต้อง “ทรานสฟอร์ม” หลักสูตรแพทยศาสตร์ใหม่ ปัจจุบันมีคณะแพทยศาสตร์ที่ผ่านการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภา จำนวน 23 แห่ง สังกัดรัฐบาล 21 แห่ง และเอกชน 2 แห่ง ผลิตบัณฑิตแพทย์ใหม่ให้กับประเทศปีละกว่า 2,000 คน จำนวนแพทย์ทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ 58,490 ราย ตามที่อยู่กทม. 27,511 คน ตามที่อยู่ต่างจังหวัด 28,252 คน อยู่ต่างประเทศ 465 คน และไม่ทราบที่อยู่ 2,262 คน

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะโรงเรียนแพทยแห่งแรกของประเทศไทย ให้มุมมองว่าขณะนี้อยู่ในช่วงที่โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย กำลังปรับปรุงหลักสูตร เนื่องจากโจทย์ที่เปลี่ยนไป โจทย์ในวันนี้ไม่ใช่เพียงผลิตแพทย์ 1 คนแล้วดูคนไข้ด้วยศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องสามารถเติมเต็มด้วยศาสตร์อื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ รูปแบบเดิม การผลิตแพทย์เป็นรูปตัวไอ คือ รู้ลึกลงไปเรื่อยๆเป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่อมาเป็นรูปตัวที คือ รู้ลึกแต่ต้องรู้กว้างด้วย เพราะการเจ็บไข้ได้ป่วยจะสัมพันธ์กับมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ

157123146062

แต่ปัจจุบันต้องเป็นรูปตัวพาย คือมีความรู้ในแนวนอน และมีแนวตั้งที่มีขาลงมามากกว่า 1 ขา เช่น แพทย์อาจจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยคนไข้ อาทิ คนไข้เดินไม่ได้ แม้ทานยาแล้วก็ยังเดินไม่ได้ แต่อาจจะมีเทคโนโลยีบางอย่างช่วยให้คนไข้เดินได้ หากแพทย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าแพทย์จะดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยีเอไอ หรือ การรู้บริบทนิสัยคนไข้แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับคนไข้ การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ( Data Science) รวมทั้ง ระบบการดูแลสุขภาพ เข้ามาช่วย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เริ่มบรรจุเข้าไปในหลักสูตรช่วงที่เรียกว่า อิเล็กทริกพีเรียด (Electric Period) ขณะที่บางหลักสูตรเริ่มจัดเป็นโปรแกรมร่วม เช่น เรียนแพทย์แล้วขยายเวลาเรียนอีก 1 ปี แต่นักศึกษาจะได้รับ 2 ปริญญา เพราะต้องการให้รู้ลึกในอีก 1 ปริญญาด้วย และเชื่อว่า 2 ปริญญาที่มารวมกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือคุณภาพชีวิตของคนไข้ที่จะดีขึ้น

157123135923

สำหรับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ จะยังคงมีหลักสูตร 6 ปีเหมือนเดิม แต่ใน 6 ปีนี้จะมีช่วงที่ให้นักศึกษาเลือกในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันคนที่สนใจแล้วมาเข้าในหลักสูตร 6+1 โดย 1 ปีที่เพิ่มขึ้น นักศึกษาจะออกจากศิริราช เพื่อไปเรียนในอีกคณะ เก็บหน่วยกิตจนครบหมดทุกอย่าง และจะได้รับอีก 1 ปริญญา เมื่อกลับมาดูคนไข้ในช่วงปีที่ 3-6ของหลักสูตรแพทย์ จะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้มองเห็นมุมบางอย่าง ให้อยากสร้างอะไรใหม่ๆ เพื่อคนไข้ เชื่อว่านักศึกษาจะเห็นคนไข้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเห็นโจทย์บางอย่าง จะทำให้ได้แพทย์อีกแบบหนึ่งทันทีที่จบ

“ในภาพรวมการผลิตแพทย์ต่อไปในอนาคตของโลกไปนี้ คงต้องการแพทย์ที่เก่งมากกว่า 1 ศาสตร์ เพื่อมาตอบโจทย์ของคนไข้ได้ดีขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

เหนือสิ่งอื่นใด ศ.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่า คู่ขนานกันไปที่จะต้องไม่หลุดจากการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ คือ คุณธรรม จริยธรรมของแพทย์ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ยิ่งเทคโนโลยีสูงขึ้นเท่าไหร่ ต้องระวังไม่ให้แพทย์ห่างไกลคนไข้ แม้จะมีการปรับหลักสูตร แต่จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่จะต้องปลูกฝังคู่ขนานกันไป

ขณะที่ รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นโยบายการศึกษาและระบบการศึกาาในศตวรรษล้วน สนับสนุนให้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นในระบบการเรียนการสอนมากขึ้น ตอบสนองต่อการใช้งานบัณฑิตในอนาคต ในส่วนของวิชาชีพแพทย์ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้สอดคล้องกับอนาคตเช่นกัน ซึ่งหากมองระบบสาธารณสุขไทยในปัจจบัน ที่จะมีการขับเคลื่อนให้มีแพทย์ในระดับต่างๆของระบบสาธารณสุขตั้งแต่ระดับตติยภูมิที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้บริการโรคที่ซับซ้อน จนถึงระดับปฐมภูมิที่ต้องการศักยภาพของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่อยู่ดูแลในระดับชุมชน

157123135950

จึงต้องผลิตแพทย์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แพทย์ที่จะทำงานในชุมชน และแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต้องมีความรู้ลึกเฉพาะทาง ประกอบกับการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆมาประกอบการดูแลคนไข้ ในส่วนนี้อาจจะจำเป็นต้องใช้ความรู้ 2 ส่วนมาซ้อนทับกัน คือ แพทย์และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น ยีนส์ หรือนวัตกรรมการศึกษาแพทยศาสตร์ในอนาคตจะมีความหลากหลายมากขึ้น จากการปรับปรุงหลักสูตรแพทย์ อย่างเช่น บางโรงเรียนแพทย์อาจจะตั้งพันธกิจของตนเองในการผลิตแพทย์ ตอบสนองความต้องการของแต่ละมหาวิทยาลัยและประเทศ

ขณะที่โรงเรียนแพทย์ส่วนกลาง อาจจะมุ่งผลิตแพทย์ที่เป็นนักวิจัย นวัตกรหรือผู้บริหารร่วมด้วย ซึ่งในการปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ จะต้องดำเนินการทุก 5 ปี สำหรับปีการศึกษา 2563 ได้มีการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ยังเป็นหลักสูตรแบบเดิมแต่มีการปรับปรุงในเนื้อหาการเรียนการสอน ให้นักศึกษามีอิสระในการเลือกเรียนมากขึ้นแตกต่างกัน แต่แก่นของความรู้ความสามารถขั้นต้นที่แพทยสภากำหนดทุกมหาวิทยาลัยยังคงไว้เหมือนเดิมและผู้สำเร็จการศึกษาจะต้องสอบวัดระดับความรู้วามสามารถผ่านตามเกณฑ์แพทยสภาจึงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม

“อนาคตจะมีแพทย์ที่เก่งหลายๆสาขา ไม่เพียงแต่เป็นแพทย์ที่สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดเป็นแพทย์ที่รักษาในชุมชนห่างไกล แพทย์ที่เป็นผู้บริหารสาธารณสุข และแพทย์นักวิจัย“ รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

157123135944

อย่างไรก็ตาม รศ.พญ.ประสบศรี แนะนำว่า สำหรับผู้ต้องสนใจจะเรียนคณะแพทยศาสตร์ ควรตัดสินใจว่าจะเรียนที่ไหน ไม่ใช่พิจารณาเพียงแต่คะแนนสอบที่จะสอบได้เท่านั้น แต่จะต้องมองให้ลึดด้วยว่าโรงเรียนแพทย์แห่งนั้น มีพันธกิจที่จะฟูมฟักนักศึกษาแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางไหน และสอดคล้องกับความต้องการเป็นแพทย์ของตนหรือไม่