เปิดโผหุ้นเด่นรับ'คิวอี' คาดดัชนีหุ้นไทยทะลุ1,700จุด
โบรกฯประเมินเงินทุนไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนา หลัง“ไอเอ็มเอฟ” ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ส่งผลหลายประเทศต้องใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือคิวอี ลุ้นตลาดหุ้นไทยรับอานิสงส์ ช่วยดันดัชนีกลับไปยืนเหนือ 1,700 จุดในสิ้นปีนี้ แนะลงทุน5 หุ้นปันผลเด่น
จากกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลง เหลือ 3% จากเดิม 3.2% เป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 ส่วนปี 2563 คาดเติบโต 3.4% ลดลงจากเดิมที่คาดเติบโต 3.5% พร้อมปรับลดปริมาณการค้าโลกปี 2562 เหลือเพียง 1.1% และปี 2563 ขยายตัวเหลือ 3.2% จากเดิมที่คาด 2.5% และ 3.7% ตามลำดับ ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบวงกว้าง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการปล่อยก๊าซของภาคยานยนต์ในยุโรป และความไม่แน่นอนของเบร็กซิทเป็นต้น
ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส ประเมินว่า การปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ IMF ในครั้งนี้ สะท้อนความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในอนาคต ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการคลัง เช่น การลดภาษี หรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หากยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้กระแสเงินลงทุนมีโอกาสโยกย้ายจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะถัดไปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยด้วย
แต่บางประเทศมีข้อจำกัด เช่น เผชิญปัญหาหนี้สูง หรืองบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้หลายประเทศจะยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินมากกว่า เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) หรือ การพิมพ์เงินเพื่อซื้อตราสารทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือสินทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กลับมาใช้มาตรการซื้อพันธบัตร (QE) อีกครั้งในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เช่นเดียวกับสหรัฐที่ประกาศจะเริ่มเข้าซื้อตั๋วเงินคลังระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี วงเงินรวม 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน มีผลตั้งแต่15 ต.ค.นี้ไปจนถึงไตรมาส 2 ปี2563 หรือญี่ปุ่นก็ใช้นโยบาย QE เดือนละ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
ฝ่ายวิจัยประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทย( SET) ผ่านส่วนต่างผลตอบแทนจากตลาดทุนกับตลาดตราสารหนี้ หรือ Market Earning Yield Gap ที่กว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.7% บวกกับหากมีกระแสเงินลงทุนช่วยหนุน คาดว่าส่วนต่างผลตอบแทนจากตลาดทุนกับตราสารหนี้จะกลับมาซื้อขายที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 4.28% สามารถคำนวณเป็นค่า P/E ที่เหมาะสมได้ 17.6 เท่า จะหนุนให้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2562 ขยับขึ้นเป็น 1,771 จุด จากเดิมที่ 1,655 จุด
กลยุทธ์การลงทุนในสถานการณ์เช่นนี้ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าเป้าหมายระดับต้นๆ ของกระแสเงินลงทุนคือ หุ้นปันผลสูงโดยแนะนำ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ศุภาลัย (SPALI) เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (MAJOR)
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าธนาคารกลางแต่ละแห่งยังจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบัน 2% ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 1.5% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 6 พ.ย. และ 18 ธ.ค. นี้ โดยให้น้ำหนักการประชุมรอบเดือน พ.ย.มากกว่า
สำหรับตลาดหุ้นของประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มากกว่าตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว โดยกรณีของตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันดัชนี SET ยังต่ำเมื่อเทียบจากจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี ถึง 6.93% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐต่ำกว่าจุดสูงสุดของดัชนีในรอบ 1 ปี เพียง 1.36%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-มาตรการคิวอีชุดใหม่ หนุนเงินร้อนช้อปตลาดหุ้น
-'อีซีบี' หั่นดอกเบี้ยฝาก-ฟื้นคิวอี
-อีซีบีส่งสัญญาณทำคิวอีครั้งใหญ่
-คิวอีของสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับคิวอีของอีซีบีและญี่ปุ่น