'7 ข้อควรรู้' งบประมาณ ปี 2563
งบปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท คัดมา "7 ข้อควรรู้" เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณที่สภาฯกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้
สภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 อยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลเสนอวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท มี 7 ข้อน่าสนใจ ดังนี้
1. กำหนดบนสมมติฐานเศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัว 3.0-4.0% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่คาดว่าฟื้นตัวจากระบบการค้าโลกที่ปรับตัวได้จากมาตรการกีดกันการค้า รวมถึงการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น การลงทุนภาครัฐและเอกชน แต่เศรษฐกิจปีหน้ามีข้อจำกัดจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
2. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเสริมสร้างศักยภาพคน
3. ยุทธศาสตร์การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายสนับสนุนเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แบ่งเป็น 16 แผนงาน รวมวงเงิน 380,803 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.9% ของวงเงินงบประมาณ แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 กำหนดไว้ 406,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.5% ของวงเงินงบประมาณ
4. แผนงานบูรณาการด้านคมนาคมและโลจิสติกส์เป็นแผนงานที่ได้รับงบมากที่สุด 97,389 ล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาการขนส่งทางบก ราง อากาศและน้ำ เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์รองรับอุตสาหกรรม การค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาเป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 78,563 ล้านบาท แผนงานด้านยุทธศาสตร์สนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 78,150 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม 20,082 ล้านบาท ส่วนแผนงานอื่นได้รับงบลดหลั่นลงไป โดยแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ 17,000 ล้านบาท
5.เป้าหมายของการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ครอบคลุมด้านเกษตรจะส่งเสริมเกษตรชีวภาพ เกษตรอัตลักษณ์ เกษตรอัจฉริยะและเกษตรปลอดภัย ส่วนด้านอุตสาหกรรมจะส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์
ในขณะที่ ด้านท่องเที่ยวจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม รวมถึงการผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาอีอีซี และการพัฒนาการวิจัยนวัตกรรม
ไม่ห่วงงบเพิ่มขีดแข่งขันลดลง
6. การจัดงบประมาณ 2563 ตามยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีวงเงินลดลง แต่งบหลายด้านเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคน การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล การพัฒนาระบบราชการ การพัฒนาอีอีซี ดังนั้น งบประมาณส่วนอื่นก็ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน เพื่อให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการพัฒนาคนที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก ดังนั้นอย่าคิดแค่ประเด็นงบประมาณน้อยลงกว่าปีที่แล้ว
7.รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการมาดูเรื่องการจัดอันดับขีดความสามารถไทยขององค์กรระดับโลก เช่น World Economic Forum (WEF) สถาบัน IMD โดยยืนยันว่าการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยมาถูกทางแล้ว โดยดัชนีส่วนมากเพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่แย่ลงรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ปัญหา หลังจากอันดับของ WEF ปี 2562 ที่สำรวจ 141 ประเทศ พบว่าไทยลดลงจากที่ 38 ในปีก่อน มาอยู่ที่ 40 ในปีนี้ ไทยต้องเร่งทำคะแนนให้ดีขึ้นเพราะประเทศคู่แข่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นกว่าไทย ถ้าวิ่งช้าลงจะถูกแซงอีก โดยประเทศที่ขึ้นแซงไทยในปีนี้ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย เพิ่มจากปีก่อน 2.5 คะแนน และลิทัวเนียดีขึ้น 1.2 คะแนน แต่ไทยเพิ่มเพียง 0.6 คะแนน
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วงเงิน3.2 ล้านล้านบาท โดยงบลงทุนได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่นการคมนาคม โลจิสติกส์ ไอซีที เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้การวัดขีดความสามารถของประเทศจะใช้ตัวชี้วัดโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่ไทยอ่อนในส่วนนี้มาก ดังนั้นต้องตั้งงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนาซึ่งงบประมาณ ปี 2563 ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นในกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมีเป้าหมายเพื่อข้ามประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่มีรายได้สูง พร้อมปรับโครงสร้างจากสังคมอนาล็อกเป็นสังคมดิจิทัล