“ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า” จุดประกายทักษะชีวิตเยาวชน
"ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า" โดย ทีเอ็มบี พัฒนาศักยภาพ จุดประกายเยาวชน อายุระหว่าง 12-17 ปี เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ พัฒนาตัวเอง
ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ หากได้รับโอกาสในการพัฒนา นำมาซึ่งการสร้างศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า จุดประกายเยาวชนและชุมชน ทั้ง 5 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยทีเอ็มบี ในปี 2552 เพื่อปลูกฝังเยาวชนอายุ 12 – 17 ปี ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ พัฒนาทักษะชีวิต และนำสิ่งที่เรียนรู้คืนสู่ชุมชนและสังคม
"ศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า” ริเริ่มในปี 2552 โดย ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้สามารถเติบโตสู่สังคมได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน โดยมอบโอกาสให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 12 – 17 ปี ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ และพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต (Art & Life Skill) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้คืนสู่สังคม ชุมชน พร้อมจัดงาน FAI-FAH ART FEST อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ประดิพัทธ์ ประชาอุทิศ ถนนจันทร์ บางกอกน้อย และศูนย์ล่าสุดที่สมุทรปราการ มาแสดงผลงาน ความคิดสร้างสรรค์ ให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงพลังของเด็กที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
โดยภายในงาน FAI-FAH ART FEST 2019 ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เด็กธรรมดา...คือสิ่งที่สวยงาม” เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ แบ่งเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนแสดงผลงานศิลปะ โซนช้อปสินค้าจากเด็กไฟ-ฟ้าและชุมชน โซนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคม และโซนเวทีการแสดงความสามารถ พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่เยาวชนโครงการไฟ-ฟ้า ที่ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและทักษะอาชีพแขนงต่างๆ ที่สำเร็จหลักสูตรเป็นเวลา 3 ปี จำนวน 36 คน
นางกาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวภายในงาน “FAI-FAH ART FEST 2019 : เด็กธรรมดา คือ สิ่งที่สวยงาม” ณ ทีเอ็มบี สำนักงานใหญ่ ว่า เรามองว่าเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่ และมีเยาวชนด้อยโอกาสมากมายซึ่งอยู่ในชุมชนที่พ่อแม่รายได้ไม่สูง สภาพแวดล้อมไม่ดีมาก เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสในการพัฒนา หรือ ค้นหาความสามารถของตัวเอง เราจึงก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า แห่งแรกที่ประดิพัทธ์ โดยมีหลักสูตรให้เรียนราว 6 – 8 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น ศิลปะ ร้องเพลง เต้น ดนตรี ทำอาหาร กีฬา ฯลฯ
“มันคือการเปิดโลกให้เด็ก เด็กบางคนที่มาเรียนกับเราเขาไม่เคยเห็นสปาเก็ตตี้เลย ดังนั้น กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขามีไอดอลใหม่ๆ มีโลกทัศน์ใหม่ๆ จากเดิมที่เคยมองว่าคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ดูเท่ แต่พอได้มาเรียนเขารู้ว่าตัวเองสามารถทำอย่างอื่นได้ เช่น เต้น ดนตรี ฯลฯ และสิ่งที่เราปลูกฝังให้เด็ก คือ ต้องรู้จักให้ ไม่ใช่เป็นผู้รับอย่างเดียว ทุกปีเด็กจะต้องมีโปรเจคคืนสู่ชุมชน เช่น บางกอกน้อยทำแผนที่ท่องเที่ยวให้กับชุมชน เพราะการเป็นผู้ให้กับผู้รับ ความรู้สึกไม่เท่ากัน ไม่ต้องรวย ไม่ต้องรอเรียนจบ ก็สามารถเป็นผู้ให้ได้”
สำหรับเด็กที่สมัครเข้าในศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า สามารถเลือกเรียนได้ 2 หลักสูตร และต้องอยู่จนครบ 3 ปี จึงจะถือว่าสำเร็จหลักสูตร มีเด็กบางส่วนที่มีความจำเป็นทางบ้านต้องดรอปไว้ก็มีเช่นกัน แต่จากการสังเกตพบว่า เด็กที่อยู่กับเราครบ 3 ปี เขาจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เก่งขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น นอกจากเด็กที่เรียนในศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้าแล้ว ยังมีโครงการห้องสมุดไฟ-ฟ้า สำหรับเด็กเล็กอายุ 8-11 ปี รวมถึงยกกิจกรรมไฟ-ฟ้า ไปทำในโรงเรียนด้วย ดังนั้น ในแต่ละปีเราทำงานร่วมกับเด็กหลายแสนคน
“ปัจจุบัน ศูนย์ฯ ยังมีแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเรารับอายุ 12 – 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่หัวเลี้ยวหัวต่อ และจำกัดให้กับเด็กที่มีรายได้ครอบครัวไม่สูงมาก ต้องการเพิ่มศักยภาพตัวเอง เพราะหากมีรายได้สูงถึงปานกลางเราจะถือว่าพ่อแม่มีกำลัง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศ ส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในโครงการ FAI-FAH ART CONTEST เพื่อเป็นการสนับสนุนด้านศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย” นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังมีโครงการ FAI-FAH FOR COMMUNITIES สำหรับพนักงาน โดยในทุกๆ ปี ต้องทำ 40 โปรเจคร่วมกับชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านการสร้างอาชีพ สิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต ฯลฯ เช่น ร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา แปลงงานวาดจากศิลปะบำบัดของผู้ป่วยจิตเวชเป็นผลิตภัณฑ์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ใบเตย สอนชุมชนทำคุ้กกี้ เป็นต้น
“พนักงาน ต้องไปหาความต้องการของชุมชน โดยเรามีข้อกำหนดอยู่ว่าชุมชนที่จะลงไป ต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง หลังจากจบโปรเจคผู้นำชุมชนต้องสานต่อได้ เพราะเราไม่เน้นบริจาคเงินแต่เน้นสร้างองค์ความรู้ เราให้เงินตั้งต้นเล็กน้อย จากนั้นชุมชนต้องไปต่อจึงจะยั่งยืนและสามารถพึ่งพาตนเองได้” นางกาญจนา กล่าว
-----------------------------
ไฟ-ฟ้า เสริมทักษะชีวิต
-----------------------------
เฟิร์ส - ธนกฤต อินทร์ธรรม อายุ 16 ปี ชั้น ม.4 ร.ร.วัดสุทธิวราราม ซึ่งเข้าร่วมโครงการไฟ-ฟ้า ศูนย์ถนนจันทร์ เป็นเวลา 4 เดือน เล่าว่า ภายในศูนย์มีหลักสูตรให้เลือกเรียนมากมายตามความสนใจ เช่น หมวดเสริมความรู้วิชาการ หมวดดนตรี เต้นรำ และกีฬา หมวดศิลปกรรม สามารถเลือกเรียนได้คนละ 2 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรละ 3 ระดับ ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน โดยตนเลือกเรียนวาดภาพและวงดนตรี
“สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากการมาเรียนที่ศูนย์ฯ คือ การวาดรูป การจัดองค์ประกอบ วาดภาพเสมือน ซึ่งตามตลาดที่เขารับวาดราคาต่อรูป 500 – 700 บาท เป็นรายได้ที่ค่อนข้างดี และคุณแม่ก็เห็นด้วย จึงคิดว่าน่าจะสามารถหารายได้เสริมระหว่างเรียนและช่วงปิดเทอมได้ รวมถึงต่อยอดไปในอนาคตเป็นอาชีพได้ สำหรับหลักสูตร “วงดนตรี” เลือกเพราะส่วนตัวชอบร้องเพลง เคยไปประกวดตามเวทีต่างๆ และมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากจะมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง” ธนกฤต กล่าว
ด้าน นัฐภรณ์ อุทัย อายุ 18 ปี ชั้น ม.6 ร.ร.ดอนเมืองทหารอากาศบำรุง ผู้ชนะเลิศระดับม.ปลาย การประกวด FAI-FHA ART CONTEST ในหัวข้อ เด็กธรรมดา...คือสิ่งที่สวยงาม เจ้าของผลงาน "เติมฝันที่ขาดหาย" ด้วยเทคนิคสีผสม อธิบายแนวคิดของรูปว่า เป็นรูปเด็กที่มีความผิดปกติตรงขา สำหรับเรามองว่าเด็กธรรมดาไม่จำเป็นต้องมีร่างกายครบทั้งหมด แต่คนที่เขาพิการก็ถือเป็นเด็กธรรมดาได้เหมือนกัน และเขาก็สามารถมีความฝันเหมือนคนทั่วไป เช่นรูปที่วาดพื้นหลังสะท้อนความฝันที่เขาอยากเป็นตำรวจ นักบินอวกาศ อยากทำทุกอย่างที่เด็กธรรมดาทั่วไปเขาทำกัน มันคือความฝันอันสวยงาม เพราะเขากล้าที่จะฝัน กล้าที่จะทำ ถึงแม้ความฝันของเขาจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กทั่วไปก็ตาม
น้องนัฐเล่าต่อไปว่า ตนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ จนมาเจอครูปัญญา ซึ่งสอนศิลปะ ม.ปลาย จึงเริ่มวาดรูปจริงจังและเริ่มส่งประกวดมาเรื่อยๆ พอได้รางวัลรู้สึกดีใจมาก เพราะมีความฝันว่าอยากเป็นครูสอนศิลปะ การวาดรูปให้อะไรหลายอย่าง ศิลปะหากเรามีความคิดสร้างสรรค์ มีใจรักในการทำ ได้รางวัลหรือไม่เราก็มีความสุขเพราะเราทำผลงานชิ้นนั้นสำเร็จ
“หากใครที่มีความฝัน หรือชอบอะไรสักอย่าง ให้ลงมือทำ เพราะบางทีสิ่งที่เราทำไป มันอาจจะได้อะไรกลับมามากกว่าสิ่งที่คิด และสักวันเราจะประสบความสำเร็จกับสิ่งที่เราชอบ” น้องนัฐ กล่าวทิ้งท้าย