รมช.กลาโหมแจงงบกองทัพ 2.33 แสนล้านไม่สูง เล็งซื้อยุทโธปกรณ์แทนของเก่า
“รมช.กลาโหม” แจงงบกองทัพไม่สูงผิดปกติ ปี 63 เน้นปรับปรุงสวัสดิการ-ซ่อมอาวุธ ย้ำยุทโธปกรณ์ เกิน58% อายุใช้งานกว่า 30 ปี “ประยุทธ์” ย้ำอนุมัติงบกลาง ต้องจัดทำรายละเอียดชัดเจน “ฝ่ายค้าน” เตรียมเคาะแนวทางลงมติ “ปิยบุตร” เชื่อ ส.ส.อนาคตใหม่ ไม่โหวตสวนมติ
วานนี้ (18 ต.ค.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วันที่ 2 โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.33 แสนล้านบาท ตอนหนึ่งว่า การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานไม่สูง หรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หากพิจารณาตามระดับจีดีพี ที่ปี 2563 ได้รับงบประมาณเท่ากับ 7.29 ต่อจีดีพี ขณะที่ค่าเฉลี่ยต่องบประมาณ อยู่ที่ร้อยละ 1.3
และเมื่อพิจารณาตามอัตราการได้รับงบประมาณเฉลี่ยของกองทัพ ปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับงบ อยู่ที่ 2.2 ของระดับจีดีพี หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของวงเงินงบประมาณ แต่หลังจากที่มีภาวะปัญหาเศรษฐกิจกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณลดลงตามลำดับ และต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่ได้รับเพียง 1.1 ของจีดีพี และเมื่อเปรียบเทียบกับงบทหาร, งบความมั่นคงและกลาโหมของกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่าจะมีค่าเฉลี่ยสากล อยู่ที่ 2.2 ของจีดีพี แต่ของไทยอยู่ที่ 1.3 ต่อจีดีพี เท่านั้น
“ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นปีนี้ กว่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลสวัสดิการของข้าราชการ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และซ่อมแซมรวมถึงจัดหาเครื่องมือช่วยเหลือประชาชน ขณะที่งบประมาณเพื่อซ่อมปรับปรุงยุทโธปกรณ์มีเฉพาะที่ปรับปรุง ขณะที่การซื้อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ไม่สามารถหาชิ้นส่วน หรือซ่อมแซมได้ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ” พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง
ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ของกองทัพในอดีต ได้รับสนับสนุนและช่วยเหลือจากมิตรประเทศ และจัดหาบางส่วน ยุทโธปกรณ์ เช่น เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ปัจจุบัน อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป รถถังบางชนิด อายุการใช้งาน 40 - 50 ปี รถเกราะที่ใช้ ปัจจุบันมีอายุการใช้งาน 40 ปี เครื่องบินขับไล่ เอฟห้า ที่กองทัพอากาศใช้ มีอายุการใช้งาน 41 ปี เครื่องบินลำเลียง ซี130 มีอายุใช้งาน 40 ปี
โดยยุทโธปกรณ์ที่มีอายุที่ใช้งานเกิน 30 ปี มียอดรวมคิดเป็นร้อยละ 58 ดังนั้นในการจัดหาเพื่อทดแทนยุทโธปกรณ์ที่ชำรุด ไม่สามารถซ่อมได้ มีเพียง 1ใน 3 ของสิ่งที่มีทั้งหมด กองทัพยังเน้นการปรับปรุง และซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ต่อไป ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิด ไม่ใช้แล้ว แต่การจัดหาเท่าที่จำเป็น เพื่อสอดคลองกับการใช้กำลัง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงการใช้งบกลางว่า ที่ผ่านมาเวลาไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ก็อนุมัติงบกลางให้มาโดยตลอด เพราะเป็นการขอมาอย่างเร่งด่วนแล้วไม่ได้อยู่ในแผน แต่ทั้งหมดก็ต้องผ่านการพิจารณาของ ครม.มีแผนงานและรายละเอียด ไม่ใช่มีกระดาษมาเพียง 2 แผ่น แล้วจะอนุมัติได้ ถ้าเป็นแบบนี้ตนไม่อนุมัติ ไม่นำเข้า ครม.เด็ดขาด ทุกอย่างไม่ง่าย ตนจึงขอความร่วมมือจาก ครม. ซึ่งมาจากหลายพรรคการเมือง ให้เข้าใจว่าทุกวันนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ เปลี่ยนไปแล้ว
“เงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ถ้าตกลงได้ตามนี้มันก็จะไปอยู่ในการพิจารณาในวาระที่ 2 ไปแปรญัตติกันขึ้นมา แต่การจะแปรญัตติ เมื่อตัดหน่วยงานหรืองบประมาณของใครก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาไปทำอะไรก็ได้ ต้องนำกลับเข้ามาอยู่ตรงกลาง แล้วจึงพิจารณาให้กับหน่วยงานที่ยังขาด ซึ่งมีแผนงานและความพร้อมมากกว่า”
ขณะที่ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พบการใช้งบประมาณไม่เหมาะสม 4 ด้าน คือ 1.ไม่มีวินัยการเงินการคลัง เพราะตั้งแต่ปี 2557 พบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รวมกว่า 2.9 แสนล้านล้านบาท ส่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่าจะจัดงบประมาณแบบสมดุล ปี 2573 ตามที่นั้นตนไม่เชื่อว่าจะทำได้, 2. ไม่มีรายละเอียด และจัดงบประมาณเลื่อนลอย โดยมีลักษณะตั้งงบประมาณที่เกรงใจทหาร
3.งบประมาณทำไม่ได้จริง โดยเฉพาะงบประมาณด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำนวน 1แสนล้านบาท ระบุผลสำฤทธิ์ว่าลดปัญหาอาชญากรรรม และบังคับใช้กฎหมายรวมถึงอำนวยความยุติธรรมให้สังคม รวมถึงสร้างหลักประก้นความปลอดภัย ซึ่งตนไม่เชื่อว่าทำได้จริง และ4. ไม่ทำตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา นโยบายข้อที่ 8 คือ แก้ปัญหาทุจริตในวงราชการ
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านพยายามชี้แจงให้เห็นจุดอ่อนของการจัดทำงบประมาณที่ผิดพลาด บกพร่อง จัดทำงบไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือถึงขั้นอาจผิดกฎหมาย แต่การชี้แจงของรัฐบาล ไม่สามารถตอบคำถามที่เป็นปัญหา ที่ฝ่ายค้านตั้งประเด็นไป พยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม ส่วนตัวมองว่าครึ่งแรกของการอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลสอบไม่ผ่าน แต่จะให้โอกาสในครึ่งหลังอยากฟังนายกฯ และรัฐมนตรีชี้แจงการจัดทำงบประมาณที่ไม่สมบูรณ์
ส่วนทิศทางการโหวตในวันที่19 ต.ค. วิป 7 พรรคฝ่ายค้านจะมีประชุมกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดทิศทางกันอีกครั้ง แต่ละพรรคเขาอาจมีเหตุผลของเขา ในส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้การโหวตจะเป็นเอกสิทธิ์แต่ทางการเมือง พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน พรรคก็ต้องมีมติ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะไม่มีส.ส.โหวตแหกมติพรรค แต่หากมีผู้โหวตส่วนขึ้น ก็ต้องมาคุยกันอีกที เพราะต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อน
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวภายหลังเสียงส่วนใหญ่ของพรรคโหวตไม่รับร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)โอนอัตรากำลังพลฯ ว่า หลังจากนี้ต้องไปว่ากันในพรรคและภายในกรรมการบริหารพรรค ยืนยันว่า มติพรรคที่ออกไปแล้ว 70 เสียงของส.ส.ที่โหวตไม่เห็นด้วยนั้น มาจากการประชุมร่วมกัน โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันและลงมติ
ส่วนที่ส.ส.บางคนโหวตสวนมติพรรคจะทำให้เกิดปัญหาการส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นกระบวนการภายในพรรค เราจะไปพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ตนขออนุญาตไม่บอกว่าระหว่างหารือใครเป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย แต่ยืนยันว่า ส.ส.ของเราเคารพมติพรรค ส่วนการโหวตพ.ร.บ.งบประมาณ ตนเชื่อมั่นในส.ส.อนาคตใหม่ ทุกคนยึดมั่นในอุดมการของพรรค และผลประโยชน์ของประชาชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นายกฯ กล่อม 'สภาฯ' ผ่าน 'ร่างพ.ร.บ.งบฯ63' 3.2ล้านล้าน
-'7 ข้อควรรู้' งบประมาณ ปี 2563
-'ผู้นำฝ่ายค้าน' จี้ นำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ทบทวนใหม่
-'ฝ่ายค้าน-รัฐบาล' อัด ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่ตอบโจทย์วิกฤตศก.