What-Why -How -Who อ่านสเต็ปซีอีโอ ‘ซมโปะ ประเทศไทย’

What-Why -How -Who อ่านสเต็ปซีอีโอ ‘ซมโปะ ประเทศไทย’

"เพราะเป็นซีอีโอครั้งแรก ซึ่งเป็นงานที่กว้างกว่าตำแหน่งซีเอฟโอที่เคยทำ ความท้าทายจึงเป็นเรื่องการจัดเวลา มันมีสิ่งที่น่าทำไปหมด และตัวเองก็เป็นคนไฮเปอร์อยากทำทั้งหมด แต่ต้องเลือกว่าจะไม่ทำอันไหน ต้องลำดับความสำคัญ เลือกทำในสิ่งที่สมควรทำก่อน"

“ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์” ก้าวสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันภัยสัญชาติญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (ถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรแห่งนี้มีซีอีโอหญิงท่านแรกด้วยเช่นกัน) สำหรับโจทย์ที่ได้รับ ก็คือการนำบริษัทรุกตลาดบีทูซี สู่ประกันภัยรายย่อย ที่เดิมทีซมโปะ ประเทศไทยทำแค่ตลาดบีทูบี ส่วนใหญ่จะดูแลองค์กรญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจมาประเทศไทยเท่านั้น


"แผนที่วางไว้ก็คือในปีนี้จะเป็นปีแห่งการสร้างระบบ พอเราจะทำบีทูซี เรื่องการมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มกันตั้งแต่การวางระบบโดยตั้งหลักที่ลูกค้าว่าเขามีความต้องการอย่างไร โปรเซสต้องเป็นอย่างไรแล้วเราก็ดีไซน์และเริ่มทำกันใหม่แต่ก็จะขนานกันไปงานเดิมที่มีอยู่ก็ยังดำเนินไป"


เคล็ดลับเธอก็คือ การพัฒนาธุรกิจขึ้นใหม่ความสำเร็จเกิดจากการวางแผนอย่างสเต็ป โดยต้องเริ่มจากคำถาม What กับ Why และ Why not ก่อนแล้วเป็น How และ Who


" อาจเพราะเคยเป็นนักคณิตศาสตร์วิจัยมาก่อนเวลาจะทำอะไรจึงมักเริ่มจาก What ดูสถานการณ์ปัจจุบันก่อนและดูว่าเราควรจะทำอะไร เพราะอะไร ต้องปิดสมองส่วนของ How ไว้ก่อน ถ้าเอาวิธีการหรือคนทำขึ้นก่อนก็อาจจะตันตั้งแต่แรกซึ่ง Inside Out มันต้อง Outside In ถ้าเรารู้ว่าเราจะทำอะไรจริงๆ เดี๋ยววิธีการก็จะตามมาเอง แล้วค่อยไปหาคนที่ใช่มาบริหาร "


ดังนั้นเวลาที่จัดประชุมทีมเพื่อคิดหาทางตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อย ซีอีโอท่านนี้ก็จะจัดประชุมที่แบ่งวาระอย่างชัดเจน เริ่มจาก Whatกับ Why ก่อนแล้วเป็น How และ Who ไปตามลำดับ


"ถ้าในห้องประชุมกำลังพูดถึง What แล้วมีคนถามขึ้นว่าจะทำอย่างไร ใครจะทำเราจะมีการเป่านกหวีดเตือนให้หยุดก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องดุ เป็นวิธีที่ทำให้ทุกคนขำและสนุก เพราะในที่ประชุมส่วนใหญ่เวลามีใครนำเสนอทำอะไร ก็มักจะมีมิสเตอร์ฮาวที่จะถามขึ้นเสมอว่าไอเดียดีนะ แล้วจะทำอย่างไร"


แน่นอนที่เมื่อได้ยินไอเดียต่างๆ ทุกคนก็มักจะมีข้อคิดแย้งอยู่ในหัว ผศ.ชญณาบอกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ากระบวนการดังกล่าวช่วยให้คิดได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นยิ่งเป็นซีอีโอก็ยิ่งต้องฝึกให้ปิดสมองให้ได้ เพราะหากพูดขัดหรือพูดแทรกกลางครันคนในทีมก็คงไม่มีกล้าคิด กล้าครีเอทีฟ กล้าพูด


อีกงานสำคัญของซีอีโอ ก็คือการบริหารคน เริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์คนเข้ามาเสริมทัพ ผศ.ชญณาบอกว่า โดยเฉพาะตำแหน่งที่ไดเร็ครีพอร์ตไปจนถึงระดับผู้จัดการที่เธอจะต้องลงไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์กรได้คนที่ใช่ ทางตรงข้ามก็ช่วยทำให้ผู้สมัครตัดสินใจได้ถูกต้อง ได้ทำงานในองค์กรที่คิดว่าใช่ด้วยเช่นกัน


"ผู้สมัครเองเขาก็อยากจะรู้ว่าซีอีโอเป็นใคร เมื่อคุยกันแล้วเราเข้ากันได้ไหม เขาอาจมีคำถามที่อยากถาม บางคนก็ถามถึงไดเร็คชั่น บางคนก็ถามถึงกฏ ระเบียบ ถามถึงบรรยากาศทำงาน ซึ่งก็จะบอกไปตรง ๆว่าช่วงแรกคงไม่มีรูปแบบเขาต้องเริ่มจากศูนย์ เขาต้องมาเซ็ตโปรเซสต่าง ๆ งานอาจจะหนัก ต้องคิดเยอะ ต้องกล้าลองผิดลองถูก ซึ่งบางคนอาจชอบอยู่ในที่ๆมีระบบมีกรอบที่ชัดเจนก็อาจมองว่าไม่ไหวอยากทำงานแบบเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ ตัวเองมองว่าวิธีนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้เข้าใจบริษัทมากที่สุด ทำให้เขาตัดสินใจได้ว่าควรทำงานหรือไม่ มันก็แฟร์ดี "


ซมโปะ ประเทศไทยก็เหมือนองค์กรทั่วๆไปที่ในเวลานี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในองค์กร ยิ่งต้องการจะรุกสู่ธุรกิจใหม่ก็ยิ่งมีความจำเป็นต้องรับเด็กใหม่เข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น เพราะต้องการความคิดมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม ประการสำคัญก็คือ คนรุ่นใหม่มีความพร้อมในทักษะดิจิทัลซึ่งมีความจำเป็นต่อการแข่งขันในโลกยุคนี้ แต่ก็ต้องหาทางบริหารพวกเขาให้ดีที่สุดในเวลาเดียวกันก็ต้องปิดแก็บระหว่างเจนเนอเรชั่นด้วย


"องค์กรเราได้ตั้งทีมที่ชื่อ ออโตเมชันแมน เป็นทีมของน้องๆทาเลนท์ที่จบคณิตศาสตร์ ให้ไปทำหน้าที่ดูโปรเซสในแผนกงานต่างๆ ดูว่าอะไรเป็นงานที่ทำซ้ำๆ และช่วยเขียนโปรแกรมเพื่อให้การทำงานมันออติเมทขึ้น เป็นงานที่เราให้เพิ่มเติมขึ้นมาเพราะน้องๆกลุ่มนี้ถ้าให้ทำงานอย่างเดียวก็อาจจะเบื่อ ก็บอกเขาว่า 90% เป็นการทำงานประจำอีก 10% จะให้เขาไปหาว่าอยากทำอะไร แต่เน้นว่าต้องมานำเสนอว่าทำแล้วช่วยองค์กรได้อย่างไร เช่นเขาไปช่วยเขียนโปรแกรมให้พี่ ๆการเงินทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเขาไปนั่งมอนิเตอร์ดูการทำงานก่อนแล้วก็เขียนโปรแกรมขึ้นมาจากนั้นก็สอนให้พี่ๆว่าต้องกดปุ่มทำงานตรงไหน มันยังถือเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ของคนในบริษัท"


ส่วนหนึ่งที่ทำให้ซีอีโอหญิงท่านนี้สามารถเข้าใจถึงความต้องการของเด็กจบใหม่ คนรุ่นใหม่มาจากตัวเธอก็มีลูกชายซึ่งเวลานี้กำลังเรียนแพทย์ปีที่ 2 ที่สหราชอาณาจักร ทั้งยังเคยผ่านอาชีพ “อาจารย์”ด้านสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้ามาก่อน


รวมถึงไม่นานมานี้เธอได้รู้จัก อิคิไก (ikigai) ปรัชญาในการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่าทุกคนเกิดมาเพื่อค้นพบ “เหตุผลในการมีชีวิตอยู่” ซึ่งมองว่ามีความงดงามและสามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเธอและทุกคนบนโลกใบนี้ หากได้ค้นพบ อิคิไก ของตัวเองจะช่วยทำให้ใช้ชีวิตทั้งการทำงานและส่วนตัวด้วยความสุขและมีความหมาย


ในการค้นพบอิคิไกของ ผศ.ชญณา ว่าด้วยคำถามสำคัญที่ต้องถามตัวเอง 4 ข้อไปพร้อมๆ กันจะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ ดังนี้ 1.อะไรคือสิ่งที่รัก 2.อะไรคือสิ่งที่ถนัด 3.อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วได้เงินเลี้ยงชีพ 4.อะไรคือสิ่งที่ผู้คนหรือโลกต้องการ และทำประโยชน์กับสังคมส่วนรวม


ถ้าหากได้ทำเพียงสิ่งที่รักกับสิ่งที่ถนัด ก็จะมีความสุขในระดับหนึ่งเพราะได้ทำตามใจปรารถนา ได้เติมเต็มความฝัน หรือถ้าได้ทำสิ่งที่ถนัดและทำแล้วได้เงิน ก็จะได้ดำเนินชีวิตอย่างราบรื่น สะดวกสบายแต่เวลาผ่านไปก็อาจจะรู้สึกว่างเปล่า ขาดความหมายในชีวิต

หรือหากทำสิ่งที่ทำแล้วได้เงินและเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการและมีประโยชน์กับสังคมก็จะสามารถหาเลี้ยงชีพได้มีความสนุกสนานอิ่มเอมใจ แต่เป็นการทำในสิ่งที่ตัวเองรักความฝันไม่ได้ถูกเติมเต็ม แต่หากทำเพื่ออุดมการณ์ก็อาจจะมีความภูมิใจได้เติมเต็มความฝัน แต่ก็อาจจะมีความลำบากในการดูแลตัวเอง เป็นต้น


"มีหลายคนที่ทำได้ 3 ข้อ ก็คือทำในสิ่งที่รัก จนเกิดเป็นความถนัด และเป็นสิ่งที่ได้เงินหาเลี้ยงชีพได้ ซึ่งชีวิตก็จะสมหวังในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำอาจจะยังไม่ได้ยกระดับชีวิตผู้คน หรือทำประโยชน์ในระดับสังคม ที่สุดเราก็จะขาดความอิ่มเอมใจ แต่ถ้าตั้งคำถามทั้ง 4 ข้อและทำให้ครบถ้วน มันจะทำให้มีพลังพิเศษบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกวัน และแม้เหนื่อยบ้างก็จะเป็นเพียงแค่เหนื่อยกาย พักผ่อนก็หาย เพราะใจเราไม่เหนื่อย มีพลังตลอด ทั้งจะสามารถสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้อีกด้วย"