Green Pulse l แบนสารพิษเกษตร สู่ครัวปลอดภัย?
สำหรับแวดวงการเกษตรแล้ว ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส หลังจากมีการพบความเป็นพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้มานานกว่าสองปี
แต่สำหรับมุมมองด้านอาหารปลอดภัยแล้ว การแบนสารพิษดังกล่าวนอกจากจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษโดยตรงแล้ว ยังจะส่งผลต่อผู้บริโภคที่จะได้รับอาหารจากพืชผักที่ปลอดภัยขึ้น เพราะหนึ่งในสารพิษที่พบว่ามีการตกค้างในพืชผักผลไม้เกินมาตรฐานจากการตรวจสอบในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คือ สารกำจัดแมลง คลอร์ไพริฟอส, เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ระบุ
และสิ่งที่ทำให้การสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคหนักแน่นขึ้น คือการพบสารอีกชนิดตกค้างในพืชผักผลไม้ในการตรวจสอบล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต ที่ไม่ควรพบตกค้างในผลผลิตดังกล่าว
โดยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้แทนจากกรมควบคุมโรค สธ. ได้เปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์ ประกอบคำชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีภาคเกษตรกรรมของสภาผู้แทนฯ โดยพบพาราควอตตกค้างในผักร้อยละ 26.6 และในผลไม้ร้อยละ 12.5 จากจำนวนตัวอย่างรวม 168 ตัวอย่าง
“สิ่งที่พบล่าสุดโดย สธ. มันแสดงให้เห็นว่าเราตรวจพบมันจริงๆ และที่สำคัญ มันสะท้อนให้เห็นถึงการใช้สารเคมีเกษตรอย่างที่ไม่มีการควบคุมได้ เพราะการเจอยาฆ่าหญ้าในผักผลไม้ มันเป็นอะไรที่ไม่ควรเจอ และมันทำให้เราเห็นว่าการใช้สารเคมีอย่างที่ไม่มีการควบคุมได้นี้ กำลังส่งผลกระทบต่อสังคมยังไง” ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กล่าว
หลังจากที่มีกระแสเรียกร้องให้มีการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิดที่มีสัดส่วนถึงประมาณ 30% ของปริมาณนำเข้าสารเคมีเกษตรทั้งหมด งานเฝ้าระวังผลกระทบจากสารเคมีเกษตรในกลุ่มผู้บริโภคก็ทวีความเข้มข้นคู่ขนานกันมา เพราะมันเผยให้เห็นว่า การเฝ้าระวังและตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีเกษตรในอาหารสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารพิษทั้งสามตัวนี้ ยังไม่เข้มแข็งพอรับมือกับสถานการณ์ได้
ปรกชลกล่าวว่า โดยภาพรวม ประเทศไทยสามารถตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษเกษตรในพืชผักผลไม้ได้เพียง 10% ของสารเคมีเกษตรทั้งหมดที่ใช้อยู่ในประเทศกว่า 250 ชนิด และไม่สามารถตรวจสอบสารทั้ง 3 ชนิดนี้โดยตรง และการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารฯ จะเป็นลักษณะของการสุ่มตรวจโดยใช้ press kits ซึ่งจะสามารถบอกได้แต่เพียงว่า เจอสารปนเปื้อนหรือไม่เท่านั้น โดย 2 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงเกษตรฯ จะเน้นหนักไปที่ภาระกิจการนำเข้าส่งออกที่ด่านตรวจฯ ในขณะที่ สธ. แต่เดิมเน้นไปที่แหล่งจำหน่าย นอกจากจะพบระดับของความไม่ปลอดภัย สารนั้นๆ จึงจะถูกส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจเฉพาะเจาะจงลงไป ปรกชลกล่าว
การตรวจสอบการปนเปื้อนฯ อย่างเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารทั้ง 3 ชนิดนี้ เพิ่งจะมีการริเริ่มในประเทศยุโรป เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีผลงานวิจัยหลายๆ ชิ้นชี้ว่า สารเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง
ทางเครือข่ายเอง เริ่มส่งตัวอย่างไปตรวจที่ประเทศอังกฤษในปี 2559 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการตรวจสอบการปนเปื้อนมาตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งพบการปนเปื้อนของคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมักอยู่ในอันดับต้นๆ ของการตรวจ โดยในปีล่าสุดคือ ปี 2562 ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้ง สธ. ส่ง ตัวอย่างทั้งหมด 286 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีก ตลาดสดทั่วไปในจังหวัดใหญ่ๆ ไปยังห้องแลปปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ของประเทศอังกฤษ ครอบคลุมผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิดที่นิยมบริโภคทั่วไป พบว่า ผักผลไม้ยังมีสารพิษตกค้างที่เกินมาตรฐานสูงถึง 41%
เครือข่ายฯ ยังพบด้วยว่า สารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกานานกว่าทศวรรษ เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบการตกค้างในผักและผลไม้ถึง 57 ตัวอย่าง รองลงมาคือไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งพบถึง 38 ตัวอย่าง
นอกจากนี้ ยังพบสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว สารพิษที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล และสารซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด ซึ่งเครือข่ายฯ ระบุว่า สารทั้ง 3 กลุ่มนี้ล้วนถือว่าผิดกฎหมาย
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ปรกชลสรุปว่า ประเทศไทยยังไม่มีระบบเฝ้าระวังการปนเปื้อนฯ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางผู้บริโภค “ผู้บริโภคจึงทำได้เต็มที่แค่รับรู้ หรือเมื่อรู้แล้วก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ”
“เราจึงหวังว่าถ้ามีการแบนสารพิษกลุ่มนี้เกิดขึ้นจริง มันจะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายของงานเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษเกษตรในอาหารของคนในประเทศ และถึงที่สุดสารทั้ง 3 ตัวนี้ เป็นตัวอย่างที่สำคัญของปัญหาเชิงโครงสร้างการเกษตรของบ้านเราจริงๆ เพราะมันตอบไม่ได้เลยว่าเราทำเกษตรแบบนี้ไปเพื่ออะไร กับต้นทุนชีวิตที่แพงไม่น้อยไปกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งมีปัญหาเรื่องวิธีคิดมากว่า คุณวัดคุณค่ามันยังไง
“กระบวนทัศน์ด้านการเกษตรของบ้านเราคงต้องเปลี่ยน ต้องย้อนไปที่ต้นทางเลย ตั้งโจทย์กันชัดๆ ว่าเราจะไปทางไหนกันแน่” ปรกชลกล่าว
กราฟฟิค/ Thai-Pan
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-“บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณ เลิกใช้สารพิษเกษตร
-มติที่ประชุม 4 ฝ่าย แบนสารพิษเกษตรถึงมือกระทรวงเกษตรฯ แล้ว
-'เฉลิมชัย' เร่งเดินเครื่อง 3 แผนรับมือแบนสารพิษ
-'อนุทิน' ลั่น! พร้อมลาออก ถ้าแบน 3 สารเคมีไม่สำเร็จ