“ทุนไทย” รุกต่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ยันสร้างสมดุลธุรกิจคู่สิ่งแวดล้อม
“ซีเค พาวเวอร์” รุกพลังงานอาเซียน ตั้งเป้าดันกำลังผลิตไฟฟ้า5 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2568 เตรียมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี29 ต.ค. นี้ เล็งเจรจารัฐบาล สปป.ลาว สร้างเขื่อนเพิ่ม 2 แห่ง จากศักยภาพเขื่อนพลังงานแม่โขงอีก 9 จุด
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีมีความคืบหน้ากว่า 99.9% เหลือเก็บงานรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งจะเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ คาดจะมีรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งในช่วงที่ทดสอบเดินเครื่องจะมีรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำส่วนนี้มาลดต้นทุนการก่อสร้าง
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ใช้เงินลงทุน 1.35 แสนล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 7.6 พันล้านหน่วยต่อปี ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 29 ปี ในราคา 2 บาทต่อหน่วย ทำให้เป็นจุดแข็งของโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประเทศไทยในระยะยาว เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังน้ำมีราคาต่ำสุด
ทั้งนี้ ซีเคพาวเวอร์ ตั้งเป้าภายในปี 2568 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังมีกำลังผลิตไฟฟ้า 2,167 เมกะวัตต์ จากโครงการเขื่อนน้ำงึม 2 , ไซยะบุรี และโครงการโซล่าในไทย
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามแผนมีกำหนดจะเจรจาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว อีก 2 โครงการ แต่ละโครงการมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย โดยโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตั้งแต่นอกชายแดนจีนลงมาจุดที่มีศักยภาพสามารถสร้างได้มี 11 เขื่อน อยู่ในสปป.ลาว 9 เขื่อน และในกัมพูชา 2 เขื่อน สำหรับเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและใกล้เปิดดำเนินการ คือ เขื่อนไซยะบุรี ของซีเคพาวเวอร์ และเขื่อนดอนสะโฮง ที่มาเลเซียเป็นเจ้าของโครงการ คงเหลือจุดที่สร้างได้ 9 เขื่อน
อย่างไรก็ตาม จุดที่มีศักยภาพที่ควรจะสร้างก่อนมีอยู่ 4 เขื่อน คือ ปากแบ่ง , หลวงพระบาง , ปากลาย และสานาคา ซึ่งทั้ง 4 แห่งอยู่ทางด้านตอนบนของแม่น้ำโขงทำให้มีกระแสน้ำไหลแรงกว่า ส่วนแม่น้ำอื่นๆใน สปป. ลาวคาดว่าสามารถสร้างเขื่อนได้ประมาณ 20 เขื่อน แต่ทางซีเคพาวเวอร์ ยังไม่สนใจ เพราะเป็นเขื่อนขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าได้น้อย ทำให้มีความคุ้มทุนน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่
“ซีเค พาวเวอร์ยังคงคำนึงถึงการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับแรกของการบริหารโครงการ” นายธนวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ก็มีเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในเมียนมาที่แม่น้ำสาละวิน เพราะอยู่ใกล้ไทยคุ้มค่าในการสร้างสายส่งมายังไทย โดยมีจุดที่สามารถสร้างได้ 3 เขื่อน แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงในการลงทุนในเมียนมา และความคืบหน้าของการทำสมาร์ทกริดในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ เพราะหากสมาร์ทกริดเสร็จเร็วก็สามารถเชื่อมสายส่งจากเมียนมาไปขายไฟฟ้ายังประเทศรอบข้างประเทศไทยได้
ขณะนี้กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่บริษัทฯ ได้ทยอยเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เป็นไปอย่างราบรื่น มีความเสถียรและมั่นคง โดยในช่วงทดสอบระบบไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการขายไฟฟ้าราคาถูกก่อนการขายไฟเชิงพาณิชย์
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้นแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 7,370 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-แม่น้ำโขงแห้งขอดคุกคามพืชเศรษฐกิจกัมพูชา
-ขอความร่วมมือ 'งดปล่อยปลาบึกลงแม่น้ำโขง'
-ประมงจับเรือหาปลาผิดกฎหมาย ได้ของกลางเพียบ
-แม่น้ำโขงที่ผันผวน และกลไกรับวิกฤต
-รายงาน: หายนะครั้งประวัติศาสตร์ ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง?