เปิดขุมทรัพย์ 'เชนร้านอาหาร-คาเฟ่' 4 แสนล้าน ใครคุม?

เปิดขุมทรัพย์ 'เชนร้านอาหาร-คาเฟ่' 4 แสนล้าน ใครคุม?

ธุรกิจร้านอาหาร เค้กก้อนโตที่ยังรอผู้เล่นหน้าใหม่เข้าไปช่วงชิง โอกาสทองไม่ได้มีให้บิ๊กเชนเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการรายใหม่อาจต้องเตรียมมาอย่างดี เพราะความเก๋าเกมของยักษ์ใหญ่ก็ไม่ได้เปิดทางให้ก้าวเดินมาอย่างง่ายๆ

ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลงอย่างไร เราจะเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารยังคงโตวันโตคืน ทั้งการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ หรือการขยับขยายสาขามากขึ้น จนทำให้ปัจจุบันตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าทะลุ 400,000 ล้านบาทไปแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

แล้วรู้หรือไม่ว่าร้านอาหารที่คุณคุ้นตาหรือแม้แต่แวะเวียนเคยไปนั่งลิ้มชิมรสนั้น หลากหลายแบรนด์ดำเนินธุรกิจด้วยทุนใหญ่ของไทยนี่เอง มาดูกันว่าแต่ละแบรนด์เป็นของใครบ้าง

157746626590

  • ไทยเบฟ

เริ่มกันที่ตัวท็อปวงการธุรกิจไทย ที่พูดแบบนี้เพราะว่า ไทยเบฟฯ จับธุรกิจตัวไหนก็ดูจะเวิร์คไปเสียหมด ซึ่งเฉพาะธุรกิจร้านอาหารก็สร้างรายได้กว่า 13,000 ล้านบาทไปแล้ว จุดเริ่มต้นเกิดช่วงปี 2551 ที่เข้าไปซื้อกิจการของ "โออิชิ กรุ๊ป" ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวบุฟเฟต์ และกลายเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่ปัจจุบันมีถึง 7 แบรนด์ เฉียด 250 สาขา ได้แก่ โออิชิแกรนด์, โออิชิราเมนโออิชิ อีทเทอเรียมโออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, nikuya และ kakashi

ขณะเดียวกันไทยเบฟยังเป็น 1 ใน 3 แฟรนไชส์ซีของ KFC ที่มีสิทธิ์ดำเนินการในไทยกว่า 249 สาขา ส่วนอีก 2 รายก็คือ เซ็นทรัล (CRG) และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเดิมของ KFC แถมเมื่อเร็วๆ นี้ สร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่เพราะได้สิทธิ์บริหารร้านกาแฟดัง "สตาร์บัคส์" ในไทยแบบเต็มมือเต็มไม้ 372 สาขา

คำว่า "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ" คงจะจริงสำหรับไทยเบฟ เพราะกวาดเรียบสไตล์อาหารทุกแนว ทุกเซ็กเมนต์ อย่างอาหารไทยและอีสานนั้น เขาก็ปล่อยมาไม่ยั้ง ทั้ง Café Chilli, POT Ministry, Chill Thai Restaurant, Eat Pot, SO Asean Café & Restuarant และบ้านสุริยาศัย ยังไม่พอขอมาแนวอาหารจีนที่นำเข้ามาจากโรงแรมในสิงคโปร์แบรนด์ "หม่านฟู่หยวน" รวมถึงแนวเวสต์เทิร์นอย่างร้าน "Hyde & Seek" ที่มาเพื่อเจาะกลุ่มตลาดบน ตบท้ายด้วยร้านเบเกอรี่ "mx cake & bakery"

157746647746

  • เซ็นทรัล

เมื่อพูดถึงยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอาหารในไทยแล้ว จะไม่พูดถึง เซ็นทรัล ก็คงไม่ได้ ก่อนจะพูดถึงแบรนด์ร้านอาหารในเครือ มาส่องตัวเลขรายได้กันก่อน โดยปี 2560 บริษัทโกยรายได้รวมทั้งหมด 10,987 ล้านบาท ด้วยความเป็นบิ๊กวงการธุรกิจ จึงไม่พลาดเป็น 1 ใน 3 แฟรนไชส์ซีร้านไก่ทอด "KFC" ที่มีสาขาในไทยมากกว่า 600 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ที่คุ้นตาอีกมากกมายอย่าง Mister donut อาณาจักรโดนัทไทย ที่พูดอย่างนี้เพราะมีสาขาถึง 340 แห่ง ตามด้วย Auntie Anne's แบรนด์เบเกอรี่ชื่อดังอีกราว 140 แห่ง ไล่เรียงสายของหวานมาที่ธุรกิจไอศกรีมแบรนด์ Cold Stone ทั้งหมด 17 สาขา เบรคของหวานมาต่อที่อาหารคาวกันบ้าง ยังมีแบรนด์ เปปเปอร์ ลันช์ อีก 38 สาขา รวมถึงร้านอาหารที่ลุยธุรกิจเองอย่าง The Terrace อีก 15 สาขา 

ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้คงเป็นคติของเซ็นทรัล จัดการซื้อแฟรนไชส์และนำเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นหลากแบรนด์ ทั้ง ชาบูตง ราเมน, yoshinoya, คัตสึยะ และเทนยะ ส่วนแบรนด์ โอโตยะ นั้น เซ็นทรัลจัดการซื้อกิจการมาเลยละกัน ไม่ต้องลงทุนเริ่มตั้งต้นกันใหม่ และก็ถูกจริตกับผู้บริโภค ทำขณะนี้มีสาขาราว 44 สาขา 

ล่าสุดปี 2562 ขอเปลี่ยนแนวมาลองสตรีทฟู้ดเจาะตลาดแมสบ้าง ส่งร้านอาหารไทยแบรนด์ "อร่อยดี" ชื่อง่ายๆ ที่ชวนเข้าไปลิ้มลอง และ "สุกี้เฮาส์" สุกี้สไตล์โฮมเมด ราคาสบายกระเป๋า แถมแว่วๆ ว่าอนาคตวางแพลนขอซื้อไลเซนส์ร้านอาหารจากต่างประเทศอีกด้วย คงต้องจับตาดูว่าจะเป็นขนมหรืออาหารประเภทไหน

157746711598

  • เอ็มเค

หากนึกถึงอาหารประเภทสุกี้ยากี้ แว่บแรกที่คิดคงหนีไม่พ้นชื่อ "เอ็มเค สุกี้ (MK)" ภายใต้การดูแลของบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มเปิดสาขาแรกตั้งแต่ปี 2529 ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันก็ 30 กว่าปีแล้ว สั่งสมฐานลูกค้ากลุ่มครอบครัว จนขณะนี้มีสาขาราว 438 สาขา และยังขายแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และร่วมทุนทำร้านอาหารในสิงคโปร์อีกด้วย ยังไม่พอขอยกระดับสู่ความพรีเมี่ยม แตกแบรนด์ "เอ็มเค โกลด์6 สาขา และ "เอ็มเค ไลฟ์" ที่คงความพรีเมียม แต่เลือกเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y เพิ่มกิมมิกเมนูแปลกใหม่ เช่น สุกี้นึ่ง เป็นต้น อีกราว 4 สาขา 

ความพยายามขยายอาณาจักร เริ่มขึ้นในปี 2549 เอ็มเคกรุยทางจับกระแสเจแปนฟู้ดฟีเวอร์ เปิดตัวร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ "ยาโยอิ" มีทั้งหมด 158 สาขา หลังจากนั้นราว 5-6 ปี เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มอีก 2 แบรนด์ ก็คือ "ฮากาตะ" และ "มิยาซากิ" ที่ขณะนี้มีสาขา 4 และ 26 สาขา ตามลำดับ

ขณะที่ความเร่งรีบในเมืองหลวง กลายเป็นแสงสว่างสำหรับเอ็มเค ร้านข้าวกล่องสไตล์แกรบแอนด์โก แบรนด์ "บิซซี่ บ็อกซ์" จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค ขณะนี้มี 4 สาขา รวมถึงยังเติมเต็มธุรกิจด้วยร้านกาแฟและขนมอย่าง "เอ็มเค ฮาร์เวสต์" และ "เลอ เพอทิท"

โอกาสยังมีมาเสมอ เอ็มเคเปิดร้านอาหารไทย "ณ สยาม" และ "เลอ สยาม" ที่เพิ่มความหรูหราไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ชาวต่างชาติ และงานเลี้ยงรับรอง รวมทั้งสองแบรนด์อีกกว่า 5 สาขา ความเติบโตของธุรกิจยังเป็นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปี 2561 ที่ผ่านมา เอ็มเคโกยรายได้ไปกว่า 17,234 ล้านบาท

แต่ล่าสุดปี 2562 เอ็มเคกลับมาเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง เพราะเข้าไปซื้อหุ้นกว่า 65% ของบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อร้าน "แหลมเจริญ ซีฟู้ด" ที่มีมูลค่ากว่า 2,060 ล้านบาท 

157746750952

  • ZEN

ขอเสียงคนชอบอาหารญี่ปุ่นกันอีกสักหน่อย หนึ่งในตัวเลือกเวลาคุณเดินในห้างสรรพสินค้าอาจจะเป็นร้าน "ZEN" ก็เป็นได้ ที่ปัจจุบันมีสาขาราว 43 สาขา นี่แหละจุดเริ่มต้นของเชนร้านอาหารเครือ ZEN แห่งตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ชูคุณภาพมายาวนานตั้งแต่ปี 2534 ด้วยความเก๋าเกมจึงส่งร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าประกวดอีกหลากสไตล์ ทั้ง "AKA" แนวปิ้งย่าง มีสาขา 18 แห่ง "Tetsu" อาหารญี่ปุ่นที่เสิร์ฟแบบ A La Carte และร้าน "Musha" ข้าวหน้าญี่ปุ่นปริมาณล้นกินจนจุก 4 สาขา รวมถึงร้าน "Cyu carnival" ที่หาจุดแข็งความพิถีพิถันของเชฟ และความเรียบหรูมาสู้ อีก 3 สาขา 

แต่สนามของการแข่งขันยังมีที่ว่าง ZEN ไม่รีรอขอลองของส่งร้านอาหารฟิวชั่น "On The Table" มาชิงพื้นที่หัวใจของผู้บริโภค 20 สาขา แต่ปัจจุบัน ZEN อยู่ใต้การดูแลของ บุญยง ตันสกุล หัวหอกเก่าซิงเกอร์ที่พกฝีมือและความมั่นใจมาเต็มๆ เพื่อกอบกู้จากภาวะการเงินที่ไม่สู้ดีนัก มีการปรับมุมมองใหม่หันหาธุรกิจแฟรนไชส์ หวังกระจายความเสี่ยงธุรกิจ

ZEN จึงควบรวมกิจการตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสานแซ่บคักๆ 118 สาขา ด้วยความที่ถูกจริตคนไทย จึงเกิดไอเดียบรรเจิดปรับนิดเติมหน่อยเพิ่มความไฮเอนด์เป็นร้าน "เดอ ตำมั่ว" และร้าน "ลาวญวน" อาหารเวียดนามกลิ่นอายอีสานอีก 9 สาขา รวมถึงร้าน "เฝอ" ก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม 13 สาขา แต่ปรับรสชาติให้นัวตามรสปากคนไทย และร้าน "แจ่วฮ้อน" ที่ยกจิ้มจุ่มสุดแซ่บมาไว้บนห้าง ราว 11 แห่ง

ล่าสุดเปิดร้านใหม่ชื่อเก๋ไก๋อย่างร้าน "เขียง" จับทางสตรีทฟู้ดที่ใครๆ ก็ต้องกิน มองการณ์ไกล ขอเกี่ยวก้อย ปตท.กันไปอย่างไม่โดดเดี่ยว เตรียมตัวขยายแฟรนไชส์ทั่วประเทศ โดยปี 2561 ZEN รายได้รวม 2,964 ล้านบาท

157746780936

  • ไมเนอร์ฟู้ด

อยากให้เห็นอีกหนึ่งเชนที่มีทั้งแฟรนไชส์และดำเนินการเองใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียอย่าง ไมเนอร์ฟู้ด ที่ปี 2561 มีรายได้รวม 23,484 ล้านบาท เพราะมีสาขาของแบรนด์ในเครือทั้งหมดมากถึง 2,200 สาขา กระจายไป 27 ประเทศ แต่ถ้านับเฉพาะที่อยู่ในประเทศไทย สาขาก็เกินครึ่งหนึ่งเข้าไปแล้ว ซึ่งเราอาจเป็นลูกค้าเค้าไม่แบรนด์ได้ก็แบรนด์หนึ่งแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็น "เดอะ พิซซ่า คอมปะนี" ที่ขณะนี้มีสาขาประมาณ 395 แห่ง หรือ "ซิซซ์เลอร์" ที่ถูกคลอดมาตั้งแต่ปี 2535 ขณะนี้มี 55 สาขา ขณะเดียวกันก็ส่ง "เบอร์เกอร์คิง" ขึ้นชกในตลาดฟาสต์ฟู้ดราว 103 สาขา ส่วนไอศกรีมที่ใครๆ ก็ต้องจดจำได้อย่าง "สเวนเซ่นส์" ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 289 สาขา และแบรนด์ "แดรี่ ควีน" ทั้งหมด 501 สาขา

อีกด้านหนึ่งไมเนอร์ฟู้ดพาธุรกิจอาหารและคาเฟ่เข้ามาเติมเต็มธุรกิจในเมืองไทยเช่นกัน เช่น "เดอะ คอฟฟี่ คลับ" ร้านกาแฟและอาหารสัญชาติออสเตรเลียชื่อดัง อีก 51 สาขา รวมถึงขอโกอินเตอร์ไปลุยธุรกิจต่างประเทศ อย่างร้าน "ไทย เอ็กซ์เพรส" ที่พาอาหารไทยไปแนะนำให้ชาวสิงคโปร์รู้จักเป็นที่แรก ตอนนี้มีสาขารวมทั้งหมด 14 สาขา 

ขณะที่ประเทศจีนนั้น ไมเนอร์ฟู้ดได้เข้าไปถือหุ้นใน "Beijing Riverside & Courtyard" ร้านอาหารเมนูปลาสไตล์เสฉวน ที่ตอนนี้เพิ่มการถือหุ้นเป็น 100% เต็มแล้ว และยังเข้าไปถือหุ้นร้านอาหารญี่ปุ่น "เบนิฮานา" อีกกว่า 75% ที่มีอยู่ 3 สาขา 

157746821898

  • ฟู้ดแพชชั่น

ข้ามฟากมาฝั่งปิ้งย่างอย่างแบรนด์ "บาร์บีคิว พลาซ่า" ที่อยู่ภายใต้บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่อายุอานามเกือบเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน ราวๆ 32 ปี นอกจากเรื่องรสชาติ ยังมีแมสคอตมังกรตัวเขียว หรือเจ้าบาร์บีก้อนที่ช่วยสร้างความโดดเด่น ประกอบกับปล่อยหมัดฮุกการตลาดมาไม่ยั้ง อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีการเปลี่ยนป้ายชื่อร้านให้เขียนผิด ซึ่งเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กที่ขาดโอกาส ก็ช่วยสร้างความจดจำแบรนด์ได้มากขึ้นทีเดียว ปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 150 สาขา

ความแซ่บยังไม่หมดขอเปลี่ยนมาเอาใจคนรักอาหารอีสานสักหน่อยกับร้าน "จุ่มแซ่บฮัท" ซึ่งมักจะอยู่ในร้านเดียวกับบาร์บีคิวพลาซ่า อีก 22 สาขา

หรือจำได้ไหมว่าช่วงหนึ่งมีเทรนด์ไก่ทอดสัญชาติไต้หวันไซส์ใหญ่ยักษ์ XXL เข้ามาในไทย ด้วยความใหญ่ที่มากกว่าหน้าคนเรา จนทำให้เราๆ ต้องรีบไปต่อแถวซื้อเพื่อเซลฟี่ลงโซเชียลกันยกใหญ่ ดาวรุ่งพุ่งแรงนั้นคือ "ฮ็อท สตาร์" ซึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ฟู้ดแพชชั่นนำเข้ามา และได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์รายเดียวในไทยด้วย

นอกจากนี้ ฟู้ดแพชชั่นยังขอเพิ่มพอร์ตฟอลิโอตัวเอง ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในร้านอาหารสัญชาติเกาหลี "Red Sun" กว่า 74% ส่งเมนูเด็ดต๊อกปกกี่เอาใจแฟนคลับสายเการาว 12 สาขา

แพชชั่นในตัวยังไม่หมด ขอปล่อยซิงเกิลที่ทำเองอีก 2 แบรนด์ 2 สไตล์ ทั้ง "ฌานา" (Charna) ที่ไปขนเอาผักออร์แกนิกมาเสิร์ฟนักกินสายสุขภาพเต็มที่ในหม้อชาบูแน่นเครื่องเทศ และ "สเปซ คิว" (Space Q) ร้านปิ้งย่างน้องใหม่ แต่ขอชิมลางแค่ 1 สาขาก่อน โดยรวมรายได้ในปี 2561 ฟู้ดแพชชัั่นรับไปเหนาะๆ ราว 3,769 ล้านบาท

157746846271

  • สิงห์

หนึ่งในบิ๊กวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ "เครือสิงห์" ขอจับเกมธุรกิจเชนร้านอาหารและคาเฟ่ด้วยเหมือนกัน และไม่ได้มาเล่น เพราะที่ผ่านมาโกยร้านจากตลาดนี้ไปแล้วกว่า 800-1,200 ล้านบาท หากใครนึกถึงร้านคาเฟ่สักร้านนึง ที่มีจุดเด่นจากวัตถุดิบเป็นนมหอมๆ คงต้องนึกถึงร้าน "ฟาร์มดีไซน์" (Farm Design) ขึ้นมาแน่ๆ ร้านนี้ไฮไลต์เด็ดที่พลาดไม่ได้คือชีสเค้กจากฮอกไกโด ที่สามารถนำมาต่อยอดสู่เมนูอื่นๆ อีกมาก ใครจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเครือสิงห์ ผู้นำตลาดเบียร์ไทย เป็นผู้นำเข้ามาเปิดตลาดในไทย ที่ปัจจุบันมี 26 สาขา

นอกจากนี้ในมือยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นสุดพรีเมี่ยม "คิตาโอจิ" อีก 4 สาขา พร้อมหันมาจับมือเป็นพันธมิตรอย่างเชฟชุมพล แจ้งไพร ผสมผสานเป็นร้าน "สตาร์เชฟ" และขอลุยธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง "Est.33" แหล่งคราฟต์เบียร์นัมเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย

แต่ที่ผ่านมาธุรกิจอาหารอยู่อย่างกระจัดกระจาย สิงห์จึงทุ่มลงทุนเม็ดเงินราว 5,000 ล้านบาท เพื่อรวบรวมและปลุกปั้น Food Factors อาณาจักรอาหารขึ้นมา โดยให้เจน 4 อย่าง ต็อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี เข้ามากุมบังเหียน แต่โปรเจคท์ยักษ์ขนาดนี้อาจจะเติบโตไม่เร็วอย่างที่คิดหรือใจต้องการ สิงห์เลยแบกเงินก้อนใหญ่ 1,521 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นร้านสเต๊ก "ซานตาเฟ่" ราว 26% หวังโกยเงินยาวๆ จากสาขาที่มีทั้งหมดกว่า 111 แห่ง ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมทัพกำลังให้ฟู้ดแฟคเตอร์ และฉุดรายได้ให้โตกว่า 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

157746888239

  • วีรันดา

ปิดท้ายด้วยเครือ วีรันดา ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการโรงแรม แต่ความมืออาชีพในการทำธุรกิจ ทำให้วีรันดาเข้าไปซื้อหุ้นจากแฟรนไซส์หลัก แบรนด์ "GRAM" แบรนด์ขนมหวานกับเมนูชื่อดังอย่างแพนเค้กสามชั้นเด้งดึ๋งๆ ที่กว่าจะได้กินต้องต่อแถวนานเป็นชั่วโมง แถมยังพ่วงแบรนด์ "PABLO" ร้านชีสทาร์ตเจ้าดังจากญี่ปุ่นมาด้วย ส่วนสาขานั้นก็ยังมีไม่มากเพียง 2-3 แห่ง

แต่ที่แน่ๆ การเข้ามาของธุรกิจใหม่นี้จะช่วยเสริมพอร์ตร้านอาหารและคาเฟ่ของวีรันดาที่มีอยู่เดิม ทั้ง "KOF" และ "Skoop" ทั้งหมด 4 สาขา ให้แข็งแกร่งขึ้น ที่สำคัญน่าจะช่วยผลักรายได้ในด้านนี้ขึ้นอีก 7-8% ในปีหน้า ตามที่ผู้บริหารหมายมั่นไว้อย่างแน่นอน จากเดิมในปี 2561 มีรายได้จากธุรกิจเชนร้านอาหารและคาเฟ่นี้ประมาณ 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่ากลุ่มก้อนอาณาจักรธุรกิจร้านอาหารในไทย แม้มีผู้เล่นยุ่บยั่บไปหมด และแข่งขันกันสูง แต่ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เห็นช่องว่างและกระโดดเข้ามาร่วมแจมมากขึ้น จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 9.5% หรือประมาณ 2,197 ราย ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนสูงขึ้น 50.5% หรือ 6,794 ล้านบาท โดยหนึ่งในปัจจัยหนุนนั้นมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้น ที่สำคัญนักท่องเที่ยวใช้จ่ายไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มมาเป็นอันดับที่ 3 รองจากจากค่าที่พักและการเดินทาง

ขณะที่การสร้างแบรนด์ว่ายากแล้ว แต่การรักษาแบรนด์ให้คงอยู่ยาวนานและถูกจริตกับผู้บริโภคต่อไปได้ นับเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะตัวเจ้าของกิจการต้องเรียนรู้และปรับให้ทันตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี และชีวิตที่แสนจะเร่งรีบในเมืองกรุง ทั้งการสั่งอาหารผ่านบริการ Food delivery การจองโต๊ะล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงปัจจัยเมืองที่ขยายตัว

คงต้องจับตาดูว่าบิ๊กแบรนด์เหล่านี้ใครจะเติบโตขึ้นไปในทิศทางใด ใครจะอยู่ หรือใครจะไป และเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไรในอนาคต