ภาษีน้ำตาล: สุขภาวะอาเซียนกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

ภาษีน้ำตาล: สุขภาวะอาเซียนกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

1 ต.ค. 2562 เป็นวันเริ่มบังคับใช้มาตรการขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มตามปริมาณความหวานระยะที่สอง หลังจากรัฐบาลไทยเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวระยะแรกตั้งแต่ปี 2560 เป็นอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่มีกำหนดเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี

โดย พ.ร.บ. สรรพสามิต 2560 มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณมาก

ปัจจุบัน คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยสูงถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กำหนด

แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มและอาหารมาจากข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ซึ่งชี้ว่าการบริโภคน้ำตาลเกินค่ามาตรฐานของประชากรโลกเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคอ้วนซึ่งตามมาด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปกับงบประมาณค่ารักษาพยาบาลและสวัสดิการด้านสาธารณสุข WHO จึงเสนอว่ามาตรการทางภาษีจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มได้

WHO รายงานว่าประชากรโลกที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 108 ล้านคนในปี 2523 เป็น 422 ล้านคนในปี 2557 และประมาณการว่าระหว่างปี 2554-2573 มูลค่า GDP ของโลกจะสูญเสียไปกับต้นทุนการรักษาโรคเบาหวานราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

สอดคล้องกับแนวทางของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนซึ่งระบุใน “ASEAN Health Cluster 1: Promoting Healthy Lifestyle 2016-2020” อาเซียนมุ่งผลักดันให้ประเทศสมาชิกใช้นโยบายการคลังและพาณิชย์เป็นกลไกป้องกันและควบคุมโรค NCDs ผ่านมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มให้ได้ภายในปี 2562

นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีหลายประเทศในอาเซียนที่ขานรับนโยบายการเก็บภาษีน้ำตาลเช่นกัน ในปี 2560 บรูไนประกาศเริ่มเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ในปี 2561 จัดเก็บภาษี 6 เปโซต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตรแต่ยังยกเว้นการเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวเช่นนมและกาแฟสำเร็จรูปซึ่งอาจกระทบต่อค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย ขณะที่มาเลเซียเพิ่งเริ่มเก็บภาษีเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาโดยเก็บภาษี 0.4 ริงกิตต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร ส่วนเวียดนามยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีฯ

มาตรการขึ้นภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มได้สร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ขณะที่ผู้ประกอบการก็เริ่มปรับตัวโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาล 0% ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าในระยะยาวมาตรการดังกล่าวสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากพิจารณาในแง่อุตสาหกรรมน้ำตาลแล้วพบว่ ปี 2561 ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 2,600 ล้านดอลลาร์ (ครองสัดส่วน 11.6% ของการส่งออกน้ำตาลในตลาดโลก) และไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยมากเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชียรองจากอินเดียและจีน ขณะที่ฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 6 ตามมาด้วยอินโดนีเซียและเวียดนามตามลำดับ

เป็นที่คาดการณ์ว่าหากอัตราการบริโภคน้ำตาลลดลงอันเป็นผลจากมาตรการเก็บภาษีน้ำตาลในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลงราว 8-9% ตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น เมื่ออุปสงค์ลดลงย่อมส่งผลกระทบไปยังต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่เกษตรกรไร่อ้อย แรงงานในอุตสาหกรรมการแปรรูป ฯลฯ

จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอ้อยและน้ำตาลที่ต้องปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยอาศัยการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผลิตผลจากอ้อยไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น การผลิตเอทานอล วัสดุบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อสร้างทางเลือกและกระจายความเสี่ยงในทางธุรกิจ

ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนต้องขบคิดต่อไปในระยะยาวคือ ทำอย่างไรจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมสุขภาพประชาชนซึ่งเป็นทรัพยากรอันล้ำค่าของประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษาอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งออก และการจ้างงานในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-'ภาษีความหวาน' แผลงฤทธิ์ พบคนไทยกินหวานลด 4 ช้อนชาต่อคน

-สรรพสามิตเก็บภาษีความหวานเท่าตัว1ต.ค. นี้

-ภาษีน้ำหวาน: มาตรการทางเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพได้จริงหรือ

-หวังสุขภาพคนไทยดีขึ้น อ้วนน้อยลง หลังภาครัฐปรับขึ้นภาษีความหวาน