แม่วัยรุ่น แท้จริงอยู่ที่ไหน ? 

แม่วัยรุ่น แท้จริงอยู่ที่ไหน ? 

จากการวิเคราะห์ พบว่า แนวโน้มการเป็นแม่วัยรุ่น มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม สอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม รอบตัวเด็ก สามารถส่งผลต่อการเป็นแม่วัยรุ่นได้

รายงานบูรณาการข้อมูลเพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่นำข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 14 จังหวัด พ.ศ. 2558 – 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยโอกาสในการเป็นแม่วัยรุ่น พบว่า “ปัจจัยที่ลดความเสี่ยงการเป็นแม่วัยรุ่น” ได้แก่ กำลังเรียนอยู่ในระบบการศึกษา และการได้เรียนเพศศึกษา ขณะที่ “ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง” คือการอยู่ในครอบครัวที่มีสัดส่วนเด็ก ผู้สูงอายุในบ้านสูง และ อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีรายได้ต่ำ หรือ จังหวัดที่มีอัตราการว่างงานสูง สอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ชุมชน สังคมรอบตัวเด็ก สามารถส่งผลต่อการเป็นแม่วัยรุ่นได้

ข้อมูลแม่วัยรุ่นของประเทศไทยที่ผ่านมา เดิมใช้ข้อมูลจากฐานทะเบียนเกิดของกระทรวงมหาดไทย ตามรายงานของจังหวัดที่เด็กเกิด ทำให้ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.นครนายก มีอัตราการคลอดบุตรสูงติดท็อป 3 ของประเทศ ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ลงลึกไปถึงระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และรายพื้นที่ เรื่องของประชากรแฝงซึ่งมีราว 10% ทั่วประเทศ และแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่น กทม. มีประชากรแฝง 30%

157251555650

จึงเป็นที่มาของการร่วมมือระหว่าง สำนักอนามัยและการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข , สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานสถิติแห่งชาติ , สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA )จัดทำข้อมูลลงลึกระดับรายพื้นที่ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ได้แก่ การเกิดจากฐานทะเบียนราษฎร์ปี 2559 – 2561 

รวมทั้งนำข้อมูลการเกิดจากสำมะโนประชากรและการเคหะ ปี 2543 – 2553 ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด ปี 2558 – 2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และฐานข้อมูลเงินอุดหนุนเด็กโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และข้อมูลสวัสดิการของรัฐ จากกระทรวงการคลังมาประกอบด้วย

  • ความยากจนสัมพันธ์กับแม่วัยรุ่น

ดร.วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ​กล่าวว่า พื้นที่ๆ มีคุณแม่วัยรุ่นอยู่สูงส่วนใหญ่เป็นชายแดน แนวโน้มเป็นกลุ่มชนเผ่า ความยากจนมีความสัมพันธ์กับคุณแม่วัยรุ่น ทางภาคอีสานก็เยอะขึ้น ขณะเดียวกันจังหวัดเศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี ระยอง ปรากฏว่าเป็นคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาอยู่ ดังนั้น ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกับการออกมาตรการระดับพื้นที่ ว่าจะทำงานอย่างไร ประชากรกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มไหนที่เราจะให้ความสำคัญ อาทิ เมื่อมีคนต่างพื้นที่เข้ามาทำงาน หน่วยงานท้องถิ่นจะมีวิธีทำงานกับคนพวกนี้อย่างไร ให้เข้าถึงบริการตั้งแต่การคุมกำเนิด การให้ความรู้ และพวกเขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ตรงนี้ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น

157251555630

“ประเทศอังกฤษ ในยุคโทนี แบลร์ (Tony Blair) เป็นนายกรัฐมนตรีสามารถลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งในเวลา 10 ปี เพราะเขามองว่าการเกิดเป็นแม่วัยรุ่นไม่ใช่ปัญหาเรื่องของบุคคล แต่เป็นเพราะวัยรุ่นถูกกีดกันออกจากระบบด้วย”ดร.วาสนา กล่าว

  • ท้องไม่ได้เรียนต่อส่งผลต่อจีดีพี

นายโยธิน ทองพะวา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ​ให้ความเห็นว่าโจทย์ที่อยากจะสะท้อน คือ ทำอย่างไรให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ทำงานในพื้นที่ ได้รับข้อมูล และเข้าถึงพ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสื่อควรมีส่วนในการเพิ่มการรับรู้ และการทำข้อมูลเด็กและเยาวชนควรมองไปถึงด้านเศรษฐกิจ น่าจะมีกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเข้ามาร่วมด้วย ให้เขาได้รู้ว่าหากท้อง ไม่ได้เรียนต่อ จะส่งผลต่อจีดีพีประเทศอย่างไร เนื่องจากเศรษฐกิจก็มีผลต่อความเป็นอยู่เช่นเดียวกัน

157251555686

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์แม่วัยรุ่น ภายในงานเปิดตัวรายงานบูรณาการข้อมูลเพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นว่า ปี 2561  มีจำนวนแม่วัยรุ่น อายุ 10-14 ปี 2,385 คน และ อายุ 15-19 ปี 70,181 คน เฉลี่ยแม่วัยรุ่นเกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวน 199 คนต่อวัน ลดลงจากเดิมในปี 2554 ที่มีมากถึง 362 คนต่อวัน

ขณะที่ ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข เกี่ยวกับอัตราการคลอดในวัยรุ่น อายุ 10-14 ปี (ต่อ 1,000 ประชากร) พบว่า ในปี 2554 อัตราการคลอด 1.6 คน , ปี 2555 จำนวน 1.8 คน , ปี 2556 จำนวน 1.7 คน , ปี 2557 จำนวน 1.6 คน , ปี 2558 จำนวน 1.5 คน , ปี 2559 จำนวน 1.4 คน , ปี 2560 จำนวน 1.3 คน และปี 2561 จำนวน 1.2 คน ตั้งเป้า 0.5 คน ในปี 2569

157251555680

ด้าน อัตราการคลอดในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี (ต่อ 1,000 ประชากร) พบว่า ในปี 2554 อัตราการคลอด 53.4 คน , ปี 2555 จำนวน 53.4 คน , ปี 2556 จำนวน 51.1 คน , ปี 2557 จำนวน 47.9 คน , ปี 2558 จำนวน 44.9 คน , ปี 2559 จำนวน 42.5 คน , ปี 2560 จำนวน 39.6 คน และปี 2561 จำนวน 35.0 คน ตั้งเป้า 25 คน ในปี 2569

พญ.พรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อทำงานในระดับพื้นที่มีสถานการณ์ในพื้นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน บางจังหวัดภาพรวมไม่สูง แต่ในระดับอำเภอสูงเกินระดับประเทศ แต่เดิมดึงข้อมูลจากอัตราการคลอดในโรงพยาบาล ทำให้ จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.นครนายก สูง เกิดประเด็นว่า แม่อยู่ที่จังหวัดคลอดและแจ้งเกิดหรือไม่ พบว่ากว่า 1 ใน 4 ไม่ได้คลอดลูกและแจ้งเกิดในจังหวัดที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

  • “จ.สระแก้ว”อันดับ1แม่วัยรุ่น

ทั้งนี้ จากการศึกษาลงลึกระดับพื้นที่ พบข้อมูลที่เปลี่ยนไป คือ จังหวัดที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่น 15-19 ปี (ต่อ 1,000 คน) ปี 2561 พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ จ.สระแก้ว 49.8 คน ถัดมาคือ จ.ตาก 47.6 คน จ.บึงกาฬ 47.4 คน จ.ระนอง 47.1 คน และ หนองบัวลำภู 46.8 คน ขณะที่บางจังหวัดมีอัตราการคลอดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่น จ.เชียงใหม่ และ จ.ชลบุรี แต่เมื่อพิจารณารายอำเภอกลับพบว่า อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีอัตราการคลอดในหญิงวัยรุ่นระดับอำเภอสูง เป็นอันดับที่ 12 และ 14 ของประเทศ

157251598277

“ตัวเลขดังกล่าว จะทำให้เกิดการตั้งคำถามเชิงพื้นที่ให้เป็นระบบมากขึ้น และออกแบบการทำงานใหม่ๆ สู่การลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อไป จากนโยบายเงินอุดหนุนเด็กพบ 40% ที่เข้ามารับเงินเป็นแม่วัยรุ่น จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในการมองว่าจะช่วยพวกเขาให้อยู่อย่างมีคุณภาพต่อไปได้อย่างไร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย