กรีนพีซเรียกร้องผู้นำอาเซียน แก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนเร่งด่วน
นักรณรงค์ขึ้นติดป้ายประท้วงตามที่ต่างๆในกรุงเทพฯ
นักรณงรงค์จากองค์กรกรีนพีซขึ้นแขวนป้ายผ้าบนบิลบอร์ดด้วยข้อความ “นักการเมืองเอาแต่พูด ผู้นำลงมือแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษพลาสติก” ในวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ
กรีนพีซและองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ให้ดำเนินการแก้ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนโดยเร่งด่วน และเพื่อยุติหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคนนับล้านและความเสียหายทางเศรษฐกิจของภูมิภาค
โดยในงานเสวนา ข้อตกลงอาเซียนปลอดหมอควัน ปี 2020 ไปถึงไหน กรีนพีซและภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) ที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายในปี 2559 และบังคับใช้กฎหมายที่เอาผิดบริษัทผู้รับผิดชอบต่อการก่อเกิดไฟ โดยเฉพาะสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย และแม้แต่ฟิลิปินส์และไทย
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียประกาศสถานการณ์ไฟป่าในอินโดนีเซียปี 2562 ว่าไฟได้เผาไหม้พื้นที่ป่าพรุและผืนดินกว่า 5,360,975 ไร่ (857,756 เฮกเตอร์) ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 12 เท่า
กรีนพีซระบุว่า แม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะระบุว่าสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2562 จะรุนแรงกว่าระดับอันตรายของปี 2558 หรือไม่ แต่มีการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกี่ยวข้องกับตาและทางเดินหายใจถึงร้อยละ 30-40 เฉพาะในมาเลเซียประเทศเดียวนับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาของปีนี้ อินโดนีเซียประกาศว่าผู้คนราว 919,000 คนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้รับการตรวจพบว่ามีอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ในกลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มที่อ่อนไหวอย่างเด็กและผู้สูงอายุอีกด้วย
ราตรี กุสุโมฮาร์โตโน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย กล่าวว่า วิกฤตมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่ควรอยู่ในวาระสำคัญและเร่งด่วนของการประชุมสุดยอดอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่หมอกควันกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่ผู้คนหลายล้านคนยังคงได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการเผาไหม้ของไฟป่า ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่เพาะปลูกสำหรับอุตสาหกรรมกระดาษ
“ภาคธุรกิจยังคงได้กำไร ส่วนพวกเรากลับได้รับมลพิษ” ราตรีกล่าว
จากการศึกษาของกรีนพีซ อินโดนีเซีย บริษัทในมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นเจ้าของพื้นที่อุตสาหกรรมปลูกไม้เยื่อกระดาษที่ถูกเผาและถูกตัด ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน แต่ไม่มีมาตรการทางกฏหมายต่อบริษัทเหล่านี้
นอกเหนือจากการดำเนินการให้เป็นไปตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนแล้ว กรีนพีซเห็นว่าอาเซียนต้องจัดตั้งคณะทำงานที่รับรองถึงความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานในการระบุว่าบริษัทหรือกลุ่มบริษัทใดที่มีภาระรับผิดต่อการเกิดไฟ บังคับใช้กฏหมายที่เหมาะสม และดำเนินการทางกฎหมายทั้งกับบริษัทในเครือหรือกลุ่มบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามแดน
คิว เจีย เยา นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจากมาเลเซีย กล่าวว่าข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดนปี 2545 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ภูมิภาคอาเซียนจะปลอดหมอกควันหากเราสามารถตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไร้ความรับผิดชอบ เราต้องสร้างระบบกฎหมายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคที่ผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อประชาชนและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบให้บริษัทมีความโปร่งใส และมีภาระรับผิดต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น “นี่คือหัวใจหลักของความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนปี 2545 ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม แต่จะช่วยขจัดอุตสาหกรรมที่ไม่มีความรับผิดชอบ และช่วยให้อุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอย่างขันแข็งในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน” คิวเจียเยากล่าว
นอกจากมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียแล้ว ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังเผชิญกับมลพิษทางอากาศจากหมอกควันจากการเผาไหม้พืชผลทางการเกษตรเพื่อการผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของข้าวโพดเพื่ออาหารสัตว์ ได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาคในที่สุด
แม้ว่าขณะนี้จะมีแผนที่นำทาง(Roadmap)อาเซียนปลอดหมอกควันข้ามพรมแดนภายในปี 2563 แต่กระบวนการภายใต้แผนที่นำทางและการนำไปปฏิบัติใช้ยังคงมีข้อกังขา
แดเนียล เฮย์วาร์ด ผู้ประสานงานโครงการวิจัยด้านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเจรจาหว่านล้อมของบริษัทที่มีอิทธิพลเหนือคณะกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาล ทำให้นโยบายการลงทุนภาคเกษตรกรรมไม่สนใจใยดีต่อกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ผลคือ มลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน
“ดังนั้น เราจะคาดหวังให้เกษตรกรหยุดเผาพื้นที่เพาะปลูก แล้วทำเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ถ้าหากพวกเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ หรือสัญญาที่เป็นธรรมจากบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม” แดเนียลกล่าว
จากการศึกษาโดยใช้แผนที่ดาวเทียมของกรีนพีซ พบว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่น้อยที่สุดในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งมีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร ส่วนเดือนพฤษภาคม 2562 การเพาะปลูกข้าวโพดกินพื้นที่กว่า 12,069.33 ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุด 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเดือนเมษายน 2562 โดยที่พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควัน
รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกูล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change Data Center: CCDC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ต้องการการจัดการในระดับภูมิภาค เพราะสิทธิในการมีชีวิตอยูในอากาศที่ดีอากาศ เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตน ป้องกันตนเอง ครอบครัว และคนที่รัก ได้ตามสถานการณ์จริง ณ เวลานั้นๆ “ซึ่งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมี นอกเหนือจากนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาในระดับอาเซียน” รศ.ดร. เศรษฐ์กล่าว
ภาพ : กรีนพีซ/บารมี เต็มบุญเกียรติ