เปิดอันดับ 'ไอพีโอ' มูลค่าสูงสุดในโลก

เปิดอันดับ 'ไอพีโอ' มูลค่าสูงสุดในโลก

เปิดทำเนียบหุ้นไอพีโอที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หลัง “ซาอุดีอารามโก” ยักษ์ใหญ่น้ำมันของทางการซาอุดีอาระเบียเปิดขายหุ้นไอพีโออย่างเป็นทางการและคาดว่าจะขึ้นแท่นเป็นแชมป์ไอพีโอมูลค่าสูงสุดในโลกรายใหม่

บริษัท ซาอุดีอารามโก ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) ว่า หุ้นของบริษัทจะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ริยาด หรือ “ตาดาวุล” ถือเป็นช่วงเวลาปรับเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัท หลังจากสำนักงานการตลาดทุนซาอุดีอาระเบียประกาศอนุมัติให้จำหน่ายหุ้นของซาอุดีอารามโก แต่ยังไม่ได้ประกาศตารางเวลาไอพีโอที่ชัดเจน

ด้วยจำนวนรายได้และมูลค่าของซาอุดีอารามโก คาดว่าการทำไอพีโอของยักษ์ใหญ่น้ำมันรายนี้จะมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยผลกำไรสุทธิช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในปีที่แล้ว อารามโกมีผลกำไรสุทธิ 1.11 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ากำไรของยักษ์ใหญ่อย่าง “แอ๊ปเปิ้ล” “กูเกิล” และ “เอ็กซอนโมบิล” รวมกัน

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียทรงคาดหวังในแง่ดีว่า ซาอุดีอารามโกซึ่งผลิตน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรล รองรับความต้องการของตลาดโลก 10% จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 60.30 ล้านล้านบาท)

ขณะที่รัฐบาลริยาดจะนำเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3 ล้านล้านบาท) จากการระดมทุนไอพีโอนี้ ไปดำเนินโครงการพัฒนาประเทศครั้งใหม่และแก้ปัญหาว่างงานที่สูงกว่า 10%

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า มูลค่าบริษัทซาอุดีอารามโกอาจไม่สูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ตามที่เจ้าชายซัลมานทรงคาดหวังไว้ แต่จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 51.3 ล้านล้านบาท) และน่าจะมากพอทำให้มูลค่าไอพีโอทุบสถิติสูงที่สุดในโลกของ “อาลีบาบา” ยักษ์อีคอมเมิร์ซจีนที่เคยทำไอพีโอได้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2557

ขณะเดียวกัน อาลีบาบายังตั้งเป้าที่จะระดมทุนอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หากเดินหน้าตามแผนที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง

นอกจากซาอุดีอารามโก และ อาลีบาบาแล้ว บริษัทอื่น ๆ ที่เปิดไอพีโอและทำมูลค่าติดอันดับต้น ๆ ของโลกยังมีดังต่อไปนี้

157286355499

  • ซอฟท์แบงก์ ยักษ์ใหญ่การลงทุนของญี่ปุ่น ระดมทุนได้ 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์ผ่านการไอพีโอธุรกิจโมบายของตนเมื่อปี 2561 และครองแชมป์ไอพีโอมูลค่าสูงที่สุดในญี่ปุ่น
  • ธนาคารการเกษตรแห่งชาติจีน (แอกแบงก์) ขายหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 2553 ในตลาดหุ้นฮ่องกงและตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ โดยระดมทุนได้ 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์
  • ธนาคารไอซีบีซีของจีน ระดมทุนได้ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2549 และซื้อขายในตลาดฮ่องกงและตลาดเซี่ยงไฮ้
  • เอไอเอ กรุ๊ป กลุ่มประกันภัยชั้นนำของฮ่องกง เปิดไอพีโอในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อปี 2553 ระดมทุนได้ 2.05 หมื่นล้านดอลลาร์
  • วีซ่า อิงค์ ยักษ์ใหญ่บัตรเครดิตของสหรัฐ เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2551 และระดมทุนได้ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์
  • เอ็นทีที โดโคโม ค่ายมือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่น ระดมทุนได้ 1.84 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าตลาดหุ้นโตเกียวเมื่อปี 2541
  • เจนเนอรัล มอเตอร์ หรือ จีเอ็ม ผู้ผลิตรถสัญชาติอเมริกันเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐและตลาดหุ้นโตรอนโตของแคนาดา เมื่อปี 2553 หรือเพียง 1 ปีครึ่งหลังจากรัฐบาลให้เงินอุดหนุนจนฟื้นจากวิกฤติ และระดมทุนไอพีโอได้ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์
  • อีเนล กลุ่มพลังงานรายใหญ่ของอิตาลี ระดมทุนไอพีโอได้ 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังเข้าสู่ตลาดหุ้นมิลาน และตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อปี 2542

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ค สังคมออนไลน์ชั้นนำของโลก ระดมทุนได้ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์และเป็นไอพีโอกลุ่มเทคโนโลยีมูลค่าสูงที่สุด หลังเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2555