5 ทีมสุดท้ายโชว์นวัตกรรม ผลงานเด็กม.ปลาย

5 ทีมสุดท้ายโชว์นวัตกรรม ผลงานเด็กม.ปลาย

GPSC ประกาศผล5 ทีมสุดท้าย โชว์นวัตกรรมสุดเจ๋ง ลดการใช้พลังงาน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์และบริการ หวังปลูกฝังคนรุ่นใหม่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แก้ปัญหา

ปรบมือดังๆ ให้แก่น้องๆมัธยมศึกษาตอนปลายทั้ง 5 ทีม ที่ได้ผ่านเข้ารอบชนะเลิศใน “โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019” ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” จัดโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ซึ่งจัดต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า ทางบริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกในของการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการช่วยพัฒนา และดูแลชุมชนของตนเอง

157278289796

โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ปีนี้ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะเปิดกว้างให้เด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วม และการจัดทำโครงการดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโครงงานและใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์

เด็กๆ ทุกคนมีความสามารถและมีศักยภาพอย่างมาก หลายๆ วิธีการ กระบวนการที่พวกเขานำมาใช้สร้างสรรค์นวัตกรรม  นอกจากเป็นการแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน แก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริงแล้ว ยังนำไปสู่การต่อยอด พัฒนาต้นแบบ เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ท้องตลาดในเชิงพาณิชย์ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises)”

บริษัทฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” ให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ที่เข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย

5 ทีมสุดท้ายจะได้รับประกาศนียบัตรและทุนในการสนับสนุน เพื่อพัฒนาโครงงานให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

157278295524

จากผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 โครงงาน ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 โครงงาน โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 4 โครงงาน ภาคกลาง 7 โครงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงงาน ภาคตะวันออก 9 โครงงาน และภาคใต้ 4 โครงงาน ซึ่งมี 5 โครงงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย ก่อนที่จะมีการตัดสินทีมผู้ชนะเลิศ ในช่วงเดือนมกราคม ปี 2563

ผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 3 รางวัลจะได้รับโล่และทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท

โดยผลงานที่เข้ารอบทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย ทีมต้นกล้าเปลี่ยนโลก โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จ.ปราจีนบุรี ชื่อผลงาน แคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า ทีมBetter life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ชื่อผลงาน Modification of Li-S battery with irradiated activated carbon derived from sticky Rice 

ทีมรักษ์โลก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง  ชื่อผลงาน เซลล์ไฟฟ้าแบคทีเรียเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเสีย:การเตรียมขั้วไฟฟ้าแบบใหม่ที่มีL-cysteine บนอนุภาคนาโนเหล็กยึดติดกับกราฟีนออกไซด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับแบคทีเรียในน้ำเสีย ทีมFruit  Guard โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา”จ.ฉะเชิงเทรา ชื่อผลงาน ปลอกเทียมห่อผลไม้ และทีม PM4.0 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุดาหาร จ.มุกดาหาร ชื่อผลงาน การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ สำหรับอนุบาลเมล็ดข้าวพันธุ์ กข.6

เหวิน นายภาสวร ลิ้มมีโชคชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็ด นายสุขปวัตน์ เมืองสมบัติ นักเรียนชั้นม.4 เต้ย น.ส.กนก ศิริลัภยานนท์ นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ทีมBetter life battery เล่าถึงแรงบันดาลใจผลงานว่าทุกวันนี้ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเสมือนอวัยวะหนึ่งในร่างกาย และเมื่อใช้งานมากๆ แบตเตอรี่ก็จะหมดเร็ว พวกเราก็อยากทำให้เก็บแบตเตอรี่ และเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น

โดยได้มีการศึกษา ค้นคว้าว่าจะมีพืชชนิดใดบ้างที่สามารถสกัดคาร์บอนที่เหมาะสม  ก็พบว่า เมล็ดข้าวเหนียวสามารถสกัดได้คาร์บอนที่เหมาะสม จึงได้นำเมล็ดข้าวเหนียวดิบมาบด  อบในอุณหภูมิที่เหมาะสม หลังจากนั้นไปผ่านรังสี กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนได้มาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้4-5 เดือนอยู่ในห้องแลป เพื่อให้ได้ผลงานตามที่ต้องการ

“แบตเตอรี่นอกจากจะสามารถจ่ายไฟและเก็บประจุมากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป 3-4 เท่า อายุการใช้งานมากขึ้น ไม่เสื่อมง่ายๆ ราคาถูกกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป เพราะเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้ กระจายรายได้ให้แก่ชาวเกษตรกร  และมีพลังงานมากกว่าแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะการที่ทำให้แบตเตอรี่ใช้ได้นานมากขึ้น เท่ากับเป็นการไม่ต้องทำลายแบตเตอรี่มากมาย"

157278290193

อีกทั้งยังมีการต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นจริง โดยมีแผนที่จะทำให้เป็นแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัทรถยนต์ กลุ่มคนที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ เป็นถ่านใส่ไว้ในพาวเวอร์แบงค์ หรือแบตเตอรี่ในรถ เป็นต้น

ดังนั้น นวัตกรรมผลงานที่พวกเราคิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงนำเข้าประกวดเท่านั้น แต่ต้องการทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งการ GPSCจัดเวทีการประกวดดังกล่าวและสนับสนุนต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และการบริการขึ้นจริงถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นอีกโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ความคิด จินตนาการ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ต่างๆ มีมูลค่าขึ้นจริง อยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทุกคน

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางและนโยบายของบริษัทฯ ในด้านความรับผิดชอบต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนของไทยให้เกิดการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน.