ผ่าวิธีคิด ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม "คอนเทนท์” ธงนำ! เคลื่อนแกรมมี่
เสียงโอดครวญถึงสถานการณ์ “เศรษฐกิจ” ปี 2562 อยู่ในภาวะ “ชะลอตัว” กระเทือนกำลังซื้อ ชิ่งกระทบธุรกิจอีกทอด แต่ธุรกิจบันเทิง เพลง คอนเทนท์ กลับค่อนข้างสดใส
เป็นมุมมองของ ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ทายาทอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม โดยระบุว่า เป็นเพราะบริษัทมีผลประกอบการครึ่งปีแรกสดใส รายได้รวมกว่า 3,200 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 126 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 รายได้รวมกว่า 6,900 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 15 ล้านบาท
ปีนี้แกรมมี่ยังจ่ายปันผลในรอบ 8 ปี เหตุที่ผลการดำเนินงานออกมาดี ฟ้าใหม่ ให้เหตุผลว่า เกิดจากการบริหารงานที่ดี มีประสิทธิภาพ ประกอบแกรมมี่มีธุรกิจทีวีดิจิทัล ได้รับอานิสงส์จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล
ทว่า เศรษฐกิจยังไม่พ้นปากเหว และธุรกิจยังเผชิญโจทย์หินจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยี ดิจิทัลยังเป็นตัวแปร “ดิสรัป” ธุรกิจเสมอ ดังนั้นการจะเติบโตต่อเนื่อง แกรมมี่จึงมองการเป็น “คอนเทนท์โปรวายเดอร์” เสิร์ฟเนื้อหา รายการต่างๆ ป้อนคนดู ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มให้มากสุดเท่าที่จะทำได้!!
“เรามองการเติบโตตลอด ซึ่งวิธีคิดของแกรมมี่คือยึดมั่นการเป็นคอนเทนท์โปรวายเดอร์ ผลิตให้มาก(วอลุ่ม) ดีด้วยคุณภาพ บริการคอนเทนท์ให้มีศักยภาพ เปิดกว้างหาพันธมิตรที่แข็งแรง เพื่อสร้างโอกาสนำคอนเทนท์ไปถึงผู้ชมได้กว้างและไกลทุกช่องทาง”
ล่าสุด การจับมือกับ โมโน 29 ถือเป็นการรวมพลังครั้งใหญ่หรือ Super Collaboration ในวงการสื่อ อุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวไม่เกิดแค่ระดับแผนกใดแผนกหนึ่ง แต่เป็นทั้ง“องค์กร” สะท้อนภาพ “คิดการใหญ่” ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งแกรมมี่ขนทั้งเพลง แกรมมี่สตูดิโอ เพื่อผลิตคอนเทนท์ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปเสริมทัพให้กับพันธมิตร วางแผน 3 ปี จะผลิต 10 ศิลปิน เน้นเกิร์ลกรุ๊ป ออก 10 อัลบั้ม 12 คอนเสิร์ต เดินสายทัวร์อีกว่า 30 งาน ผลิตซีรี่ส์ ออริจินัล คอนเทนท์กว่า 20 เรื่อง และป้อนคาราโอเกะกว่า 2 หมื่นเพลง เสิร์ฟความบันเทิงถึงบ้านผู้ชมยึดทุกแพลตฟอร์มตั้งแต่ทีวีดิจิทัล ออนไลน์(โอทีที) และออนกราวด์
การผนึกโมโน 29 เป็นเพียง“จุดสตาร์ท”หาพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ เพราะอนาคตบริษัทยังต้องการสื่อบิ๊กเนมอื่นๆเพื่อขายคอนเทนท์สร้างการเติบโตก้าวกระโดดด้วย
“การเอาตัวรอดจากการถูกดิสรัป เราต้องจับมือพันธมิตรที่คิดตรงกัน การจับมือกับโมโน เพราะเราคิดการใหญ่ทั้งคู่ วันนี้ทีวีดิจิทัลเรารอดพ้นวิกฤติทั้งคู่มา ถึงเวลาต้องคิดต่าง คิดใหญ่ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยเป็นเค้กก่อนใหญ่ขึ้น ซึ่งเราทำคนเดียวไม่ดี การจับมือนำจุดแข็งทั้ง 2 ฝ่ายมาผสมกัน ดีกว่าเตะตัดขากันเอง แต่การเลือกพันธมิตรต้องดูตลาด กลุ่มเป้าหมายต้องไม่ทับซ้อน หรือกินตลาดกันเอง หากตีกันเองย่อมไม่มีใครอยากคบค้า”
ปัจจุบันแกรมมี่มีฐานแฟนคลับมหาศาล เฉพาะที่ติดตามแฟนของค่ายทั้งยูทูป เฟซบุ๊ค มีมากกว่า 40 ล้านคน ติดตามศิลปินคนโปรดผ่านโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มราว 60 ล้านคน เกือบครบประชากรทั้งประเทศ ถือเป็นฐานตลาดออนไลน์ที่แข็งแกร่งมาก ยังมีกิจกรรมออนกราวด์ทุกขนาด เจาะกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ เกิดการเข้าถึง การมีส่วนร่วมหรือ Reach Engagement ไม่ต่ำกว่า 5 แสน การซีนเนอร์ยีกับโมโน29 จะช่วยทำตลาดข้ามกลุ่มเป้าหมายได้
ปัจจุบัน “ดิจิทัล” ยังเป็นตัวแปร “ดิสรัป” ธุรกิจ และยังไม่เห็นจุดนิ่งหรือ “สิ้นสุด” ประเด็นนี้ “ฟ้าใหม่” มองเป็น “อุปสรรค” มากพอๆกับเป็น “โอกาส” แก่ธุรกิจเพลง การผลิตคอนเทนท์ฯ อย่างการฟังเพลงออนไลน์หรือ Music Streaming ซึ่งเป็นเทรนด์เกิดทั่วโลกมาเร็วและแรง กระทบช่วง 5 ปีก่อนจนวงการเพลงเหมือนจะ “ถดถอย” แต่เมื่อแพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์มากหลากหลาย กลับส่งผลให้วงการเพลงพลิกเกิดใหม่(เทิร์นอะราวด์)ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ แผนธุรกิจปี 2563 แกรมมี่ ยังให้ความสำคัญในการผลิตคอนเทนท์ โดยเพลงใหม่คาดว่าจะออกสู่ตลาดมากขึ้น จากปีนี้มี 300-400 เพลง สร้างศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปสร้างฐานคนฟังเพลงรุ่นใหม่และเป็นติ่งที่มีกำลังซื้อมหาศาล เพื่อเติบโตในอนาคต และเสริมแกร่งเซ็กเมนต์เพลงป๊อปจากปัจจุบันมีสัดส่วน 20% เพลงร็อก 30% เพลงลูกทุ่ง 40% อื่นๆ 20%(ฮิปฮอป อินดี้ฯ)
“การทำธุรกิจมีความท้าทายมากจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง ยังไม่ถึงปลายทางที่สิ้นสุด อย่างคนฟังเพลงกำลังเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มการฟังไปสู่โลกดิจิทัล และไม่รู้ว่าจะเปลี่ยน(Migrate)เป็นแบบไหน ทุกคนยังไม่รู้ จึงต้องมีการทดลอง มีนวัตกรรมทางความคิด สร้างสิ่งใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งสำคัญเราต้องมีจุดยืนหรือ Position ธุรกิจว่าฐานที่มั่นขององค์กรอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นอาจถูกพัดเพจาการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ สำหรับแกรมมี่ ฐานที่มั่นเราคือการเป็นคอนเทนท์โปรวายเดอร์”