ม.เกษตรฯ บางเขน คว้าแชมป์ นักโฆษณารุ่นใหม่“ไทย-เดนมาร์ค”
การเป็นนักโฆษณาหรือครีเอทีพ ต้องผ่านการฝึกฝน ต้องทุ่มเท และรักในเป้าหมายของตัวเอง การเรียนในห้องเรียน อาจไม่ตอบโจทย์การนำไปใช้จริง ดังนั้น นักโฆษณารุ่นใหม่จึงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ นำตัวเองไปสู่จุดที่ได้ลองผิดลองถูก
โครงการ Workshop และประกวดแผนสื่อสารการตลาด “The Power of Brand นมไทย-เดนมาร์ค เพิ่มพลังแบรนด์ยืนหนึ่ง” ปีที่ 4 จัดโดย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้นักโฆษณารุ่นใหม่ได้ประลองฝีมือ ซึ่งปีนี้ได้ปรับโจทย์จากประกวดแผนการตลาด มาเป็นประกวดคลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 3 นาที ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาท
เพื่อสื่อสารถึงความแข็งแรงของแบรนด์นมไทย-เดนมาร์ค ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ให้คนไทยหันมาบริโภคนม และใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงให้เวทีนี้เป็นอีกหนึ่งเวทีสนับสนุนด้านการศึกษา ให้นิสิตนักศึกษา ได้แสดงไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ นำความรู้ในห้องเรียน มาพัฒนาและต่อยอดความคิด สร้างประสบการณ์จริงในการเป็นสุดยอดนักโฆษณาในอนาคต
รอบชิงชนะเลิศ มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 15 ทีม จากแผนที่ส่งเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นกว่า 655 แผน ใน สถาบันการศึกษา 45 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในวันประกาศผลได้รับเกียรติจากกรรมการมากประสบการณ์จากสายงานการตลาดร่วมตัดสิน ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา
โดยการคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ น้องๆ ต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะระดับประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะตัดสินผลงาน โดยมีเกณฑ์การพิจารณา คือ ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ 50% การนำไปใช้จริง 30% การสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย 10% และเทคนิการนำเสนอผลงาน 10%
- รัดโย!Gangsterคว้าแชมป์
สำหรับทีมที่ฝ่าฟันจาก 655 แผน จนถึงรอบสุดท้าย คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในครั้งนี้ ได้แก่ ทีมรัดโย ! Gangster จากคณะมนุษย์ศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีสมาชิกในทีม คือ ปภัสรา เพ็ชร์ณรงค์ , สุทินา ควรพูลผล , นาวินต้า จิตสัมพันธ์พงศ์ และณัฐชิตา นุชหมอน โดยมี ดร.ศิริรัตน์ โกศการิกา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยคลิปวิดีโอ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและจุดเด่นของนมไทย-เดนมาร์ค ออกมาได้อย่างกระชับ และน่าสนใจ ผ่านสถานการณ์ การบุกโลกเพื่อขโมยโคนมของมนุษย์ต่างดาว สอดแทรกความตลกขบขัน ภายในเวลาเพียง 1.33 นาที จนสามารถชนะใจกรรมการได้ในที่สุด
ปภัสรา เพ็ชร์ณรงค์ ตัวแทนจากทีม รัดโย ! Gangster เล่าว่า ได้รับประสบการณ์มากจากการมาประกวดในครั้งนี้ ตั้งแต่ Workshop มีโอกาสได้ปรึกษากับวิทยากรเพื่อนำมาปรับใช้กับงานจนสามารถคว้ารางวัลมาได้ อีกส่วนหนึ่ง ได้ฟังกรรมการในวันตัดสิน ได้ฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการได้เห็นงานของเพื่อน ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ
"การที่ได้เข้าประกวดทำให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนได้ รวมทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การประกวดในครั้งต่อๆ ไป การทำงานออกมาหนึ่งชิ้นจุดไหนที่เราควรชู จุดไหนที่เราควรปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ได้ประสบการณ์ในการทำงานจริงอีกด้วย” ปภัสรา กล่าว
- จากความรู้สู่การปฏิบัติจริง
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้น้องๆ จะได้ต่อยอดจากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ ประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับ จากการทำกิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่แค่มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ในวงการโฆษณา ซึ่งเป็นมืออาชีพ ให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าการประกวดครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่น้องๆ และสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้ในอนาคต
“โจทย์ใหญ่ที่ให้กับทีมผู้เข้าประกวด ได้แก่ จุดแข็งของเรา คือ นมแท้ไม่ผสมนมผง เพื่อให้น้องๆ สื่อสารกับคนรุ่นเดียวกันให้เข้าใจ รวมถึงที่มาที่ไป พัฒนาการของแบรนด์ และถึง Key Messages หลักขององค์กร 2 เรื่องคือ 1. ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และ 2. นมไทย-เดนมาร์ค ต้องการส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย ซึ่งต้องสื่อสารออกมาให้ได้ภายในเวลา 3 นาที”
ขณะที่ปีนี้ถือว่าได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษา ซึ่ง จากการศึกษาเราพบว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้จัก เข้าใจแบรนด์ไทย-เดนมาร์ค ดังนั้น การที่เราได้ทำกิจกรรมกับน้องๆ อย่างน้อยเขาจะได้รับรู้ รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ความเป็นมา ซึ่งจะทำให้การรับรู้ และความเชื่อมั่นของแบรนด์มีมากขึ้น การปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ดีขึ้น
“ความท้าทายกับการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ คนรุ่นใหม่เบื่อง่าย ดังนั้น อ.ส.ค. จึงต้องมีช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้เขาเข้าถึง ปัจจุบัน เรามีร้าน Milk Land ที่เขาสามารถเข้าไปทำงานได้ หรือร้านนมในสถานศึกษาอย่าง Milk Cafe ทั้งนี้ ผลงานน้องๆ ทีมชนะเลิศ จะเป็นแนวคิดในการต่อยอดการสื่อสารการตลาด ไปยังกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ไทย-เดนมาร์ค ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ต่อไป” ผอ. อ.ส.ค. กล่าว
ด้าน สุบรรณ โค้ว Chief Creative Officer บริษัท เดนท์สุ วัน (กรุงเทพฯ) กรรมการตัดสินกล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นเวทีให้เด็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ เด็กมีระบบการคิด ถึงแม้จะไม่มืออาชีพมาก แต่ข้อดีคือเขาได้ฝึกคิด ปัญหาของเด็กๆ คือ เขาอาจจะไม่รู้ว่าอะไรเกิน อะไรขาด ก็จะใส่ทุกอย่างเข้ามา อาจจะมีข้อมูลเยอะหรือกลัวตกหล่น สิ่งสำคัญ ในการทำโฆษณาตรงใจคนรุ่นใหม่ คือ “พูดอย่างไรให้โดน”
“ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนักโฆษณา หรือครีเอทีพ ต้อง Built ตัวเอง เพราะเราเรียนในห้องเราก็ได้ความรู้เท่ากันกับเพื่อนๆ ต้องเริ่มจากความชอบ เพราะหากเราอยากทำจริงๆ เราจะทุ่มเท ต้องศึกษาเรื่องโฆษณาเยอะๆ เช่น การร่วมประกวดโครงการนี้อย่างน้อยเขาก็ได้ลองทำ เข้ารอบหรือไม่ อย่างน้อยก็ได้ลงสนาม ถือว่าเป็นประสบการณ์” สุบรรณ กล่าวทิ้งท้าย